เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MUSC Research Forum: Private Sector เป็นการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “งานวิจัยด้านสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่อุตสาหกรรมต้องการ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยและผู้ประกอบธุรกิจด้านอุตสาหกรรมสัตว์น้ำได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทราบถึงปัญหาและความต้องการจากภาคเอกชน เสริมสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยเพื่อผลิตผลงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ กิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.รพีพัฒน์ มาวิจักขณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) MR. Warren Andrew Turner กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำใสฟาร์ม จำกัด และศาสตราจารย์บุญเสริม วิทยชำนาญกุล สังกัดภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ โดย ดร.รพีพัฒน์ มาวิจักขณ์ ได้กล่าวแนะนำเกี่ยวกับศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ประกอบด้วย 5 หน่วยงานย่อย ได้แก่ หน่วยวินิจฉัยโรคสัตว์น้ำ หน่วยโรคสัตว์น้ำ หน่วยชีววิทยาโมเลกุล หน่วยงานตรวจสารพันธุกรรม และหน่วยคุณภาพน้ำและคุณภาพลูกกุ้ง โดยบริษัทมีความร่วมมือด้านงานวิจัยกับหน่วยงานของภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เป็นต้น สำหรับงานวิจัยด้านสัตว์น้ำที่บริษัทให้ความสนใจ ได้แก่ การใช้ dsRNA เพื่อทดแทนการตัดก้านตาในพ่อ-แม่พันธุ์กุ้ง การผลิต Neo-female ในกุ้งก้ามกราม จากนั้น MR. Warren Andrew Turner ได้กล่าวแนะนำบริษัท น้ำใส ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเพาะพันธุ์ลูกปลาเพื่อจำหน่าย เช่น ปลานิล ปลากระพง เป็นต้น และได้บอกเล่าถึงปัญหาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่บริษัทพบ เช่น ปลาเป็นโรค ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการแข่งขันในตลาด เป็นต้น บริษัทมีการส่งเสริมงานวิจัยด้านสัตว์น้ำ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาโท/ปริญญาเอกเข้ามาทำงานวิจัยในฟาร์ม และได้ฝากโจทย์วิจัยเกี่ยวกับแนวทางการขนส่งสัตว์น้ำ ที่สามารถแก้ปัญหาการตายของสัตว์น้ำระหว่างการขนส่งได้ นอกจากนี้ วิทยากรทั้ง 3 ท่านได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยซักถามในข้อสงสัยต่างๆ หลังจากจบการบรรยาย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ แนวทางในการกำจัดกลิ่นโคลนในปลานิล ซึ่งหากทำได้จะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกปลานิลได้เป็นอย่างมาก
หลังจากจบการจัดกิจกรรมนี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาได้รับประทานอาหารว่างร่วมกัน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและวิทยากรได้พบปะพูดคุยกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยต่อไป กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จากคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาระดับปริญญาโท/เอก และนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอกเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 70 คน