"We are just an advanced breed of monkeys on a minor planet of a very average star. But we can understand the Universe. That makes us something very special." ตอนหนึ่งในการพูดคุยของศาสตราจารย์ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ศาสตราจารย์ Lucasian แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge นักฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาชาวอังกฤษ อัจฉริยะแห่งยุค ผู้เสนอ "ทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง" (Theory of everything ) และค้นพบปรากฏการณ์ "การแผ่รังสีฮอว์คิง" (Hawking Radiation) เจ้าของหนังสือขายดี "ประวัติย่อของกาลเวลา" (A Brief History of Time) และ "จักรวาลในเปลือกนัท" (The Universe in a Nutshell) เมื่อครั้งที่กล่าวถึงกับการสำรวจห้วงอวกาศ และขอบเขตของศักยภาพมนุษย์ กับ German paper Der Spiegel หนึ่งในนิตยสารรายสัปดาห์ยักษ์ใหญ่ของยุโรป ในปี ค.ศ. 1988
ประวัติโดยย่อ ศาสตราจารย์ สตีเฟน ฮอว์คิง เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี ค.ศ. 1942 โดยขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมารดาได้ตั้งท้อง บิดาซึ่งเป็นนักชีววิทยาได้พาครอบครัวย้ายไปที่เมือง Oxford เพราะเห็นว่าปลอดภัยกว่า จนสตีเฟนอายุ 8 ปี ก็เข้าศึกษาที่ St. Albans of Girls ก่อนจะย้ายไปเรียนที่โรงเรียน St. Albans เมื่ออายุครบ 10 ปี จากนั้นได้สอบเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสาขาฟิสิกส์ ณ มหาวิทยาลัย Oxford และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เนื่องจากเค้ามีความสนใจด้านจักรวาลที่เป็นอย่างมาก เขาจึงได้ตัดสินใจเรียนต่อด้านจักรวาลที่ Trinity College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่ Cambridge นี้เอง สตีเฟนก็รู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายและได้เข้าพบแพทย์ ทำให้ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis: ALS) รูปแบบหนึ่งของโรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor Neurone Disease: MND) แต่ในความโชคร้ายของเขาก็ยังได้พบรักกับ เจน ฮอว์คิง และแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1964 โดยมีลูกด้วยกัน 3 คน หลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Cambridge ศาสตราจารย์ฮอว์คิงใช้ชีวิตคู่ร่วมกับภรรยาคนแรกนานถึง 20 ปี ก่อนจะหย่าแล้วแต่งงานกับภรรยาคนที่สองในปี ค.ศ. 1995 หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็ยังคงยังคงมุ่งมั่นทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจักรวาลอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 76 ปี
ตลอดช่วงชีวิตของศาสตราจารย์ฮอว์คิง ได้ฝากผลงานให้คนรุ่นหลังไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง (Theory of everything) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าจักรวาลมีวิวัฒนาการตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอนชุดหนึ่ง รวมถึงการค้นพบปรากฏการณ์ "การแผ่รังสีฮอว์คิง" โดยใช้ทฤษฎีสัมพันธภาพและหลักกลศาสตร์ควอนตัมในการอธิบายว่า หลุมดำขนาดเล็ก ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 – 15 เมตร และหนักถึง 109 ตัน สามารถเกิดการรั่วไหลของพลังงานจนค่อยๆ ระเหยหมดไปในที่สุด ทำให้เขาได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society ในขณะที่อายุเพียง 32 ปี นอกจากนั้นยังเป็นผู้เขียนหนังสือ "ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time)" ที่ว่าด้วยการอธิบายเกี่ยวกับจักรวาลอย่างง่าย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยยอดขายกว่า 10 ล้านเล่ม และติดอันดับหนังสือขายดีถึง 5 ปีเป็นอย่างน้อย โดยในขณะที่ต้นฉบับหนังสือเสร็จสมบูรณ์นั้น เขาก็ขยับตัวไม่ได้แล้ว และต้องพูดผ่านอุปกรณ์สังเคราะห์เสียงเนื่องจากเข้ารับการผ่าตัดเจาะคอ หลังจากนั้นจึงเขียนเรื่อง "จักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell)" ซึ่งเป็นหนังสือติดอันดับขายดีเช่นกันในเวลาต่อมา
นอกจากจะเป็นอัจฉริยะทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ศาสตราจารย์ฮอว์คิง ยังเป็นผู้ที่มีพลังใจที่เต็มเปี่ยมอีกด้วย ถึงแม้จะพบว่าตนเองป่วยด้วยโรค ALS ตั้งแต่อายุเพียง 21 ปี ทำให้เขากลายเป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว และต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่บนรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นค้นคว้าทางด้านฟิสิกส์อย่างไม่ย่อท้อ ถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนนักศึกษานานาประเทศ และผู้พิการผ่านสื่อและการบรรยาย เช่น ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ฮอว์คิง ได้กล่าวไว้ขณะบรรยายให้กับ Hong Kong University of Science and Technology ในปี ค.ศ. 2006 ว่า "However bad life may seem, there is always something you can do, and succeed at. While there's life, there is hope." และเมื่อครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ในปี 2011 ว่า "My advice to other disabled people would be, concentrate on things your disability doesn't prevent you doing well, and don't regret the things it interferes with. Don't be disabled in spirit, as well as physically." ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนไปทั่วโลก
เพื่อรำลึกถึงนักวิทยาศาสตร์แห่งยุค ผู้อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับการไขปริศนาของจักรวาล สร้างสรรค์งานเขียนอันน่าทึ่ง รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Café ตอน A Brief History of the Greatness: Stephen Hawking ในวันพุธที่ 21 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเชษฐ กิจธารา และอาจารย์ สุจินต์ วังสุยะ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และแพทย์หญิงฐานิตา ทองตัน ผู้ช่วยอาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ตลอดการเสวนา มีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live โดยสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/MahidolSC.
ภาพถ่าย : นายมานะ ไผ่มณี, นางสาวปัณณพร แซ่แพ, นางสาว จิณนพัฒ มหานนท์
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ทีมวิทยากร Science Café
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร