logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2559

 

Annual Symposium of TRF Research Team Building Grant (Senior Scholar)
"EnZymes, Systems Biocatalysis and Biorefinery"

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ผู้ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2556 จัดงานประชุมวิชาการภายใต้งาน "EnZymes, Systems Biocatalysis and Biorefinery" โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นักวิจัยจากหน่วยงานภายใน และภายนอก อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาควิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยบูรพา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน บริษัท เบทาโกร จำกัด และสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. เข้าร่วมฟังการบรรยาย จำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน

งานสัมมนาประจำปีครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ภายหลังประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานวิจัยขณะนี้เน้นให้สอดคล้องกับนโยบาย START UP ของรัฐบาล พร้อมทั้งเปิดตัว บริษัท เอนซมาร์ท ไบโอเทค จำกัด เป็นบริษัทที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัยโปรตีนและเอนไซม์มาเป็นระยะเวลานาน และมีผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติเป็นจำนวนมาก กลุ่มวิจัยมีความชำนาญในการวิเคราะห์ รวมไปถึงการศึกษาการทำงานของเอนไซม์มากกว่า 30 ชนิด จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการให้คำปรึกษา การออกแบบพัฒนา และคิดค้นวิธีวัดความสามารถการทำงานของเอนไซม์ที่สนใจ

ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าสารเคมีเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาทต่อปี (ค่า CIF, import stat กรมศุลกากร) protein marker เป็นหนึ่งในสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% ผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทย ทำให้ราคาของ protein marker ที่ใช้มีราคาที่สูง และต้องใช้ระยะเวลานานในการสั่งซื้อ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาและวิจัย จากระยะเวลาที่ได้ศึกษาการทำงานของเอนไซม์มาเป็นช่วงเวลาหนึ่งนั้น จึงทำให้เกิดแนวความคิดในการผลิตและจำหน่าย protein marker ให้กับอาจารย์และนักวิจัยไทย เพื่อทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ Protein marker ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศไทยทำให้นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย สามารถสั่งซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ลดระยะเวลาในการสั่งซื้อ แต่ยังคงมีคุณภาพเทียบเคียงกับต่างประเทศ ต่อจากนั้นเข้าสู่ช่วงการบรรยายตลอดทั้งวัน ในปีนี้มีผู้บรรยายจากหลากหลายสถาบันจำนวน 13 ท่านและจำนวนโปสเตอร์ 12 ผลงาน  

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และทีมวิจัย ค้นพบประโยชน์จากเอนไซม์
สร้างนวัตกรรมเพื่อนักวิจัยไทย ส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ

ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สังกัดภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์” ซึ่งค้นพบว่า เอนไซม์ที่ทำการศึกษาทุกตัวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ พลังงาน และอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน อันได้แก่ 1) กลุ่มเอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางยาหรือสารเคมีที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีสะอาด 2) กลุ่มเอนไซม์ที่มีประโยชน์ในกระบวนการเปลี่ยนผลผลิตเหลือใช้จากการเกษตรให้เป็นสารเคมีหรือพลังงานที่มีประโยชน์ เพื่อเพิ่มความยั่งยืนของภาคการผลิตในประเทศไทย และยังเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก 3) กลุ่มเอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เป็นตัวตรวจวัดชีวภาพ และ 4) กลุ่มเอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายใหม่สำหรับยาต้านเชื้อมาลาเรีย เพื่อคัดเลือกหาตัวยับยั้งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพ อาจสามารถนำไปสู่การค้นพบยาต้านมาลาเรียตัวใหม่ ซึ่งความก้าวหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับเอนไซม์และการนำไปใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ไทย

ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางด้านงานวิจัยที่เกี่ยวกับเอนไซม์ของศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ทำให้มีผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ทางกลุ่มวิจัยยังได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อนักวิจัยไทย สร้างผลิตภัณฑ์ โปรตีนมาร์คเกอร์ จึงเกิดสตาร์ทอัพของกลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในนามของบริษัทเอนซมาร์ท ไบโอเทค จำกัด ทำการผลิตโปรตีนมาร์คเกอร์ขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากโปรตีนมาร์คเกอร์เป็นโปรตีนมาตรฐานที่มีความจำเป็นสำหรับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ งานวิเคราะห์คุณภาพอาหาร และงานทางการแพทย์ที่มีการศึกษาและวิเคราะห์โปรตีน แต่ที่ผ่านมาโปรตีนมาร์คเกอร์เป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทย ทำให้มีราคาสูงและต้องใช้ระยะเวลานานในการสั่งซื้อ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาและวิจัย ซึ่งการคิดค้นนวัตกรรมนี้จะทำให้นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย สามารถสั่งซื้อโปรตีนมาร์คเกอร์ได้ในราคาที่ถูกลง ลดระยะเวลาในการสั่งซื้อ และยังคงมีคุณภาพเทียบเคียงกับต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัท เอนซมาร์ท ไบโอเทค จำกัด ยังมีแผนในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับงานทางด้านวิจัย เช่น ชุดตรวจวิเคราะห์เอนไซม์เพื่อนักวิจัยไทยและต่างชาติ

ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น กล่าวว่า การผลิตโปรตีนมาร์คเกอร์ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของบริษัทเอนซมาร์ท ไบโอเทค จำกัด จึงเป็นตัวอย่างของการดำเนินการวิจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความต้องการของตลาดวิจัยไทยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า ทำให้เกิดการจ้างงาน อีกทั้งส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในหมู่นักวิจัยรุ่นใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน

ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว : นางสาวพนารัตน์ เตชะเลิศสุวรรณ, นางสาวจิณนพัฒ มหานนท์
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร