logo


ประวัติคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ได้รับการประกาศจัดตั้งในพระราชกฤษฎีกาฯ ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ให้เป็น "โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์" โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เบื้องต้น เพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์ และเตรียมประเภทวิชาอื่นๆ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยใช้สถานที่ที่ตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีแรก และย้ายมายังอาคารเรียนใหม่ ณ ถนนศรีอยุธยา ในปีต่อมา
ในปี พ.ศ. 2503 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดหลักสูตรการศึกษาในสาขาต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงระดับปริญญาตรี-โท (และเอก ในเวลาต่อมา) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีท่านแรก
พ.ศ. 2507 เริ่มดำเนินการกำหนดนโยบายในการเตรียมจัดตั้งภาควิชาปรีคลินิก ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ความแตกต่างจากคณะวิทยาศาสตร์ที่อื่นๆ คือมุ่งหมายให้นักศึกษาที่เข้าเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน 2 ปี ได้เรียนปรีคลินิก 2 ปี แล้วได้ปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยหวังว่าจะมีส่วนหนึ่งเรียนต่อให้จบถึงปริญญาเอก เพื่อเป็นอาจารย์ทางปรีคลินิกต่อไป และส่วนหนึ่งเรียนต่อทางแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจะมีการก่อตั้งใหม่ (คือ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ. รามาธิบดี) นโยบายเรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะนักศึกษาเรียนต่อแพทย์ที่คณะแพทย์กันหมด แต่นโยบายในการจะให้คณะเป็นสถาบันชั้นนำในภูมิภาคได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง
ใน พ.ศ. 2508 รัฐบาลอนุมัติเงินงบประมาณและที่ดินที่ถนนพระรามที่ 6 ให้ก่อสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นใหม่คือ สถานที่ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันพฤหัสบดี ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508 การก่อสร้างเป็นตึก 6 ชั้น อาคาร 5 หลัง และมีอาคารเรียนรวมเป็นตึกชั้นเดียวทรงกลมรูปร่างแปลกตา เป็นจุดสนใจสำหรับคณะสร้างใหม่ เรียกกันว่า ตึกกลม หรือ ตึกจานบิน  ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ถึง พ.ศ. 2510
ในปี พ.ศ. 2511 คณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้ย้ายสถานที่ตั้งมาพื้นที่บนถนนพระรามที่ 6 ตรงข้ามกระทรวงอุตสาหกรรม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดตึกทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนที่ดิน 40 ไร่ และงบประมาณร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ก่อสร้างอาคารบรรยาย และอาคารทดลองวิทยาศาสตร์ พร้อมอุปกรณ์วิจัยที่ทันสมัย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ยังได้ติดต่อขอความช่วยเหลือ จากองค์กรต่างประเทศอื่นๆ เพื่อขอความสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย จนทำให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นฐานปฏิบัติการวิจัยที่สำคัญที่สุดของประเทศ และของภูมิภาคในขณะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ใช้พระนามาภิไธย "มหิดล" เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 และประกาศเป็น "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512" ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 1 มีนาคม 2512 และต่อมาได้มี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล" ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2512 คณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ใช้ชื่อใหม่เป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำภาควิชาปรีคลินิก ทั้ง 6 สาขา ในช่วงเวลาต่างกันภาควิชาที่ก่อตั้ง ตั้งแต่คณะอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2507- 2509 คือ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จุลชีววิทยา ชีวเคมี และสรีรวิทยา ส่วนภาควิชาเภสัชวิทยา และพยาธิชีววิทยา ก่อตั้งใน พ.ศ. 2511 และ 2512 เมื่อคณะได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนพระราม 6 ทุกภาควิชาจะมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่หัวหน้าภาค และเป็นอาจารย์ผู้สอนอีกภาคละ 3 คน เมื่อถึง พ.ศ. 2513 มูลนิธิฯ เริ่มทยอยส่งผู้เชี่ยวชาญกลับสหรัฐอเมริกายกเว้นหัวหน้าภาควิชาเมื่อ อาจารย์ชาวไทยที่จบการศึกษาปริญญาเอกทยอยกลับมาทำหน้าที่สอน จนถึง พ.ศ. 2518 ผู้เชี่ยวชาญจึงเดินทางกลับทั้งหมด อาจารย์ไทยได้รับหน้าที่หัวหน้าภาคต่อไป
มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งห้องสมุด ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการเป็นหน่วยสนับสนุนการวิจัยและการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาเอก ให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานระดับสากลความช่วยเหลือด้านห้องสมุดเป็นจำนวนหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หนังสือตำราวารสาร หนังสืออ้างอิง สิ่งพิมพ์ประเภทคู่มือช่วยค้น (Indexing & Abstracting Journals) ซึ่งมีราคาแพงและมีความจำเป็น เนื่องจากช่วงเวลานั้นยังไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยการค้นคว้า เพื่อให้การดำเนินงานของห้องสมุดได้มาตรฐานสากล มูลนิธิฯ ได้ให้ทุนการศึกษาทางบรรณารักษศาสตร์ระดับปริญญาโทในสหรัฐอเมริกา รวม 5 คน ซึ่งอยู่ปฏิบัติงานระยะยาวเพียง 3 คน และได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็น Visiting Librarian 2 คน ในเวลาต่อเนื่องกัน เพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินงาน จัดระบบปฏิบัติงานและการให้บริการ ซึ่งมีผลให้ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์มีชื่อเสียงทั้งด้านบริการ และในการเป็นแหล่งทรัพยากรสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ที่มีความพร้อมมากที่สุดในช่วงเวลานั้น
หน่วยงานสนับสนุนที่ท่านอาจารย์ได้ก่อตั้งขึ้นอีกหน่วยงานหนึ่งใน พ.ศ. 2511 คือ ห้องปฏิบัติการอเนกประสงค์ (Multi-Disciplinary Laboratory, MDL) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการจัดเตรียมการทดลองสำหรับการเรียนการสอน นักศึกษาปรีคลิกนิกและนักศึกษาปริญญาโท – เอก
หัวหน้าภาควิชา และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิฯ ได้ มาวางรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาปรีคลินิก และวางแผนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาตามแบบอย่างการศึกษาในต่างประเทศ นักศึกษาเล่าว่า สิ่งประทับใจตั้งแต่วันแรกของการเรียน คือ วิชาแนะนำการใช้ห้องสมุด การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ต้องศึกษาค้นคว้าช่วยตนเองให้มีความคิดแบบวิจารณญาณ เป็นแบบ active learning ไม่มีการแจกชีท มีการปลูกฝังระบบ honour system ในภาควิชาต่างๆ นอกจากนักศึกษาชาวไทยแล้ว ยังมีชาวต่างจากประเทศต่างๆ มาศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิสิปปินส์ และ พม่า และยังมีนักศึกษาหลังปริญญาเอก (post doctoral fellows) จากหลายประเทศมาศึกษาด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย บรรยากาศที่คณะวิทยาศาสตร์จึงเป็นบรรยากาศการศึกษานานาชาติ มีผลต่อนักศึกษาไทยให้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี สามารถศึกษาค้นคว้าจากตำราภาษาอังกฤษได้ พร้อมทั้งมีประสบการณ์การติดต่อความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ ทำให้เป็นประโยชน์ในการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ภายหลังนักศึกษาปรีคลินิก เรียกร้องให้เปลี่ยนการสอนเป็นภาษาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา
คณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้นำในการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกทางสาขาวิทยาศาสตร์ เริ่มจากภาควิชาจุลชีววิทยาเป็นหน่วยงานแรกของประเทศที่ได้รับผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก เมื่อ พ.ศ. 2515 ภาควิชาอื่นๆ ก็ได้ผลิตบัณฑิตปริญญาโท – เอก ออกมาอย่างต่อเนื่อง บัณฑิตเหล่านั้นได้รับใช้สังคม ในการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่ ทั้งในส่วนกลาง เช่น วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎ และในส่วนภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ยอมรับกันว่าผลผลิตจากคณะวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากล ผลงานวิจัยก็เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นการสร้างชื่อเสียงของประเทศไทยในวงการวิทยาศาสตร์นานาชาติ
คณะวิทยาศาสตร์ มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย 12 ภาควิชา ได้แก่ กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมี ชีววิทยา เทคโนโลยีภาพ เคมี คณิตศาสตร์ จุลชีววิทยา พยาธิชีววิทยา เภสัชวิทยา ฟิสิกส์ สรีรวิทยา พฤกษศาสตร์ และ 1 ศูนย์วิจัย 2 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมหิดล สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2555 เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียางในระดับนานาชาติ กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2561 เพื่อรองรับการเรียนการสอนและการวิจัยด้านชีวนวัตกรรม และ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2561 เพื่อพัฒนาการศึกษา งานวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติเกี่ยวกับวัสดุประเภทต่าง ๆ รวมถึง วัสดุสำหรับการตรวจจับ วัสดุพลังงาน วัสดุทางการแพทย์ การแปรรูปวัสดุ วัสดุขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรม วัสดุแสงและอื่น ๆ
ตลอดเวลามากกว่า 60 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการพัฒนาภายใต้การบริหารงานของคณบดี 10 ท่าน คือ

Prof. Skorn Mongkolsuk

ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข (พ.ศ. 2503-2514)

ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ (พ.ศ. 2514-2518)

ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห (พ.ศ. 2518)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ (พ.ศ. 2519-2534)

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ (พ.ศ. 2534-2542)

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน (พ.ศ. 2542-2546) 
และวาระที่ 2 (พ.ศ. 2547-2550)

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน (พ.ศ. 2546-2547)

ศาสตราจารย์ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข (พ.ศ. 2550-2554)
และวาระที่ 2 (พ.ศ. 2555-2558)

รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ (พ.ศ. 2558-2562)

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี (พ.ศ. 2562-2566)

รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน)

เอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล :
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พุทธศักราช 2486 (2 กุมภาพันธ์ 2486)
- พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2501 (21 ตุลาคม 2501)
- พระราชบัญญัติโอนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2502 (2 กันยายน 2502)
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2503 (5 เมษายน 2503)
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 (1 มีนาคม พ.ศ. 2512)
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล (18 พฤศจิกายน 2512)