logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์
(Professor Dr. Yodhathai Thebtaranonth)

รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. ปี พ.ศ. 2544
รางวัลผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงโดยรวมสูงสุด
ของบทความระหว่าง ปี ค.ศ.1990 ถึงปัจจุบัน
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์

 

ประวัติส่วนตัว
เกิดวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพมหานคร ศึกษาในระดับประถม และมัธยม จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี (2508) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี (2511) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) และปริญญาวิทยาศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี (2515) จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนโคลัมโบ (Colombo Plan Scholarship) จากนั้นได้ฝึกอบรมการวิจัย ระดับ Post-doctoral Training ทางสาขาวิชาออร์แกโน-เมทาลิค (Organo-metallic Chemistry) (2518-2519) ณ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ประวัติการทำงานและการวิจัย
เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่จบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ระดับ 11 ในสาขาวิชาเคมี

 

ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน และการวิจัยอย่างจริงจัง โดยนอกจากจะเป็นอาจารย์เคมี ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ที่ลึกซึ้งเฉพาะทาง และทันสมัยให้กับนักศึกษาเคมี ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่อุทิศตนอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ในการถ่ายทอด และเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าทางวิชาการทุกด้าน ให้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ อย่างเต็มกำลัง โดยได้มีบทบาทเป็นวิทยากร ในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหลากหลายระดับ เป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กและเยาวชน และปวารณาตน เป็นวิทยากรใน Science Lecture สัญจรไปในต่างจังหวัด เพื่อให้ความรู้ ประกอบการสาธิตทางเคมี ให้กับเยาวชนผู้สนใจวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

 

ในด้านการวิจัย ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ทำหน้าที่ควบคุมการวิจัย ของนักศึกษาระดับ ปริญญาตรี โท และเอก โดยได้รับทุนวิจัยจากทั้งในประเทศ และจากองค์การระหว่างประเทศ หลายแห่ง ทำการวิจัยที่เน้นทางด้าน การค้นหาสารเคมีจากธรรมชาติ ที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive Natural Products) และทางด้านการสังเคราะห์ (Organic Synthesis) สารออกฤทธิ์ดังกล่าว ซึ่งงานทางด้าน Natural Products ได้นำไปสู่การเข้าใจชีวสังเคราะห์ (Biosynthesis) ของวิธีการ ที่พืชผลิตสารเหล่านั้นขึ้นมา ส่วนทางด้าน Organic Systhesis ก็นำไปสู่การค้นพบ ปฎิกิริยาเคมีที่สำคัญ อันนำไปสู่การสังเคราะห์สารเคมี ที่มีโครวสร้างซับซ้อนอย่างได้ผล จากผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ได้รับพระราชทานรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2529 และรับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน (ASEAN Outstanding Scientist and Technologist Award) เมื่อปี พ.ศ. 2538 ด้วยชื่อเสียงอันเป็นที่ยอมรับยกย่อง ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย จึงได้รับเชิญให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ สอน ณ มหาวิทยาลัยเกาหลี เป็นผู้เชี่ยวชาญ ณ ห้องปฎิบัติการยาเสพติด แห่งสหประชาชาติ เป็น Visiting Lecturer บรรยายในหลายมหาวิทยาลัย ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นองค์ปาฐก Jeffery Lectures, The University of New South Wales, Chemical Society ประเทศออสเตรเลีย ตลอดจนได้รับเชิญเป็น Plenary, Keynote และ Invited Lecturer ในการประชุมวิชาการที่สำคัญ ระดับโลกอยู่เป็นนิจ

 

แม้ว่าจะเป็นนักวิจัยชั้นนำ ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ยังคงแน่วแน่มุมานะ ดำเนินการวิจัยอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่องเสมอมา โดยได้รับทุนนักวิจัยอาวุโส จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน และด้วยการสนับสนุนจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) จึงได้ จัดตั้ง ห้องปฎิบัติการทรัพยากรชีวภาพ (Bioresources Research Unit; BRU) ขึ้น ทำให้ได้มีโอกาส ทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ของศูนย์พันธุฯ และจากการร่วมมือระหว่าง ห้องปฎิบัติการ BRU กับห้องปฎิบัติการอื่นๆ ของศูนย์พันธุฯ อันได้แก่ ห้องปฎิบัติการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ (Culture Collection Laboratory) ห้องปฎิบัติการเทคโนโลยีการหมัก (Fermentation and Biochemical Engineering Laboratory) ห้องปฎิบัติการวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกน และชีววิทยาโมเลกุล (Protein-Ligand Engineering and Molecular Biology Laboratory) และห้องปฎิบัติการตรวจหา สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioassay Research Facility Laboratory) ทำให้นักวิจัยของศูนย์พันธุฯ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในโครงการของ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (Thailand Graduate in Science and Technology; TGIST) อันเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีโอกาสผลิตผลงานวิชาการที่ดีเยี่ยม อย่างครบวงจร ในระดับ"ต้นน้ำ" จำนวนมากมาย ในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โครงการ Thailand - Tropical Diseases Research Programme ("T-2") อันเป็นโครงการที่ร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก (TDR/WHO)

 

ตลอดการทำงานวิจัยที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย ในวารสารวิชาการ รวม 100 เรื่องพอดี โดยที่ผลงานเหล่านั้นจำนวน 90 เรื่องได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร ที่บรรจุอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติ (Science Citation Index) มี 76 เรื่อง ได้รับการอ้างอิง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,016 ครั้ง และจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ได้รับเชิญจากสำนักพิมพ์ John Wiley & Sons ให้เขียนบทที่ 7 เรื่อง "Synthesis of Enones" (82 หน้า) ในหนังสือ "The Chemistry of Enones" (S. Patai and Z. Rappoport, Eds) ในปี พ.ศ. 2532 และจากสำนักพิมพ์ CRC Press, USA ให้เขียนหนังสือทั้งเล่ม เรื่อง "Cyclization Reactions" (370 หน้า) ที่จำหน่ายไปทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2537 อีกด้วย นอกเหนือจากบทบาทในด้านวิชาการ และการวิจัย ในหน่วยงานประจำแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ปฎิบัติงานในหน้าที่สำคัญๆ ในองค์กรและมูลนิธิต่างๆ อาทิ กรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (กม.) อนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (อกม.) หลายฝ่าย กรรมการบริหาร มูลนิธิบัณฑิตยสภา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) กรรมการสภามหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และเป็นบรรณาธิการ Special Issue: Journal of the Science Society of Thailand, 1996, 22, No. 2 In Celebration of the 50th Anniversary of His Majesty the King's Accession to the Throne เป็นต้น

 

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย เป็นนักเคมีอินทรีย์ ที่ทำการวิจัยทางด้าน การค้นหาสารเคมีจากธรรมชาติ ที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive Natural Products) และทางด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ (Organic Synthesis) ของสารออกฤทธิ์ดังกล่าว ซึ่งได้นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ สูตรโครงสร้างต่างๆ ตลอดไปจนถึง การเข้าใจกรรมวิธี ที่สิ่งมีชีวิตผลิตสารเหล่านั้นขึ้นมา และการนำมาใช้ประโยชน์กับมนุษย์ เช่น การแยกและพิสูจน์สูตรโครงสร้าง ของสารในกลุ่ม Cyclohexene Epoxides ซึ่งสกัดได้จากต้นไม้ในสกุล Uvaria และเข้าใจกลไกชีวสังเคราะห์ ของสารกลุ่มดังกล่าวในต้นไม้ อย่างแน่นอน ในด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ ได้ค้นพบปฎิกิริยาใหม่ ที่มีประโยชน์ หลายปฎิกิริยา ซึ่งมีความสำคัญอันนำไปสู่กรรมวิธีใหม่ ในการสังเคราะห์สารเคมี ที่มีโครงสร้างซับซ้อนหลายชนิด ในกลุ่ม Cyclopentenoid Antibiotics เช่น สังเคราะห์สารที่แยกได้ จากเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ Sarkomycin ที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งยาปฎิชีวนะ และมีผลในการทำลายเซลล์มะเร็ง ตลอดจนสังเคราะห์ Diospyros อันเป็นสารออกฤทธิ์ถ่ายพยาธิ ในลูกมะเกลือ ในระยะหลัง ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัยได้ร่วมงานกับนักวิจัยของศูนย์พันธุฯ ผลิตผลงานวิจัยที่ดีเป็นจำนวนมาก ในเรื่องสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ จากเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ก่อโรคต่อแมลง (Insect Pathogenic Fungi) และยังได้ทำการศึกษาด้าน Physical Organic Chemistry ที่เป็นพื้นฐานในการนำไปเป็น "ต้นตอ" ของงานวิจัย ทางด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ อันเป็นผลให้สามารถทำการสังเคราะห์สาร ที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา อันมีโครงสร้างและ Stereochemistry ที่ซับซ้อนอีกด้วย

 

จนถึงขณะนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ยังผลิตผลงานวิจัย ที่มีคุณค่าอย่างไม่หยุดยั้ง ร่วมไปกับการทำหน้าที่อาจารย์ ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ อบรมสั่งสอนดูแลลูกศิษย์ อย่างเอาใจใส่ เป็นนักวิจัยอาวุโส ที่มุ่งมั่นสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ โดยให้การสนับสนุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา ชักนำบ่มเพาะ ให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ดำเนินชีวิตเป็นนักวิจัยคุณภาพ ตามครรลองที่ ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย ได้ปฎิบัติตลอดมา

 



จากหนังสือ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2544. TRF Senior Research Scholar 2001.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. [ISBN 974-8196-94-1] หน้า 65-67