คณาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย Professor Dr.David John Ruffolo Dr.Alejandro Saiz Rivera ดร.สุรพงษ์ อยู่มา และดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา แนะนำการชมสุริยุปราคาที่ถูกต้อง ในกิจกรรม “ดูสุริยุปราคา ที่คณะวิทย์ มหิดล” เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 เวลา 07:00-08:30 น. ณ บริเวณระเบียง ตึก R ชั้น 6คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งชมสุริยุปราคาด้วยกล้อง Celestron 11 นิ้ว มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 50 คน ประกอบด้วย คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะใกล้เคียง และประชาชนผู้สนใจ
Professor Dr.David อธิบายว่า สุริยุปราคาเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อเราสังเกตจากพื้นโลกก็จะเห็นว่าดวงอาทิตย์มีเงาบดบังการเกิดขึ้นในครั้งนี้จะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยจะเห็นสุริยุปราคาบางส่วนทั่วทั้งประเทศ ระหว่างเวลา 06:30 – 08:32 น. และเห็นชัดเจนและดีที่สุดในช่วงเวลา 07:30 น.-08:00 น. โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ร้อยละ 80 สำหรับกรุงเทพฯ ร้อยละ 40 ส่วนภาคเหนือน้อยที่สุด บรรยากาศที่คณะวิทย์ศาสตร์จากยอดตึกคณะ ชั้น 6 ชมสุริยุปราคาด้วยเครื่อง Celestron 11นิ้ว สามารถเห็นได้ร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังมีการมองด้วยแว่นตาสำหรับชมสุริยุปราคาที่ได้รับอภินันทนาการจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) มีกระดาษเจาะรูเข็มซึ่งเมื่อแสงลอดผ่านจะเห็นเป็นเสี้ยวเงา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมอย่างมาก และยังมีการเปิดถ่ายทอดสดสุริยุปราคาแบบเต็มดวงที่ประเทศอินโดนีเซียไปพร้อมกันอีกด้วย
สำหรับปรากฏการณ์นี้ประเทศไทยจะสามารถเห็นสุริยุปราคาบางส่วนได้อีกใน 3 ปีข้างหน้า และสุริยุปราคาเต็มดวง จะเห็นได้อีก 54 ปี ซึ่งตรงกับ วันที่ 11 เมษายน 2613
(คลิปวีดิโอ โดย นางสาวนันท์มนัส วิมลเศรษฐ และ นางสาวพนารัตน์ เตชะเลิศสุวรรณ)
ถ่ายภาพ : นายเทพทัต คุ้มสังข์,นางสาวอนงค์วรรณ ไพโรจน์
เขียนข่าว : นางสาวพนารัตน์ เตชะเลิศสุวรรณ
โปสเตอร์ : นันท์มนัส วิมลเศรษฐ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร