เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมปาร์คนายเลิศ ถ.วิทยุ ศาสตราจารย์ ดร. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ นางรุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ ศาสตราจารย์ ดร. จงกลณี วัฒนาเพิ่มพูล หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนนักศึกษา ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ ภาควิชาสรีรวิทยา ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล และศาสตราจารย์ ดร. วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการ การปรับปรุงสายพันธ์ Bacillus thuringiensis subsp. aizawai SP41 โดยการทำให้ยีน cry2Ab แสดงออก จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย โดยมีท่านองคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้มอบรางวัล
ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ เป็นนักวิจัยในสาขาสรีรวิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยกระบวนการทำงานของร่างกายมนุษย์และสัตว์ ตั้งแต่ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ จนถึงการประสานงานของทุกระบบทั้งร่างกาย ได้ทำงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์เกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของแคลเซียมและกระดูก (Calcium and bone metabolism) โดยศึกษาในลักษณะสหสาขาวิชา(multidisciplinary research approach) ในสัตว์ทดลอง เนื้อเยื่อ และเซลล์เพาะเลี้ยงด้วยเทคนิคที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์วิจัยในทุกระดับของกลไกการควบคุมแคลเซียมและกระดูก ตั้งแต่ระดับร่างกายลงไปถึงเซลล์ระดับสารพันธุกรรมและโมเลกุลในภาวะปกติและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพยาธิสภาพ เช่น ภาวะกระดูกพรุนที่เกิดจาการขาดฮอร์โมนเพศ ภาวะเลือดเป็นกรดหรือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และโรคเบาหวาน ทั้งนี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ป้องกันการเกิดโรคและในการวินิจฉัยที่สามารถพบความผิดปกติตั้งแต่แรก ไปจนถึงวิธีการรักษา และค้นหาสูตรและวิธีใช้แคลเซียมเสริมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถบูรณาการงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ ได้ผลักดันให้เกิดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (Center of Calcium and Bone Research หรือ COCAB) ขึ้นในหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสมาชิกเครือข่ายจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการดูดซึมแคลเซียม การถ่ายเทแลกเปลี่ยนแคลเซียมระหว่างลำไส้ ไต และกระดูก และกลไกการควบคุมวัฏจักรการสลาย-สร้างกระดูก(bone remodeling) ในภาวะปกติและพยาธิสภาพต่างๆ งานสำคัญชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ คือการค้นพบว่า ฮอร์โมนโพรแลคติน (Prolactin) ซึ่งหลั่งจากต่อมใต้สมอง และเป็นที่รู้จักในฐานะฮอร์โมนที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมในมาราดาหลังคลอดนั้น สามารถออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนควบคุมสมดุลแคลเซียมและวัฏจักรการสลาย-สร้างกระดูกอีกด้วย
ตลอดเวลากว่า 30 ปี ของการทำงาน ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์และกลุ่มวิจัย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนกว่า 100 เรื่อง ถึงแม้จะมีความร่วมมือกับนักวิจัยในต่างประเทศ แต่ผลงานเกือบทั้งหมดเป็นงานวิจัยที่ทำในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจนจบระดับดุษฎีบัณฑิตแล้ว 12 คน ระดับมหาบัณฑิต 24 คน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมให้บัณฑิตกว่า 20 คน และเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่อีกกว่า 10 คน โดยปัจจุบันอาจารย์ที่เคยเป็นลูกศิษย์หลายท่านได้ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลต่างๆ และที่สำคัญคือ ได้สานต่อเจตนารมณ์ของการเป็นอาจารย์นักวิจัยที่ดี ผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่มีความสามารถด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมและจริยธรรมอีกด้วย