logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2560

 

งานแสดงความยินดีผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2559

ในวันที่ 13 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดงานแสดงความยินดีดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2559  เนื่องในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล และ ศาสตราจารย์ ทะคุยะ นิฮิร่า ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาว์เวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและการวิจัยเป็นเลิศ ท่านมีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนกว่า 57 เรื่อง ตำราและบทความวิชาการอีกถึง 7 เรื่อง ทั้งยังอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติ จนได้รับการยอมรับและการยกย่องในระดับชาติ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลประเภทวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2520 รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2539 รางวัลบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ สาขาการศึกษาและวิชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี พ.ศ. 2540 รางวัลมหิดลทยากร สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2549 รางวัลนักวิทยาศาสตร์อาวุโส สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ประจำปี พ.ศ. 2553 รางวัลบุคคลดีเด่นด้านส่งเสริมวิทยาศาสตร์ มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. แถบ นีละนิธิ ประจำปี พ.ศ. 2556 และประกาศเกียรติคุณบัตร ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีพ.ศ.2558

ส่วนทางด้านศาสตราจารย์ ทะคุยะ นิฮิร่า นั้นเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกียวกับยีนและกลไกควบคุมการสร้างสารออกฤทธิ์ชีวภาพ ในเชื้อ Monascas รวมถึงการศึกษากลุ่มยีนที่เกี่ยวข้องในการสร้างยาปฏิชีวนะ Virginiamycin ในเชื้อ Streptomyces virginiae การสร้าง vector สำหรับการปรับปรุง autoregulator และศึกษาสายพันธุ์เชื้อในกลุ่ม Actinomycetes โดยเป็นผู้ค้นพบระบบควบคุมการสร้างยาปฏิชีวนะดังกล่าว และเป็นคนแรกที่ค้นพบกลไกที่ autoregulator (ตัวควบคุมสัญญาณ) ส่งผ่านระหว่างเซลล์ของเชื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการผลิตยาปฏิชีวนะในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ ทะคุยะ นิฮิร่า ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยโอซาก้ากับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนในการก่อตั้งหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) และหน่วยความร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (OU:CRS) ซึ่งจัดตั้งที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 และส่งเสริมให้มีการร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณาจารย์ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย รวมทั้งสนับสนุนให้มีการขอทุนทำวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยไทยและนักวิจัยญี่ปุ่น

ทั้งนี้ในงานมีผู้มาร่วมแสดงความยินดีจำนวนไม่น้อย อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ และรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์กล่าวแสดงความยินดีกับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทั้งสองท่าน

 

ถ่ายภาพ : นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร