logo
เสวนา Science Café เรื่อง "Superbugs are coming" เชื้อดื้อยา มันมาแล้ว

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2559

 

เสวนา Science Café เรื่อง "Superbugs are coming" เชื้อดื้อยา มันมาแล้ว

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เวลา 13:30-14:30 นาฬิกา ณ ห้อง N 101 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) จัดเสวนาบรรยากาศสบายๆ ในรูปแบบ Science Café ในหัวข้อเรื่อง "Superbugs are coming : เชื้อดื้อยามันมาแล้ว" ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร มาธรรม หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสรยา จาตุรงคกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมให้ข้อมูลในการเสวนาครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสรยา จาตุรงคกุล อธิบายว่า เนื่องจากมีรายงานพบ Superbug หรือแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้หลายกลุ่ม ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ประชาคมโลกตื่นตัวถึงความสำคัญของการดื้อยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา colistin ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นยาสุดท้ายที่เราเอาไว้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ยา colistin เป็นยาต้านแบคทีเรียที่มนุษย์รู้จักมานานมากแล้วแต่ไม่เป็นที่นิยมใช้ เพราะเชื้อจะเกิดการดื้อยาได้ง่ายมาก และมีผลข้างเคียงสูง แต่ประมาณ 10 ปีเศษมานี้ วงการแพทย์จำเป็นต้องนำมันกลับมาใช้ใหม่เพราะเชื้อก่อโรคมีการดื้อต่อยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถผลิตยาชนิดใหม่ๆมาใช้ได้ทัน มีการคาดการณ์ว่าในแต่ละปี คนไทยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา ประมาณ 19,000-38,000 คน มีรายงานการค้นพบยีนดื้อยาใหม่ การค้นพบ Superbug ชนิดใหม่ หรือการคาดการณ์ว่าภายใน 35 ปี ข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ Superbug ถึง 10 ล้านคน (มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง ซึ่งประมาณไว้ที่ 8 ล้านคน) ครึ่งหนึ่งนั้นเป็นประชากรในทวีปเอเชีย แนวทางแก้ปัญหาทุกคนช่วยกันลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ด้วยการไม่ใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็นไม่ว่าเราจะเป็นผู้ป่วยหรือแพทย์ผู้สั่งใช้ยา โรคหลายกลุ่มไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาต้านจุลชีพเช่น หวัด เจ็บคอ จากเชื้อไวรัส ท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ

แนวทางการป้องกันที่บุคคลทั่วไปทำได้คือ พบแพทย์เพื่อใช้ชนิดยาและขนาดยาที่เหมาะสม รับประทานยาให้ครบ ถึงแม้อาการป่วยจะหายแล้วก็ตาม รักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด (เช่น ล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารปรุงสุก ไม่คลุกคลีกับคนป่วยโดยปราศจากการป้องกัน) เมื่อจะใช้ต้องใช้อย่างถูกต้อง และโรงพยาบาลต่างๆต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การได้รับการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ องค์กรและบุคคลากรทางสาธารณสุข (เช่น โรงพยาบาล แพทย์ เภสัชกร) และภาคอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหาร รวมถึงการควบคุม การซื้อยาต้านจุลชีพมาใช้เองแบบไม่เหมาะสม ก็จะยิ่งส่งเสริมให้คนไทยตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น การบรรยายเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาและบุคลาครผู้ปฏิบัติงาน 

:: สรุปผลประเมินกิจกรรม Science Cafe เรื่อง "Superbugs are coming เชื้อดื้อยา มันมาแล้ว" ::

ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว : นางสาวพนารัตน์ เตชะเลิศสุวรรณ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร