เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ศาสตราจารย์ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนสัญจร ตามโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ในการเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จ ของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการและทุนวิจัยจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศออสเตรีย ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา ธนะภูมิ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้ได้รับทุนวิจัยผ่าน "โครงการบูรณาการทางเทคโนโลยีทำหมันแมลงวันเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิผลในการควบคุมแมลงวันผลไม้ แบบเต็มพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เพื่อพัฒนาและนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ มาใช้ในการบริหารจัดการประชากรแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในภูมิภาค โดยมุ่งเป้าบูรณาการความรู้ทางอณูพันธุศาสตร์ขั้นสูง ร่วมกับเทคโนโลยีหลายชนิดแบบผสมผสาน ได้แก่ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ การเฝ้าระวังศัตรูพืช การรักษาสุขอนามัยของพืช การใช้สารล่อแมลง และเทคโนโลยีการใช้ศัตรูทางธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายในผลลัพธ์ของการควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช อันจะส่งผลต่อการส่งเสริมสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ ให้ได้รับการพิสูจน์และยอมรับในระดับนานาชาติ ถึงมาตรฐาน ในกระบวนการผลิตและความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ประเทศไทยยังได้รับบทบาทเป็นประเทศผู้นำการออกแบบ และเป็นผู้นำโครงการฯ (lead country) ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรูปแบบของ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และคุรุภัณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในเชิงพาณิชย์ในการบริหารจัดการแมลงวันผลไม้แบบเต็มพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้มีการประสานงาน และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากทั้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในหลายพื้นที่
เนื่องจากการควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องปฏิบัติแบบเต็มพื้นที่ ทั้งบริเวณแหล่งเพาะปลูก และบริเวณอื่นๆ การวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์ที่สามารถแทรกซึมเข้าขจัดประชากรแมลงแบบเต็มพื้นที่ จึงมีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมแมลงให้มีความยั่งยืน ในโครงการดังกล่าวได้พัฒนาเทคโนโลยี การทำหมันเพื่อคุมกำเนิดแมลงวันผลไม้ โดยการฉายรังสี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีความจำเพาะเจาะจง ในการควบคุมแมลงฯ โดยแมลงฯ ที่ทำหมันแบบจำเพาะจะถูกปล่อยลงพื้นที่ ในปริมาณมาก เพื่อให้สามารถเอาชนะ การแข่งขันเลือกคู่ผสมพันธุ์กับแมลงเป้าหมายในธรรมชาติ ส่งผลให้แมลงรุ่นต่อไปมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ โดยนำเทคโนโลยีทางอณูพันธุศาสตร์และดีเอ็นเอเครื่องหมาย มาใช้ในการพิสูจน์การแพร่กระจายของแมลงวันในพื้นที่ นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุจินดา ธนะภูมิ และทีมงาน ยังได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์แมลงวันผลไม้ ที่สามารถแยกเพศได้ ที่เรียกว่า "Genetic Sexing Strain" หรือ GSS จึงเป็นแนวทางสำคัญ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการแมลงศัตรูพืชและแมลงพาหะอย่างจำเพาะ ส่งผลให้จำนวนประชากรแมลงวันผลไม้ลดลง ต้นทุนการผลิตด้านสารเคมีกำจัดแมลงลดลง และลดการสูญเสียผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นที่ยอมรับของเกษตรกร จากการติดตามผลความก้าวหน้า ของการควบคุมแมลงวันผลไม้ ในช่วง 2 ปี จากแปลงทดสอบพื้นที่ในสวนมะม่วง ขนาดประมาณ 40 ไร่ ที่จังหวัดนครปฐม พบว่า การใช้เทคโนโลยีชีวภาพแบบผสมผสาน ร่วมกับการใช้สายพันธุ์แมลงเป็นหมันที่พัฒนาขึ้นได้นั้น ทำให้สามารถ ลดประชากรแมลงวันผลไม้ลงได้เกือบ 100% เมื่อเทียบกับการไม่ได้ใช้ และมีปริมาณการสูญเสียของผลผลิตลดลง จากเดิม 40% เป็นเหลือไม่ถึง 1% โดยไม่ต้องมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกระบวนการผลิต โครงการนี้จึงส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญยิ่งต่อทั้งเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงมีเป้าหมายในการขยายโครงการฯ ให้เป็นระดับประเทศ และภูมิภาค ต่อไป