logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2557

 

2 นักวิจัยคณะวิทย์ มหิดล เป็นหนึ่งในผู้วิจัยที่ สกว.เชิดชูเกียรติรางวัลผลงานเด่น

29 สิงหาคม 2557 ---- ศ. นพ.ไกรสิทธิ์  ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติยศ ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและให้กำลังใจแก่นักวิจัยเจ้าของผลงาน อีกทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมสู่สาธารณะ เพื่อให้มีการขยายผลหรือต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านสาธารณะ งานวิชาการ นโยบาย พาณิชย์ และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นให้สังคมตระหนักและมองเห็นความสำคัญตลอดจนประโยชน์ของงานวิจัย พร้อมกับจัดให้มีปาฐกถาพิเศษ “การวิจัยกับการพัฒนาประเทศ” โดย ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้รับรางวัลสองท่านได้แก่ ศ. ดร.ประเสริฐ โศภน เรื่อง การศึกษาคุณลักษณะและความสัมพันธ์ของฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งกับฮอร์โมนที่กระตุ้นต่อมสืบพันธุ์ของกุ้งและปูกับการประยุกต์ใช้ในระบบเพาะเลี้ยง  และ ผศ. ดร.กฤษฎา สุชีวะ เรื่อง การวิจัยและพัฒนายางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ประหยัดพลังงาน โดยมี ศ.พิมพ์ใจ ใจเย็น รองคณบดีฝ่ายวิจัย เป็นผู้แทนคณบดีร่วมยินดี

ศ. นพ.ไกรสิทธิ์กล่าวว่า งานในครั้งนี้นับเป็นนิติหมายอันดีสำหรับนักวิจัยทุกคนที่จะนำความรู้จากศาสตร์สาขาที่แต่ละคนเชี่ยวชาญไปช่วยกันพัฒนาประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สกว.ประสบความสำเร็จในการยกระดับความเข้มแข็งของงานวิจัย โดยมุ่งสร้างความรู้ที่ไม่จำกัดเพียงด้านวิชาการ หากรวมถึงทุกภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งการสร้างความเข้มแข็งของคน ชุมชน และพื้นที่ ซึ่งเป็นรากฐานการผลิตของสังคมอย่างเกษตรกรและประชาชนธรรมดา รวมถึงการสร้างทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศ การพัฒนานวัตกรรมในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์

งานวิจัยที่ได้รับรางวัลในปีนี้ หลายโครงการสะท้อนการแก้ปัญหาของประเทศในหลายระดับ ตั้งแต่การพัฒนาเด็กที่หันกลับมาให้ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งของชุมชนแบบมีส่วนร่วมของบวรหรือบ้าน วัด โรงเรียน นำไปสู่ผลลัพธ์คือเด็กมีความสุขในการเรียน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนโครงการวิจัยที่เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิชาการไทยและกัมพูชา ตลอดจนความร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์และโบราณคดี การใช้ประโยชน์เรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเยาวชนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างมิตรไมตรีอันดีต่อกัน