logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2557

 

อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ประจำปี 2557

เมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลา 8.30น. ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัย อาวุโส ประจำปี2557 โดย ศาตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น รองคณบดีฝ่ายวิจัย เป็นผู้แทนคณบดีมอบ ช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สาขาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ประจำปี 2557 จากผลงานการค้นพบระบบประสาทที่ควบคุมการสร้างเมลาโทนินและการค้นพบบทบาทของเมลาโทนินในการยับยั้งการเสื่อมของสมอง และศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ สาขาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัยองค์ความรู้ในเรื่องฮอร์โมนโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูก ในแม่ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรและการให้แคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกหลังมีบุตร ซึ่ง สกว.จะมอบให้กับนักวิจัยอาวุโสระดับศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่นเป็นงานวิจัยที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบทางวิชาการสูงหรือมีศักยภาพสูงมากในการนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับทุนดังกล่าวทั้งหมด จำนวน 4 คน ส่วนเมธีวิจัยอาวุโสสกว. ซึ่งสรรหาและเสนอชื่อโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยพิจารณาจากนักวิจัยที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อให้สามารถนำผลงานไปต่อยอดขยายผลและสร้างกลุ่มวิจัยให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโสสกว. ประจำปีนี้ จำนวน 12 คน ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้รับรางวัลนี้ได้แก่ ศาตราจารย์ ดร.นพ. นรัตพล เจริญพันธุ์ สาขาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาพิเศษเรื่อง "ความคาดหวังของสังคมต่อศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว." โดย ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝากข้อคิดไว้ว่า "ประเทศไทยต้องสร้างสังคมให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการให้ คือ ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ การสนับสนุนงานวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าเอกชน หรือคนรวยๆ แทนที่จะไปเสียภาษีมรดกก็ตั้งมูลนิธิ ในชื่อของท่าน และมูลนิธิเหล่านี้ก็สนับสนุนงานวิจัย จะได้เป็นวัฒนธรรมของการให้ เป็นประเทศแห่งการให้" ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการรวบรวมนักวิจัยชั้นแนวหน้า จากทุกสำนักวิจัยจากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย และมีผลงานดีเด่นซึ่งล้วนสร้างผลงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งสิ้น