logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2553

 

มหิดลได้รับการประเมินผลรวมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีคะแนนระดับดีเยี่ยมสูงสุด
จากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยระดับดีเยี่ยม จาก สกว.

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 รองศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุมาล จงธรรมคุณ รองคณบดีฝ่ายวิจัย แพทยศาสตร์และบัณฑิตศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์ราม รามสูต รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นผู้แทนส่วนงานมหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับเกียรติบัตรจากศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย และ ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ณ ห้องกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ

สกว.ประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งผลรวมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีคะแนนระดับดีเยี่ยมสูงสุดจากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยดีเยี่ยม และได้รับเกียรติบัตรในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล  2. กลุ่มสาขาแพทยศาสตร์ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล และ 3. กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยสาขาวิชา ในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับผลการประเมินฯ ระดับดีเยี่ยมมีดังนี้ กลุ่มวิทยาศาสตร์  ได้แก่  สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาเคมี และสาขาวิชาฟิสิกส์ จากคณะวิทยาศาสตร์ กลุ่มแพทยศาสตร์  ได้แก่สาขาศัลยศาสตร์  จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  สาขาอายุรศาสตร์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน  กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ สาขาพรีคลินิก จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ จากคณะเภสัชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน สาขาเภสัชศาสตร์จากคณะเภสัชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด จากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกลุ่มเทคโนโลยีได้แก่สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์

รองศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ ได้กล่าวถึงผลการประเมินในครั้งนี้ว่า “รู้สึกดีใจที่มีการประเมินคุณภาพจากความสามารถของนักวิจัยจริงๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างวัฒนธรรมการวิจัยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ผลงานของมหาวิทยาลัยในครั้งนี้จึงเป็นผลที่ควรจะได้รับ เพราะนักวิจัยต่างทุ่มเทกันมาโดยตลอด และเราไม่เพียงแต่ดูจำนวนผลงานตีพิมพ์ หากแต่ยังได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างแท้จริง เช่น ผลงานวิจัยในกลุ่มสาขาแพทยศาสตร์ เราก็ได้มีการนำไปสอนนักศึกษาแพทย์และนำไปใช้กับผู้ป่วยจริงๆ ทั้งในส่วนของเทคนิคการรักษาผู้ป่วยและเครื่องมือผ่าตัด

ที่สำคัญคือผู้บริหารโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดลมีวิสัยทัศน์สูง ทำให้มหาวิทยาลัยก้าวมาถึงทุกวันนี้ได้ ซึ่งจากนี้ไปมหาวิทยาลัยมหิดลจะต้องพัฒนาปรับปรุงในส่วนที่ยังด้อยอยู่ และลงทุนกับส่วนที่เป็นจุดแข็งโดยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อไป”

ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เปิดเผยถึงวิธีการและผลการประเมินฯ ครั้งนี้ว่า  “สกว.ได้กำหนดให้ใช้สาขาวิชาเป็นหน่วยประเมิน เนื่องจากมีความแม่นยำ และหากนำผลหลายสาขาวิชามารวมกันก็จะได้ผลระดับคณะ วิชาและมหาวิทยาลัยตามลำดับ”

ในปีนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วมประเมินมากถึง 436 หน่วย จากมหาวิทยาลัย 36 แห่ง ข้อมูลที่ใช้ประเมิน คือ บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ และ Proceedings ระดับนานาชาติและระดับชาติ ซึ่งมีการถ่วงน้ำหนักไม่เท่ากัน ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ วารสารวิชาการนานาชาติ ซึ่งให้น้ำหนักเป็น 1 จนถึง Proceedings ระดับชาติ ซึ่งให้น้ำหนักน้อยที่สุดเป็น 1/8 นอกจากนี้ยังพิจารณาในส่วนของสิทธิบัตรด้วย โดยใช้น้ำหนักตั้งแต่ 1 สำหรับสิทธิบัตรที่จดระดับนานาชาติ จนถึงอนุสิทธิบัตรซึ่งให้น้ำหนักเป็น 1/4

ในการประเมินจะป้อนข้อมูลเป็นรายบทความ มีข้อมูลระบุประเภทของวารสาร และสัดส่วนผลงานในบทความนั้นของหน่วยงานที่เข้าร่วมประเมินด้วย ทำให้ได้ปริมาณงานของหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินอย่างแท้จริง ผลการประเมินจะได้ค่าตามตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัว ซึ่งค่าแต่ละตัวชี้วัดของแต่ละสาขาวิชาจะนำมาเรียงจากสูงถึงต่ำ และตัดเกรดเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 5 = ดีเยี่ยม ระดับ 4 = ดีมาก ระดับ 3 = ดี ระดับ 2 = พอใช้ ระดับ 1 = ควรปรับปรุง ทั้งนี้ค่าที่ได้ หรือ rating ของแต่ละตัวชี้วัดจะนำมารวมกันโดยถ่วงน้ำหนัก 30: 20: 30: 20 ค่าที่ได้เรียกว่า TRF Index ซึ่งจะมีการแปลงเป็น rating 1-5 อีกทีหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายภาควิชาในอีกหลายคณะฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการประเมิน ในระดับ 4 เชื่อว่า ในครั้งหน้า ชาวมหิดลคงได้รับการประเมินฯ เพิ่มขึ้นเพราะการวิจัย เป็นหัวใจของชาวมหิดลอยู่แล้ว

สกว. ชู "จุฬาฯ-มหิดล" คุณภาพผลงานวิจัยดีเยี่ยม

ข่าวประชาสัมพันธ์จากผู้จัดการ Online