ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร. ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย เกิดเมื่อวันที่
31 ตุลาคม 2516 ที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่สามของนายณรงค์ชัย
และนางพรศรี ตันติรุ่งโรจน์ชัย จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวิบูลย์เสรีวิทยา
มัธยมศึกษา จากโรงเรียนทวีธาภิเศก
ในระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกนานาชาติ
ที่เมืองโกรนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์
จบปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเคมี
(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ในปี 2538 หลังจากนั้นได้บรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรับทุนพัฒนาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาเคมีทฤษฎี
ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร
จนจบปริญญาเอก เมื่อปี 2542 โดยทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ
"การศึกษาสารประกอบเชิงซ้อนที่ยึดจับกันอย่างอ่อน"
(Theoretical studies of weakly bound
complexes) โดยมี Professor A.D. Buckingham,
F.R.S เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และในช่วงเดือนพฤษภาคม
2544 - กรกฎาคม 2545 ได้รับทุนสนับสนุนจาก
German Academic Exchange Services
(DAAD) เพื่อเข้าอบรมโครงการ 37th International
Seminar on Research and Teaching in
Physical Chemistry and Chemical Engineering
ณ มหาวิทยาลัย Karlsruhe ประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน
ภายหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก
ดร. ยุทธนาได้กลับมาทำงานที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปัจจุบัน
ดร. ยุทธนามีส่วนร่วมในการเรียนการวิจัยของหลักสูตรบัณฑิตศึกษาเคมีเชิงฟิสิกส์
โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาเคมีเชิงฟิสิกส์
(นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการริเริ่มงานวิจัยทางด้านเคมีคำนวณ
ณ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
และได้มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี
(PERCH)
งานวิจัยที่ ดร. ยุทธนามีส่วนร่วม
เกี่ยวข้องกับการประยุกต์การคำนวณเทคนิคทางเคมีควอนตัม
เพื่อใช้ศึกษาสมบัติพื้นฐานของโมเลกุลและศึกษาอันตรกิริยาระหว่างโมเลกุล
ซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับสมบัติไฟฟ้าและแม่เหล็กของโมเลกุล
มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของระบบโครงสร้างระดับนาโนเมตร
ในขณะที่ความเข้าใจเกี่ยวข้องกับอันตรกิริยาระหว่างโมเลกุล
ช่วยให้การพัฒนาออกแบบตัวยาและตัวเร่งปฏิกิริยาทางอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีเหตุผลมากขึ้น
โดยได้มีการศึกษาถึงผลของสนามไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารโมเลกุลเล็ก
เพื่อใช้อธิบายการจัดตัวของโครงสร้างเมื่อเข้าทำปฏิกิริยา
ความสัมพันธ์ของโครงสร้างต่อการนำไฟฟ้าในโมเลกุล
ผลของสนามแม่เหล็กจากโมเลกุลลักษณะเป็นวงแหวนต่อสมบัติแม่เหล็กของโมเลกุลที่วิ่งลอดผ่าน
งานวิจัยพื้นฐานทางเคมีเกี่ยวข้องกับระเบียบวิธี
density functional theory ที่ ดร.
ยุทธนาศึกษา ได้รับการอ้างถึงในหนังสือวิชาการนานาชาติ
2 เล่ม (Essentials of Computation
Chemistry โดย C.J. Cramer และ A Chemist's
Guide to Density Functional Chemistry
โดย W. Koch & M.C. Holthausen)
ปัจจุบัน ดร.
ยุทธนา เป็นหนึ่งในนักวิจัยกลุ่มเมธีวิจัยอาวุโส
ของรองศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล
จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2548 : ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2548. ISBN 974-9941-09-8 |