จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กร บุคคลทั่วไป รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่สร้างประโยชน์แก่สังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จนเป็นที่ประจักษ์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพิจารณามอบรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award ประจำปี พุทธศักราช 2566 โดยกำหนดคุณสมบัติและขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือก ดังนี้
1. เป็นผู้ที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคม
2. มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ อย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง
ด้านการสื่อสาร เป็นผู้นำการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมความร่วมมือในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศและประชาชนสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยไม่กระทบต่อคนรุ่นต่อไป
ด้านวิชาการ ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ประจักษ์ ต่อการพัฒนางานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในด้านวิชาการ รวมทั้งปฏิบัติวิจัยในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ด้านกิจกรรม ใช้วิทยาศาสตร์ในการจัดกิจกรรม หรือดำเนินการโครงการรูปแบบต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ ซ่อมแซม หรือป้องกันการเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติหรือระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนนจะอ้างอิงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ น้ำ พลังงาน เมือง การบริโภคและการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศทางบก เป็นต้น
3. เกณฑ์การให้คะแนนอ้างอิงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ น้ำ พลังงาน เมือง การบริโภคและการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศทางบก เป็นต้น
4. เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เคยถูกตัดสินหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาความผิดด้านจริยธรรมและการปฏิบัติงาน
ผู้ได้รับรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2023 ดังนี้
ประเภทบุคคล
หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ มีผลงานการวิจัยวิจัยที่โดดเด่นทางด้านทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านความหลากหลายชีวภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการ โดยมีแรงบันดาลใจจากการทำงานร่วมในกลุ่มเครือข่ายงานวิจัยสัตว์ป่าทั้งจากนักวิจัยภายในมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) และ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ประเทศไทย โดยติดตามและร่วมประสานงานกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ในประเทศไทย ทำให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของการเตรียมความพร้อมของสัตว์ป่าเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร การเพาะขยายพันธุ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงการเพิ่มประชากรของสัตว์ป่าให้มีจำนวนมากขึ้น แต่ขาดการวางแผนการจับคู่ผสมพันธุ์อย่างมีระบบ ทำให้สัตว์ป่าที่เกิดขึ้น มีสุขภาพไม่ดี ไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วยง่าย สัตว์ป่าบางตัวมีลักษณะพิการ อันเป็นผลมาจากสภาพเลือดชิด ด้วยเหตุดังกล่าวหากเตรียมพร้อมประชากรสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ให้มีคุณภาพทางพันธุกรรม พร้อมสำหรับการอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมและยกระดับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ต่องานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน จากประสบการณ์การทำงานพันธุกรรมของสัตว์ในระดับจีโนมิกส์เพื่อศึกษาโครงสร้างจีโนมที่มีมามากกว่า 10 ปี จึงสามารถนำมาประยุกต์ต่อยอดในงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม และประเมินโครงสร้างประชากรของสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติ และในสถานีแหล่งเพาะขยายพันธุ์ เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ฯ หรือฟาร์มต่าง ๆ ทำให้สามารถวางแผนการจับคู่ผสมพันธุ์สัตว์อย่างมีแบบแผน และกู้วิกฤตสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ให้กลับมามีชีวิต และดำรงในธรรมชาติได้ เช่น โครงการการตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของกวางผา ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกกระสาคอขาว ช้าง กระจงควาย ซึ่งช่วยให้การปล่อยจระเข้คืนสู่ธรรมชาติดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหลักฐานสำคัญต่อการปลดล็อกบัญชีสัตว์ต้องห้ามทางการค้า หรือ CITES โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการการตรวจสอบจระเข้สยามและจระเข้น้ำเค็มซึ่งจะสนับสนุนให้กิจกรรมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ของจระเข้ เช่น หนังสำหรับกระเป๋า เครื่องใน เนื้อ สามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้โดยลดปัญหาการกีดกันทางการค้า ด้วยผลงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันงานวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์กรการวิจัยต่าง ๆ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาศักยภาพให้แก่นักวิจัยและนักศึกษา ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรสามารถนำงานวิจัยต่อยอดได้ นอกจากนี้ด้วยองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมของสัตว์ป่า ยังนำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น การพิสูจน์จระเข้สยามและจระเข้น้ำเค็มในธรรมชาติร่วมกับกรมประมง การตรวจสอบคดีเก้งเผือกร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การระบุอัตลักษณ์ของช้างเพื่อช่วยรับรองช้างเกิดใหม่ร่วมกับปางช้างแม่แตงและกรมการปกครอง และการประเมินจำนวนประชากรของช้างในผืนป่ากุยบุรีโดยร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) ผลงานวิจัยเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่นักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในการให้ความรู้ และฝึกอบรม รวมทั้งการตรวจสอบและประเมินโครงการวิจัยในคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัยของงานวิจัยทางจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ ซึ่งเชื่อมโยงต่อการส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยผลงานเหล่านี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565 เพื่อประสานความร่วมมือและนำการวิจัยและบริการวิชาการด้านจีโนมิกส์ของสัตว์ การปรับปรุงพันธุ์ การบริหารจัดการสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า ตลอดจนการพัฒนาโครงการจีโนมของสัตว์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ ปลากัด ช้าง จระเข้ งูเห่า ปลาดุก เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้อยู่ในระดับสูง
ประเภทองค์กร (ด้านกิจกรรม)
โดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
Carbon Markets Club เป็นการรวมตัวกันขององค์กร หน่วยงาน รวมถึงบุคคลที่มีความสนใจ และวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยความสมัครใจ และไม่แสวงหาผลกำไร (non-profit entity) ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกไม่มีค่าใช้จ่าย หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของ Carbon Markets Club ใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณของ
บมจ. บางจากฯ เป็นหลัก ร่วมกับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก และองค์กรพันธมิตรที่เป็นสมาชิกตั้งต้นของ Carbon Markets Club มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วย
- สนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน (คาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
- การพัฒนาการซื้อขายไปสู่ platform ระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ
e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และนำ blockchain มาใช้ในการซื้อขายสู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralized finance คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “สติของประชา ปัญญาของสังคม”
- ร่วมสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไม่จำกัดอยู่เพียงในรูปแบบขององค์กรหรือบริษัทเท่านั้น ทุกคนมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวัน และทุกคนสามารถมีส่วนช่วยลดผลกระทบได้ เริ่มจากการใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ และยังสามารถชดเชยผ่านการซื้อคาร์บอนได้ด้วย
Carbon Markets Club มีจุดเด่นสำคัญในการตอบโจทย์ UNSDG 13 Climate Action คือ
1. เป็นชมรมแรกของประเทศไทย ที่สนับสนุนให้เกิดการการรวมตัวกันของภาคเอกชน เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐและประชาคมโลก โดยสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายหลักเพื่อการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
2. เปิดกว้าง และให้โอกาสสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กร และบุคคลในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่มีเงื่อนไข
3. มีการจัดกิจกรรมการให้ความรู้แบบต่อเนื่อง ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟัง ได้แก่ การจัดสัมมนา webinar, เว็บไซต์, Facebook สัมมนา และจัดแสดงนิทรรศการและ กลุ่มไลน์ของสมาชิก ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ พร้อมสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่าน CMC Markets Place: ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน
4. ช่วยกระตุ้นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการเชิญชวนให้ผู้สนใจสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ใน marketplace เว็บไซต์ www.carbonmarketsclub.com ได้ โดยหลังจากก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีรายงานการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (TVERs) 245,549 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และหน่วยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Credits - RECs) 257,484 หน่วย เทียบเป็นคาร์บอนเครดิตรวมประมาณเกือบ 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเป็นการปลูกต้นไม้ที่มีอายุ 10 ปี ประมาณ 42,000 ต้น สำหรับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยในภาพรวม ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 10 เดือนแรกของปี ปริมาณการขายสูงกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีมูลค่าในการซื้อขายราว 150 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ประมาณเกือบ 3 แสนตัน มูลค่าซื้อขายเกือบ 10 ล้านบาท) (ข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก - อบก.) อย่างไรก็ดี การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อย (ประมาณ 400 ล้านตันต่อปี) อีกทั้งยังมีต้นทุนการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบในการรับรองคาร์บอนเครดิตอยู่ในระดับสูง นอกจากนั้นตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยในปัจจุบัน ยังเป็นตลาดของผู้ซื้อ และจากการที่เป็นตลาดในภาคสมัครใจ ทำให้ราคายังนับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตลาดภาคบังคับ เช่น สหภาพยุโรป (50-100 บาทต่อ 1 ตัน เทียบกับ 90 ยูโรหรือกว่า 3,200 บาทต่อตันในยุโรป)
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลักคือ
- กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย และปรับเป็น Niche Products Refinery เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ low emission
- กลุ่มธุรกิจการตลาด มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,300 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ Non – oil ผ่านธุรกิจต่าง ๆ เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio และ EV charger
- กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ บมจ. บีซีพีจี และรุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่
- กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และกำลังขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
- กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ ลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ และมีสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เป็นผู้ลงทุน Corporate Venture Capital เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Balancing the Energy Trilemma) คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) การเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และได้มีการตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ในปีค.ศ. 2050 (Carbon Neutrality ในปี 2030) ผ่านแผนงาน BCP 316 NET ครอบคลุม 4 แนวทาง ดังนี้ B - Breakthrough Performance (ร้อยละ 30) เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน C - Conserving Nature and Society (ร้อยละ 10) สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ ได้แก่ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) และระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล P - Proactive Business Growth and Transition (ร้อยละ 60) เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ เทคโนโลยี ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก NET - Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie