logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2553

 

ศ.ดร.เดวิด รุฟโฟโล นำทีมเสวนาเรื่อง "พายุสุริยะ"

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2553 เวลา 14.00 น. คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดเสวนา เกี่ยวกับเรื่อง พายุสุริยะ สืบเนื่องจากที่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่อง "พายุสุริยะ" ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2012-2013 ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม จึงได้มีการจัดการ เสวนาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและสื่อมวลชนขึ้นในหัวข้อ "พายุสุริยะภัยร้ายจากดวงอาทิตย์ที่อาจจะเกิดขึ้นบนโลก คนไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร" โดยได้เชิญวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพายุสุริยะและรังสีคอสมิก 3 ท่านได้แก่ ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล" อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ให้ความกระจ่างกับข่าวที่เกิดขึ้น โดยมีสื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์เข้าฟังมากมาย

ศ.ดร.เดวิด รุฟโฟโล จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา ว่า “มีความเป็นไปได้ว่าจะพายุสุริยะจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2554-2560 แต่ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจน จากที่เคยเกิดเมื่อปี 2532 ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกดูสถานการณ์อย่างไม่คลาดสายตา หลายประเทศเดินหน้าตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณนิวตรอนจากพื้นดิน เพื่อทำนายช่วงเวลาเกิดพายุสุริยะ คาดว่าทั่วโลกมีกว่า 40 สถานี รวมถึงประเทศไทยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2551 โดยความร่วมมือของนักฟิสิกส์จาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรของประเทศไทยตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดที่ได้รับรังสีได้มากที่สุด สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 4-6 ชั่วโมง รวดเร็วกว่าองค์การนาซาที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 1.30-40 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุการณ์ ทั้งนี้สถานีเริ่มศึกษาการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิค จากปริมาณนิวตรอนที่วัดได้จากพื้นดิน ข้อมูลจะถูกบันทึกอัตโนมัติโดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ เมื่อมีปริมาณรังสีจำนวนมากก็เป็นไปได้ที่จะเกิดพายุสุริยะ ระบบจะแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับมือ ปัจจุบันสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรยังเก็บข้อมูลแต่ละช่วงเวลา โดยวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเดลาแวในสหรัฐ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งนี้ปริมาณรังสีที่ได้จากการตรวจวัดปัจจุบันมีน้อยมากและเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ยังไม่ก่อให้เกิดความกังวล ต่างจาก 21 ปีก่อนที่ตนเองเริ่มต้นศึกษาพายุสุริยะอย่างจริงจัง หลังเกิดเหตุการณ์พายุสุริยะรุนแรงที่ประเทศแคนาดา จนทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและส่งผลให้ไฟฟ้าดับนานกว่า 9 ชั่วโมง

ด้าน ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ผลกระทบจากปรากฏการณ์พายุสุริยะส่วนใหญ่จะเกิดกับวงการสื่อสาร โทรคมนาคม ดาวเทียมสื่อสาร มนุษย์อวกาศ ระบบควบคุมเครื่องบิน การใช้งานจีพีเอส ระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าที่จะเกิดกับสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ รังสีคอสมิกที่ถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ในระดับความรุนแรงมากในรูปของพายุสุริยะ มีผลให้สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลง ระบบ อิเเล็กทรอนิกส์แปรปรวน มากกว่าที่จะส่งผลกับมนุษย์บนพื้นโลกที่มีโอกาสได้รับรังสีดังกล่าวในปริมาณที่น้อยมาก เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศสามารถป้องกันรังสีดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พายุสุริยะอาจส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบ้าง โดยเฉพาะสัตว์ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กโลกนำทาง ในรูปของเข็มทิศชีวภาพ เช่น นกอพยพ โลมา วาฬ หากเกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะขึ้นจริง นกอาจบินหลงทาง วาฬและโลมาเกยตื้น ทั้งนี้นักชีววิทยาได้ศึกษาผลกระทบดังกล่าวกับผึ้งจำนวนหนึ่งด้วย