logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2560

 

คณะวิทย์ร่วมงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพบผู้ใช้”

งาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพบผู้ใช้” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิล์ด เกิดจากความร่วมมือของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ 4 มหาวิทยาลัยในเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายกว่า 110 นิทรรศการ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่เป็นจุดแข็งของประเทศตามโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมจัดแสดงผลงานในกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-based Economy)

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์วิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เจ้าของผลงานชุดทดสอบความปลอดภัยในอาหารและเครื่องสำอาง ผลงานจัดแสดงในกลุ่ม (Bio-based Economy) ได้เปิดเผยว่า ชุดทดสอบความปลอดภัยในเครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากผลงานวิจัยขั้นพื้นฐาน ผสานกับความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงปัญหาและข้อจำกัดในการใช้งานชุดทดสอบ การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงเน้นให้ใช้งานได้สะดวก มีประสิทธิภาพสูง และขายในราคาที่จับต้องได้ เพื่อช่วยให้คนในสังคมสุขภาพดีจากการใช้ผลิตภันฑ์ที่ปลอดภัย ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นการสร้างผลกระทบในเชิงบวกกับเศรษฐกิจและสังคมไทยอีกด้วย

นอกจากนี้นางสาวธารทิพย์ เอี่ยมสะอาด นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักศึกษาภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานหมอนอัจฉริยะเพื่อตรวจสุขภาพการนอน และรองเท้าอัจฉริยะ หนึ่งในผลงานจัดแสดงในกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) กล่าวว่า หมอนอัจฉริยะนี้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Sleep lab test โดยขณะใช้งานเซ็นเซอร์ที่ปลอกหมอนจะบันทึกการเปลี่ยนแปลงท่านอน และความผิดปกติขณะนอนหลับ เช่น การนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แล้วจึงแปลผลเป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งผู้ใช้สามารถนำบันทึกผลการประเมินประสิทธิภาพการนอนที่ได้ไปปรึกษาแพทย์ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลารอทำ Sleep lab test ที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ตลอดงานมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการอย่างคับคั่งทั้งคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ผู้ประกอบการจากภาครัฐและภาคเอกชน สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไป

 

ถ่ายภาพ : นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร