เมื่อวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2557 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมเสวนาในรูปแบบ Science Café เรื่อง “เฝ้าระวัง...ไวรัสอีโบลา” โดยมีวิทยากรให้ความรู้ร่วมเสวนา ดังนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิตธัญญานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ การเสวนาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือกออกอีโบลา
สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลานี้ เป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง ซึ่งร้ายแรงถึงเสียชีวิต เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนใช้ป้องกัน และรักษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิตธัญญานนท์ อธิบายว่า ไวรัสอีโบลา มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ไม่ก่อโรคในคน บางสายพันธุ์ก็ก่อโรค แต่สำหรับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดและค่อนข้างรุนแรงนี้คือสายพันธ์ “ซาอียร์” (Zaire) ไวรัสอีโบลา มีความทนทานโดยสามารถอยู่ในที่เย็นและเปียกได้ถึง 50 วัน แต่สามารถป้องกันได้ด้วยสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป รวมทั้งการดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามขนาดการติดเชื้อต่ำคือ แม้จะมีเชื้อปริมาณไม่มาก 10-100 ตัว ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ให้ความเห็นว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับการติดเชื้อโรคนี้มากเกินไป เนื่องจากการระบาดยังอยู่ในวงแคบ โรคนี้มีระยะฟักตัวสั้น และผู้ป่วยจะมีอาการหนัก ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้สะดวก ซึ่งต่างจากเชื้อไว้รัสเอชไอวี หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข จะยังคงมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบผู้ที่เดินทางมาจากแหล่งระบาดอย่างเข้มงวดอยู่เช่นเดิม และมีการเฝ้าระวังผู้อยู่ในข่ายอย่างใกล้ชิด การเสวนานี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 150 คน