logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2561

 

เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่และก้าวที่สำคัญของวงการนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย
เมื่อคณะวิทยาศาสตร์มหิดลเป็น 1 ใน 3 แกนนำหลัก ร่วมลงนามการเปิด ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND)

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศที่สร้างบัณฑิตตั้งแต่ระดับปริญาญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก รวมทั้งศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอีกหนึ่งก้าวกระโดดในการสร้างนวัตกรรมการแพทย์ของประเทศไทย จึงเกิดความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินการเปิด "ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND) " เพื่อทำศึกษาวิจัยสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งการวินิจฉัยโรค การรักษา และการดูแลสุขภาพของประชาชน ในวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ นอกจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึง การศึกษาไทยในยุค4.0 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึง การใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่กับนวัตกรรมทางการแพทย์ ในยุค 4.0 ก่อนพิธีลงนาม

โดยผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ของคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อตกลงในครั้งนี้ได้แก่

  1. เครื่องวินิจฉัยโรคจากกลิ่นจากร่างกายมนุษย์โดยใช้จมูกอีเล็กโทรนิค (Electronic Nose Technologies for Health Monitoring and diagnosis)  กลิ่นเกิดจากไอระเหยของสารประกอบทางเคมี กลิ่นแต่ละกลิ่นก็มีรูปแบบขององค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันไป จมูกอิเลคทรอนิกส์สามารถเลียนแบบการดมกลิ่นด้วยจมูกของมนุษย์ โดยการทำงานของชุดเซนเซอร์ แล้วเปลี่ยนข้อมูลองค์ประกอบทางเคมีของกลิ่นให้เป็นข้อมูลดิจิทัล ซึ่งในทางการแพทย์นั้น กลิ่นจากร่างกายของมนุษย์สามารถที่จะบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพ ความผิดปกติของร่างกายหรือการเป็นโรคได้ School of Material Science and Engineering โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรเกียรติ เกิดเจริญ และคณะ ได้พัฒนาจมูกอิเลคทรอนิกส์ เพื่อบ่งชี้หรือคัดกรองโรคต่างๆ โดยตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยที่ผิดปกติจากร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่ การตรวจวัดมะเร็งตับจากลมหายใจ การตรวจวัดเบาหวานจากกลิ่นปัสสาวะ เป็นเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคที่มีความแม่นยำสูง และมีราคาไม่สูงมาก ช่วยให้การตรวจคัดกรองโรคทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  2. หมอนและที่นอนอัจฉริยะ สำหรับตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ (Smart Pillow-Sheet and Technologies for Sleep Monitoring) “หมอนและที่นอนอัจฉริยะ” เป็นการผสานเทคโนโลยีเซ็นเชอร์เข้ากับเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เราสามารถวัดประสิทธิภาพการนอนหลับได้ด้วยตนเองที่บ้าน ด้วยเซนเซอร์ที่ซ่อนตัวอยู่ใน “หมอนและที่นอนอัจฉริยะ” จะตรวจวัดการนอนหลับว่าเราหลับลึกหรือหลับตื้นอย่างไร วัดการนอนกรน และวัดอัตราการหายใจเข้า-ออก โดยไม่รบกวนการนอนหลับ ตลอดจนอาการหยุดหายใจขณะหลับซึ่งเป็นสาเหตุของการไหลตายได้ ทำให้ทราบระดับความรุนแรงของโรค ใช้ประโยชน์ในการประเมินอาการ และติดตามอาการ เพื่อการเผ้าระวังดูแลสุขภาพ
  3. ดีเอ็นเอชิพสำหรับตรวจคัดกรองเชื้อแบคทีเรียดื้อยา (DNA chip for drug resistant bacteria detection)  ปัจจุบันปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาทั้งในประเทศไทยและโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากลัวเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยจากการติดเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเลือกตัวยาปฏิชีวนะในการรักษา เนื่องจากต้องมีการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นเชื้อดื้อยากลุ่มใด ซึ่งวิธีมาตรฐานที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิกขณะนี้ต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน ดังนั้น School of Material Science and Engineering โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ และคณะ จึงได้พัฒนา “ชุดตรวจยีนดื้อยาของเชื้อโดยดีเอ็นเอชิพ Zensoray” ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างยิ่ง
  4. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery, ECDD) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ECDD จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน ชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีฤทธิ์เป็นยาทั้งจากสารสกัดจากธรรมชาติและสารสังเคราะห์ โดยการใช้เทคโนโลยีแบบ High-Throughput Screening (HTS) ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจสอบสารออกฤทธ์ที่สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตยาได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อการพัฒนายาของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต ECDD ยังให้บริการทดสอบหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ โดยใช้เทคโนโลยีเซลล์ (Cell-based technology) ทั้งในเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ในรูปแบบสองมิติและสามมิติ (Cancer spheroids and organoids) รวมทั้งยังเป็นศูนย์รับฝากสารสังเคราะห์และสารสกัดจากธรรมชาติ กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อีกด้วย

ภาพถ่าย : นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว : งานวิจัย /นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ตรวจสอบโดย : ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
เว็บมาสเตอร์ : นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม