เมื่อวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2557 งานบริหารและธุรการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ชมรมคณะวิทย์ชิดสังคม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเสริมสร้างความรัก ความผูกพันองค์กร และการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ณ โรงเรียนบ้านหนองผักแว่น (อุทยานแห่งชาติปางสีดา) จังหวัดสระแก้ว เพื่อตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างความรัก ความผูกพันองค์กร การทำงานเป็นทีม ส่งเสริมการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่และร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ยังสอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งให้บุคลากรเกิดการบูรณาการด้านแนวคิดในการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัย ที่ว่าความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ รวมทั้งสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรในเรื่อง การมุ่งผลเพื่อผู้อื่น
เริ่มด้วยกิจกรรมแรก กิจกรรมการจัดทำเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพื่อใช้ป้องกันในยามลาดตระเวน โดยการแบ่งกลุ่มปฏิบัติออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20 คน ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันช่วยกันทำคนละไม้ละมือ โดยใช้แผ่นฟิล์ม X-ray เป็นส่วนประกอบ แบ่งหน้าที่กันไปบางกลุ่มก็ช่วยกันตัดฟิล์ม X-ray ให้ได้ขนาดเท่ากับเสื้อเกราะ บางกลุ่มก็เตรียมรอทากาวบนแผ่นฟิล์มเพื่อติดซ้อนทับกันประมาณ 8-10 แผ่น จนสำเร็จได้เสื้อเกราะกันกระสุนตามแบบตัวอย่าง พร้อมกันนี้มอบเสื้อเกราะกันกระสุนและเครื่องอุปโภคให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จากนั้นเดินทางไปเที่ยวชม ละลุ (Lalu) ดินแดนมหัศจรรย์ ณ บ้านเนินขามและบ้านคลองยาง ตำบลทัพราช จังหวัดสระแก้ว ซึ่ง "ละลุ" หรือในภาษาภาษาเขมร แปลว่า "ทะลุ" แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดสระแก้ว ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น "แพะเมืองผีแห่งใหม่" เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากน้ำฝนกัดเซาะ ยุบตัว หรือพังทลายของดิน เนื่องจากสภาพดินแข็ง จะคงอยู่ไม่ยุบตัว เมื่อถูกลมกัดกร่อน จึงมีลักษณะเป็นรูปต่าง ๆ มองคล้ายกำแพงเมือง หน้าผา บ้างมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ คล้ายกับแหล่งธรรมชาติบริเวณ แพะเมืองผี จังหวัดแพร่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ละลุ มีที่กว้างใหญ่กว่า 2000 ไร่ เป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ท่ามกลางท้องทุ่งและภูเขาเขียวชอุ่ม ในการเข้าชมละลุนั้น จะต้องเดินทางเข้าไปด้วยการนั่งรถอีแต๊ก ที่ชาวบ้านในชุมชนนำมาบริการ ลัดเลาะไปตามท้องทุ่งผ่านหมู่บ้านต่างๆ จนถึงตัวละลุ ทำให้พวกเราทุกคนที่ได้เห็นตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก รู้สึกแปลกตาที่ได้ชม ต่างพากันถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ทำให้ทุกคนทึ่งในความงามของประติมากรรมธรรมชาติ ที่ออกแบบมาได้อย่างลงตัวนี้เป็นอย่างมาก
กิจกรรมสำคัญของงานนี้ คือกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 2.50 เมตร สูง 1.80 เมตรในการสร้างฝายครั้งนี้ พวกเราทุกคนจะต้องเดินทางโดยการนั่งรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ จากที่พักเพื่อเข้าไป ยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติปางสีดาที่ 10 (วังครก) อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โดยการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติออกเป็นหกกลุ่ม เพื่อผลัดเวรกันไปปฏิบัติหน้าที่ประจำฝาย โดยแบ่งเวลากลุ่มละ 1 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าแดดจะร้อนมากแค่ไหน ทุกคนก็ไม่บ่น ไม่ท้อ ตั้งใจแบกหิน ยกทราย ขนปูนกันอย่างขะมักเขม้นเลยทีเดียว เพราะว่าทุกคนนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือความมุ่งมั่น ที่จะสร้างฝายให้สำเร็จ!! พร้อมที่จะช่วยเหลือกันและกัน ส่งผลทำให้ การทำกิจกรรมครั้งนี้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะอีกด้วย มีการทำงานเป็นทีม การแบ่งหน้าที่ และเห็นความสำคัญของผู้ร่วมทีม ซึ่งสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกัน ที่เรียกได้ว่ามีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ^_____^ ปนกับหยาดเหงื่อแรงงาน ที่สำคัญงานนี้ ต้องขอบคุณน้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนบ้านหนองผักแว่น จังหวัดสระแก้ว จำนวน 30 คน ที่มาช่วยพวกเรา ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ทั้งช่วยกันแบกหิน ยกทราย ขนปูนส่งต่อๆ กัน
กิจกรรมวันสุดท้าย ออกเดินทางไปสู่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตำบลโคกสูง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดสระแก้ว การเดินชมมีเจ้าหน้าคอยให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ของที่นี่ไปพร้อมๆ กับการชมความงามของศิลปะยุคโบราณ ทำให้ได้ทราบถึงที่มา และเรื่องราวประวัติศาสตร์ อีกด้วย จากนั้น ออกเดินทางต่อเพื่อไปศึกษาดูงานโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว โรงเรียนกาสรกสิวิทย์จัดตั้งขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกกระบือ และให้เกษตรกรมาใช้ชีวิตและใช้กระบือเพื่องานเกษตรกรรม โดยเกษตรกรจะเข้าพักอาศัยตามสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตแบบพอเพียง นับเป็นการฝึกกระบือให้ทำการเกษตรได้ดี และฝึกคนให้เข้าใจถึงวิธีการใช้กระบือในการทำเกษตรกรรม โดยเจ้าหน้าที่พาชมโรงเรียน พร้อมเล่าเรื่องและอธิบายประกอบตลอดทาง โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ได้จัดแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก จะเป็นส่วนอำนวยการที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับสอบเกษตรกรและฝึกฝนกระบือในการไถนา วิถีชีวิตเกษตรกรในการใช้แรงงานกระบือ ส่วนที่สอง จะเป็นแปลงนาสาธิต และแปลงปลูกหญ้าสำหรับโค-กระบือ ส่วนสุดท้าย จะเป็นพื้นที่สำหรับการสาธิตการทำเกษตรกรทฤษฎีใหม่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ เพื่อใช้เป็นแบบอย่างต่อไป จากการศึกษาทำให้ทราบว่าแม้เป็นเพียงมุมเล็กๆ แต่เมื่อมองถึงคุณค่าที่ควร แค่การอนุรักษ์ไว้จะเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่จะสืบต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา ไม่ให้หายไปตามวันเวลา ที่มีการพัฒนาด้านวัตถุอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่สะท้อนให้ผู้คนได้รับรู้และเห็นว่าการใช้กระบือทำนานั้นเป็นมาอย่างไร ภาพของกระบือไถนาก็คงจะยังไม่เลือนหายจากประเทศไทยไปในเร็ววัน โดยงานนี้ต้องขอบอกเลยว่า "อิ่มบุญ อิ่มอก อิ่มใจ กันถ้วนหน้าจริงๆ" กับการได้มีส่วนช่วยในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ดี เป็นความภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคม และเพื่อส่วนรวม จึงหวังอย่างยิ่งว่าจะได้พบกันใหม่ในกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ในครั้งหน้าอีกนะจ๊ะ....