เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2559 เวลา 13:00 – 16:00 น. ณ ห้องประชุม 201 อาคารพรีคลินิก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันเปิด "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" หรือ "Excellent Center for Drug Discovery: ECDD" โดยเป็นการประสานความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในอันที่จะรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวในช่วงหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง จึงได้กำหนดนโยบาย "10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth)" เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งส่งเสริมการเพิ่มการลงทุนในการผลิตคิดค้นยา การขับเคลื่อนดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบนฐานความร่วมมือของกลไกประชารัฐ ดังนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างโอกาส ลดจุดอ่อน ต่อยอดความเข้มแข็งของประเทศที่มีอยู่ จึงมีนโยบายให้บูรณาการการดำเนินงานเพื่อให้ได้ผลผลิตแบบมุ่งเป้า โดยได้มอบหมายให้ TCELS ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนางานด้านดังกล่าว ร่วมผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและขยายความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น จนนำมาสู่การเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศด้านค้นคว้ายาในวันนี้
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งศูนย์ ECDD ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ที่สามารถนำมาศึกษาพัฒนาเป็นเภสัชภัณฑ์ในการรักษาโรคหลายโรคที่การรักษาในปัจจุบันยังไม่มี ประสิทธิภาพหรือไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงต้นน้ำที่จำเป็นในการนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มาค้นหาให้เป็นตัวยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์กรมหาชน) หรือ TCELS จึงได้มีบันทึกความเข้าใจ กับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกันจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" หรือ "Excellent Center for Drug Discovery: ECDD"
เพื่อรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรคและการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา โดยใช้เทคโนโลยีด้านเซลล์ที่ทันสมัย และมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถค้นหาตัวยาได้ และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนายาในขั้นต่อไป
ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายจ่ายในด้านการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ถึงปีละกว่าแสนล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาได้เอง ยาบางชนิดโดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง มีราคาสูงมาก ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราจะมีการวิจัยและพัฒนายาเองเพื่อลดรายจ่ายจากต่างประเทศ ตลอดจนสามารถส่งออกได้ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ประชาชาติมากขึ้น สามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ และยังจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางด้านการส่งเสริมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ ซึ่ง นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่าการต่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยานี้ สอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์การเภสัชกรรม คือ การส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการผลิตยาและเวชภัณฑ์
รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการสนับสนุนการวิจัยที่ต่อเนื่องและมากพอเพื่อให้เกิดการค้นพบยาใหม่ อีกทั้งยังขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินงานของ "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น นักเคมี แพทย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีการจัดตั้งระบบที่มีมาตรฐานในระดับสากลเพื่อการเก็บรวบรวมสารเคมีที่สกัดจากสมุนไพร ทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่าง ๆ สารสังเคราะห์และสารคัดแปลงโครงสร้าง จากนักเคมีทั่วประเทศ การพัฒนาระบบการตรวจวัดฤทธิ์ทางยาของสารในระดับห้องปฏิบัติการ เช่น ระบบการทดสอบฤทธิ์ของสารกับเซลล์มะเร็งกว่า 100 ชนิด การศึกษาพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรีย และการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม ตลอดจนโรคอื่นๆที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถทำการทดสอบได้ปริมาณมากในเวลาที่สั้น โดยสารส่วนหนึ่งที่ทดสอบฤทธิ์ในการป้องกันและรักษาโรคเป็นสารองค์ประกอบในอาหาร อันจะทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นและสุขภาพ ซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามโครงการฟู้ดอินโนโพลิส หรือ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่ค้นพบฤทธิ์ของยาในระดับโมเลกุล แต่ไม่สามารถเข้าสู่ clinical trial ได้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังต้องการ National Clinical Research Organization (National CRO) เพื่อจะส่งเสริมงานวิจัยให้เข้าสู่ clinical trial ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย สามารถผลิตยาได้เอง ดังนั้นบทบาทของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการร่วมมือกับ ECDD คือ พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของศูนย์ในส่วนของการนำสารที่ค้นพบฤทธิ์ทางยา ไปทดสอบในระดับ clinical study ทั้งนี้รวมถึง first-in-human phase I study, phase II และ III ตามลำดับไป โดยในส่วนของ early phase clinical trial จะทำในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหลัก และ ขยายความร่วมมือออกไปในส่วนของ phase II และ III ในลักษณะของ multicenter study ซึ่งรามาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนยาต่อไปในอนาคต
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทยคือการมีทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านสมุนไพร และเมื่อผนวกกับระบบการวิจัยและพัฒนายาที่ได้มาตรฐานของศูนย์ ECDD ที่สามารถทำให้เข้าใจกลไกในการออกฤทธิ์ และวิธีการควบคุมมาตรฐานปริมาณตัวยาที่ออกฤทธิ์ในแต่ละสูตรตำรับให้คงที่ จึงทำให้เราได้เปรียบต่างชาติ และจะสามารถผลิตยาสมุนไพรได้ ซึ่งโปรดักแชมเปี้ยนที่สามารถจะพัฒนาเป็นยาสมุนไพรตัวแรกคือ ขิง ซึ่งภายใน 4 ปี น่าจะสามารถจดสิทธิบัตรและเป็นยาเม็ดแรกของประเทศไทย เพื่อใช้บรรเทาอาการข้างเคียงจากยารักษาโรคมะเร็ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
Excellent Center for Drug Discovery
2nd Floor PR Building, Faculty of Science Mahidol University
272 Rama VI Rd., Ratchathewi, Bangkok 10400, THAILAND
Phone: +66 2201 5568-9
Website: ecdd.sc.mahidol.ac.th E-mail: ecdd@mahidol.ac.th
Thailand Center of Excellence for Life Sciences (Public Organization)
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
ชั้น 22 อาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 69 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
กรุงเทพฯ 10400
ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว : นางวริศรา ทาทอง
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร