logo

กองทุนศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ. ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ

ตำแหน่ง "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ"
Professor Pornchai Matangkasombut's CHAIR PROFESSOR

ศ. ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ

ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ (Prof.Pornchai Matangkasombut’s CHAIR PROFESSOR)” เป็นตำแหน่งนักวิจัยเกียรติยศที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อเชิญชวนให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในสาขาจุลชีววิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศเข้ามารับตำแหน่ง เพื่อดำเนินการวิจัย สร้างกลุ่มวิจัย และพัฒนาวงการวิจัยด้านจุลชีววิทยา และชีววิทยาภูมิคุ้มกันของประเทศไทย ให้เจริญรุดหน้าในระดับสากล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ

ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะปฏิบัติงาน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องโดยจะได้รับค่าใช้ จ่ายในการดำเนินการวิจัยทั้งหมดประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท จากดอกผลของกองทุน "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ" (Endowment Fund for Prof.Pornchai Matangkasombut’s CHAIR PROFESSOR)

การสรรหาผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ จะดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ" คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะฯ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และอำนวยคุณประโยชน์สูงสุด ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ด้านนี้ของประเทศ

ประวัติ ศาสตราจารย์ พรชัย มาตังคสมบัติ

ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ เข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รุ่นแรก (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อสำเร็จชั้นปีที่ 2 ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต และปริญญาเอกสาขาจุลชีววิทยา(MD.-Ph.D) จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน

เมื่อกลับประเทศไทยได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2511 ซึ่งขณะนั้นหัวหน้าภาควิชาต่างๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ล้วนเป็นชาวต่างประเทศ (ภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์)

ศาสตราจารย์พรชัย นับเป็นชาวไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา ใน พ.ศ.2516 และดำรงตำแหน่งนี้ต่อมา เป็นระยะเวลาถึง 14 ปี นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ ติดต่อกัน 2 วาระ (พ.ศ.2534-2542) และเป็น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ คนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยดำรงตำแหน่งอธิการบดี 2 วาระติดต่อกัน (พ.ศ.2542-2550)

ในวงวิชาการด้านจุลชีววิทยา ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัตินับเป็นรุ่นบุกเบิกและเป็นผู้วางรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่การเรียนการสอนระดับ บัณฑิตศึกษาและการวิจัยสาขาจุลชีววิทยาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และของประเทศ เคยเป็นประธานจัดการประชุม วิชาการนานาชาติด้านจุลชีววิทยา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตั้งแต่ พ.ศ.2520 และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางวิชาการด้าน อิมมูโนวิทยา ชีววิทยาโรคติดเชื้อ และการพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก มาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นเลขานุการฝ่ายจุลชีววิทยา ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของยูเนสโก และตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆอีกจำนวนมาก ตลอดจนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนี้ของประเทศตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

กองทุน "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ"
Endowment Fund for Professor Pornchai Matangkasombut’s CHAIR PROFESSOR

กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการวิจัยในประเทศไทย สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ (Professor Pornchai Matangkasombut’s CHAIR PROFESSOR) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำริจัดตั้งตำแหน่งดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการยกย่อง ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตหัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นชาวไทยคนแรก และเป็นผู้มีความสำคัญในการบุกเบิกงานการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และงานวิจัยด้านจุลชีววิทยาของคณะฯ และของประเทศ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาวิชาการด้านจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย

เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นว่าศาสตร์ดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน การมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถระดับโลกในสาขานี้มาปฏิบัติงานวิจัยในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มของนักวิชาการที่สนใจในสาขานี้ขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยกระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษาวิทยาศาสตร์ นักศึกษาแพทย์ แพทย์ และนักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไป มองเห็นความสำคัญและหันมาให้การสนับสนุนงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการรวมกลุ่มของนักวิจัยด้านจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกันในประเทศ จะทำให้เกิดมวลวิกฤตของการวิจัยในด้านดังกล่าว ทำให้การวิจัยมีเป้าหมาย มีทิศทาง สอดคล้องกับความต้องการ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

อย่างไรก็ดี การได้มาซึ่งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งที่สำคัญและทรงเกียรตินี้ จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินการ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัยด้านจุลชีววิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกันของประเทศ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อการนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการได้มาซึ่งงบประมาณจากการบริจาค ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น