เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2557 เวลา 10.00 น. - 11.30 น. ณ ห้องประชุม K 102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ศาสตราจารย์ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Cafe ในบรรยากาศสบาย ๆ เรื่อง "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ Middle East Respiratory Syndrome Corona virus Infection (MERS-CoV Infection) โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ร่วมเสวนา และ ดร.พญ.พรพรรณ มาตังคสมบัติ ชูพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เป็นผู้ดำเนินรายการ การเสวนาให้ความรู้และข้อมูล เกี่ยวกับ Mers-CoV โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 เริ่มระบาดในประเทศซาอุดิอาระเบียและตะวันออกกลาง โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ในทางต่างประเทศ พบรายงานผู้ป่วยทั้งหมด จาก 14 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกรีซ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในตระกูล coronavirus สายพันธุ์ใหม่พบได้ในตะวันออกกลาง อาการหลักคือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันอาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหารและลำไส้ได้บ้าง สถานการณ์ ในปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรค Mers - CoV ในประเทศไทย แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่โรคติดเชื้อไวรัสในตระกูล coronavirus จะแพร่ระบาดในประเทศไทย เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือแสวงบุญ (พิธีฮัญจ์หรือพิธีอุมเราะห์) ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) มีโอกาสติดเชื้อและนำโรคมาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้ โรคนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากอูฐเป็นแหล่งโรควิทยากรจึงแนะนำว่า อย่ายุ่งเกี่ยวกับอูฐ ไม่ว่าด้วยกิจกรรมใดใด ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย โรค Mers - CoV เป็นสายพันธุ์เดียวกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน มีอาการคล้าย SARS เชื้อ Mers - CoV นั้นอยู่นอกร่างกายได้นานกว่า เมื่อเทียบกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ คืออยู่ได้เป็นวัน ในส่วนของการรักษา ยังไม่มีวิธีการเฉพาะ แต่เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น โดยการป้องกันตัวเองนั้นเหมือนกับ การป้องกันตัวจากโรคหวัดทั่วไป การปฏิบัติตนคือ การรักษาอนามัยของตนเอง คือ ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการขยี้ตาหรือล้วงแคะจมูก หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย หากเป็นไปได้ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงควรเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและ/หรืออูฐ เมื่อไปในประเทศที่มีการระบาดมาแล้ว หากมีอาการป่วยภายใน 14 วัน ให้รีบพบแพทย์ และควรให้ประวัติการเดินทางและการสัมผัสแหล่งโรค การเสวนานี้โดยมีนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 80 คน