เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 เวลา 13.00– 16.00 น. ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ สมประกิจ รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและสารสนเทศ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรันดร ยูวะนิยม หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี อาจารย์ ดร.ศิรวิทย์ สิตปรีชา หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา อาจารย์ ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญญา ณรงคะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาสหสาขาวิชา ร่วมแสดงความยินดี กับ คณะฯ ภาควิชา ในโอกาสได้รับประกาศนียบัตร Top TRF Index ผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี 2557 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นประธานการประชุม "การประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี 2557" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสำรวจและประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยข้อมูลที่ได้จะทำให้ทราบถึงระดับความเข้มแข็งและพัฒนาการของการวิจัยของสาขาวิชาต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสนับสนุนการวิจัยด้านนี้ของ สกว. ต่อไป
การประเมินคุณภาพการวิจัยครั้งนี้ มีจำนวนสาขาวิชาที่ขอรับการประเมินเพิ่มขึ้น โดยมีการประเมินรวมทั้งสิ้น 6 กลุ่มสาขาวิชา ซึ่งเกือบทุกสถาบันมีจำนวนสาขาวิชาที่ได้รับคุณภาพระดับดีเยี่ยม ดีมาก และดี มากขึ้น แสดงว่า สถาบันอุดมศึกษาไทย มีคุณภาพการวิจัยสูงขึ้น "ในสภาพปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยไทยยังไม่อาจแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ เช่น ในกลุ่ม 500 มหาวิทยาลัยแรกของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกของ Academic Ranking of World Universities (ARWU) และ Times Higher Education World University (THE WUR) มีเพียงมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดของประเทศไทย อยู่ในกลุ่ม 500-600 เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้แต่ละสาขาวิชาที่เข้ารับการประเมินฯ ของ สกว. ได้แสดงให้เห็นว่าทุกมหาวิทยาลัยที่เข้ามารับการประเมินยังมีแสงสว่างในระดับต่าง ๆ แม้แต่สาขาวิชาที่ได้คุณภาพระดับ 1 ก็ยังเป็นแสงสว่าง เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย แต่มิได้เข้ามารับการประเมิน ของ สกว. ในครั้งนี้"ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา ระบุ
ขณะที่ ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึง "บทบาทของ สกว. ในการประเมินผลงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย" ว่า สกว.มุ่งมั่นพัฒนาการวิจัยและระบบการวิจัยของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล คุณภาพงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและระบบวิจัยของประเทศ สกว.จึงมุ่งพัฒนาเครื่องมือในการประเมินผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ของการประเมินผลคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการที่ สกว. ได้ดำเนินการมา โดยในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามี 473 หน่วยงาน จาก 28 สถาบันสมัครเข้าร่วมการประเมิน ทั้งนี้แนวทางการสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพการวิจัยเชิงวิชาการ หน่วยงานที่ได้รับการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 หน่วยงานที่อยู่ในระดับ Rating 5 (TRF Index 4.5 – 5.0) จะได้รับสิทธิสมัครรับทุนพัฒนาศักยภาพการวิจัยเชิงสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะประกาศเงื่อนไขและเปิดรับข้อเสนอระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2559 ขณะที่ระดับ Rating 1 ถึง 4 (TRF Index 1.0 – 4.4) ได้สิทธิสมัครรางวัลการยกระดับคุณภาพการวิจัยเชิงวิชาการระดับสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะประกาศเงื่อนไขและเปิดรับข้อเสนอระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2559
สำหรับการประกาศผลการประเมินในวันนี้ สกว. จะประกาศเฉพาะชื่อหน่วยงานที่มี TRF Index 4.0 ขึ้นไป และหน่วยงานที่มีผลการประเมินอยู่ใน Top TRF Index (TRF Index 4.5-5.0) จะได้รับมอบเกียรติบัตรด้วย การประเมินในครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ได้ส่งผลงานวิจัยของทั้ง 12 ภาควิชา เข้ารับการประเมิน ใน 9 สาขาวิชา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการประกาศชื่อถึง 6 สาขาวิชา ในจำนวนนี้มีถึง 5 สาขาวิชาที่ได้รับผลการประเมินอยู่ใน Top TRF Index รายละเอียดดังนี้ ภาควิชาเคมี เข้ารับการประเมินใน สาขาวิชา Chemistry มี TRF Index = 4.8 ภาควิชาชีววิทยา เข้ารับการประเมินในสาขาวิชา Biology / Botany / Zoology มี TRF Index = 4.8 ภาควิชา กายวิภาคศาสตร์ เภสัชวิทยา สรีรวิทยา และพยาธิชีววิทยา เข้ารับการประเมินในสาขาวิชาพรีคลินิก มีTRF Index = 4.8ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เข้ารับการประเมินในสาขาวิชา Biotechnology, Bio-Informatics มี TRF Index = 4.5 ภาควิชาชีวเคมี เข้ารับการประเมินในสาขาวิชา Biochemistry / Molecular Biology / Genetics มี TRF Index = 4.5 ภาควิชาฟิสิกส์ เข้ารับการประเมินในสาขาวิชา Physics มี TRF Index = 4.0
ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติบัตร Top TRF Index ด้วยผลงานดังนี้ เป็นสถาบันที่มีจำนวนหน่วยงานเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุด เป็นสถาบันที่เข้าร่วมในกลุ่มสาขาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ มากที่สุดเป็นสถาบันที่เข้าร่วมในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มากที่สุด และยังได้รับการประเมินระดับดีเยี่ยม TRF Index = 5.0 จำนวน 3 สาขาวิชา
:: สกว.ประกาศผลประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ ::
ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช, นางสาวรุ่งระวี แทนวันชัย
แหล่งข่าว : สื่อสารองค์กร สกว. (นิธิปรียา จันทวงษ์)
เขียนข่าว : นางวริศรา ทาทอง, นางสาวรุ่งระวี แทนวันชัย
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร