logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข
(Assistant Professor Dr. Skorn Mongkolsuk)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2541
คำประกาศเกียรติคุณ

 

ด้วยคณะกรรมการ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2/2541 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นผู้ที่สามารถ ผลิตผลงานวิจัย ด้านการตรวจหาพยาธิใบไม้ตับ และการศึกษาพันธุกรรมของบักเตรี ที่ก่อให้เกิดโรคในพืช จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์ โดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่าง ให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข อายุ 41 ปี เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 4 คนของ ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ และ นางยุพิน มงคลสุข สำเร็จการศึกษาชั้นประถม และมัธยมศึกษา จากโรงเรียน Birkenhead ประเทศอังกฤษ และศึกษาในสาขาเภสัชวิทยา ณ King's College มหาวิทยาลัยลอนดอน ระหว่างปี พ.ศ. 2520-2523 หลังจากจบการศึกษา ระดับปริญญาตรี เกียรตินิยม อันดับสองแล้ว ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาชีวเคมี และสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาได้เข้าศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษา ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในปี พ.ศ. 2528 หลังจากนั้น ได้ทำงานวิจัย ในระดับการศึกษาหลังปริญญาเอก ณ Laboratory of Biochemistry, National Cancer Institute, National Institute of Health ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2528-2530

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข เริ่มเข้ารับราชการ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2530 และได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2534 ใน ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะเดียวกันได้รับการแต่งตั้ง เป็นหัวหน้า ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ปฏิบัติงาน ในหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น คณะกรรมการกลาง ด้านความปลอดภัย ทางชีวภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน กรรมการของ The International Center for Environmental and Industrial Toxicology (ICEIT) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน จากการสอน และการทำวิจัย ต่อเนื่องตลอดมา ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข ได้รับรางวัล Sigma Prize สำหรับ Best Overall Performance in Biochemistry, Chelsea College, University of London, ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2524 Fogarty Postdoctoral Fellowship จาก National Institute of Health, ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2528 รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จากมูลนิธิ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2534 รางวัลทุนพัฒนาวิชาชีพนักวิจัย จากสำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2540 และรางวัล Taguchi Prize ประเภทนักวิจัยดีเด่น จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2540

 

ผลงานโดยสรุปของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข มี 3 เรื่อง งานวิจัยแรกคือ การศึกษาและพัฒนาวิธี ตรวจหาพยาธิ Opisthorchis viverrini ซึ่งเป็นปาราสิตที่ก่อให้เกิดโรค พยาธิใบไม้ในตับ โดยใช้ DNA probe โดยได้ทำการศึกษา highly repeated DNA sequence และ ribosomal RNA gene ซึ่งมีจำนวนชุดสูงใน genome ของ O. viverrini เป็นเป้าหมาย ที่เหมาะสม ในการพัฒนาเป็น DNA probe หากได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม คาดว่าจะมีประโยชน์ อย่างยิ่งต่อการตรวจหา พยาธิใบไม้ตับ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ

 

งานวิจัยต่อมา ได้มุ่งความสนใจศึกษา กลไกการก่อโรคในพืช โดยแบคทีเรีย Xanthomonas โดยอาศัยหลักการที่ว่า ความเข้าใจกลไกขั้นพื้นฐาน ของการก่อให้เกิดโรค โดยแบคทีเรียนี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการป้องกัน การระบาดของโรค ในพืชได้ Xanthomonas เป็นแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดโรค ในพืชเศรษฐกิจ ของประเทศไทยหลายชนิด เช่น ข้าว ถั่ว ส้ม ปฏิกิริยาแรกอย่างหนึ่ง ที่พืชตอบสนองต่อการุกราน ของเชื้อโรคคือ การสร้าง Reactive Oxygen Species (ROS) เช่น hydrogen peroxide, organic peroxide และ superoxide งานวิจัยได้เน้นการศึกษาพื้นฐาน เกี่ยวกับกลไกซึ่ง Xanthomanas ใช้ป้องกัน ตัวเองจาก ROS ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข ได้ประสบความสำเร็จ ในการค้นพบว่า เมื่อ Xanthomanas ถูกกระตุ้นด้วยสารที่ทำให้เกิด oxidative stress ในปริมาณต่ำ เชื้อนี้จะสร้างเอนไซม์ต่างๆ ในระดับสูง เพื่อทำลาย ROS นอกจากนั้น เพื่ออธิบายกลไกที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ในระดับโมเลกุล สามารถแยกยีนที่สร้างเอนไซม์ ซึ่งมีหน้าที่ทำลาย ROS คือ catalase และ alkyl hydroperoxide reductase เอนไซม์ทั้งสองมีบทบาทสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุนี้การเข้าใจ ถึงวิธีควบคุมการทำงาน ของยีนทั้งสอง จึงเป็นความรู้พื้นฐาน ในการอธิบายระบบการป้องกันตัวเอง Xanthomanas จาก oxidative stress ได้แยกยีน oxyR ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบ การป้องกัน Oxidative stress และขณะนี้กำลังศึกษาถึงโครงสร้าง และหน้าที่ของโปรตีน oxyR

 

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข ยังได้ค้นพบยีนซึ่งทำให้แบคทีเรีย สามารถต้านทานต่อสาร organic peroxide การศึกษาโครงสร้างของยีน ในระดับเบสและ กรดอะมิโน พบว่าเป็นโปรตีนชนิดใหม่ ซึ่งยังไม่มีรายงานมาก่อน ในสิ่งมีชีวิตใดๆ เป็นที่คาดหวังว่า ผลงานวิจัยในด้านพื้นฐาน ที่ได้กล่าวถึงจะสามารถ นำไปประยุกต์ เพื่อพัฒนา วิธีการป้องกันการระบาด ของโรคพืชเศรษฐกิจ ของประเทศไทย

 

นอกจากงานวิจัยแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข ยังมีบทบาทในการ พัฒนาบุคลากร ทางวิทยาศาสตร์ โดยการยกระดับ ขีดความสามารถ ในงานวิจัยของ นักวิทยาศาสตร์ไทย โดยได้จัดการประชุมทางวิชาการ ระดับนานาชาติ 2 ครั้ง รวมผู้เข้า ประชุมประมาณ 800 คน และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ มากกว่า 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุม ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติกว่า 300 คน ในการประชุมได้รับเกียรติ จากนักวิทยาศาสตร์ที่มี ชื่อเสียงหลายท่าน มาร่วมประชุม รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข เป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่อุทิศตน ให้กับการศึกษา ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในประเทศไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เป็นเวลากว่าสิบปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีนิสัยอ่อนน้อม โอบอ้อมอารี ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นที่รักใคร่และเคารพรัก ของผู้ร่วมงานและศิษย์ มีจริยธรรมของนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีประสบการณ์ ที่ทันต่อเหตุการณ์

 

โดยเหตุที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ และคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2541

 


จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๑ : รองศาสตราจารย์ ดร. อภิชาต สุขสำราญ,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2541. ISBN 974-7576-65-1