หลังจากจบการศึกษาในปี 2527 ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และต่อมาได้ย้ายมาสังกัดภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปี 2529 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในปี 2533 และตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี 2545 เคยดำรงตำแหน่งบริหาร เป็นหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) และประธานอนุกรรมการความปลอดภัยชีวภาพด้านจุลินทรีย์ ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นทางการจาก Osaka University ให้เป็น Collaborative Professor ของมหาวิทยาลัย หน่วยงาน (MU-OU:CRC) ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ Osaka University ได้มาร่วมตั้งสำนักงานดำเนินงาน นอกประเทศญี่ปุ่น โดยที่หน่วยงานนี้นอกจากส่งเสริมการวิจัยร่วมกันระหว่าง Osaka University กับมหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยแล้ว หน่วยงานนี้ยังร่วมจัด UNESCO Postgraduate Inter-University Course in Biotechnology ให้แก่นักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ ในแถบภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็น course อบรมระยะยาว 1 ปี ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ได้ทำงานวิจัยด้าน Genetic engineering มาแล้วเป็นเวลาประมาณ 25 ปี ถือว่าเป็นนักวิชาการในระยะบุกเบิก คนหนึ่งของประเทศไทยในสาขาดังกล่าว แม้แต่ในช่วงที่ศึกษาในระดับปริญญาเอก ก็เป็นนักศึกษาคนที่สองของ Department of Fermentation Technology ที่ศึกษางานด้านพันธุวิศวกรรมโดยได้ clone ยีน xylanase 1 ยีน และ xylosidase 2 ยีนจากเชื้อที่แยกจากดิน โดยเฉพาะยีน xylanase เป็นยีน xylanase ยีนแรกที่โคลนได้ในโลก ซึ่งในสมัยยี่สิบกว่าปีก่อนนั้นเป็นที่ตื่นเต้นมาก และได้จดสิทธิบัตรกับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลับมาทำงานใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ประเทศชาติมีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรก ทำให้ขาดแคลนงบประมาณและการวิจัยในสาขา Genetic Engineering จะมีความขาดแคลนและดำเนินงานได้ค่อนข้างล่าช้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือและสารเคมีต่าง ๆ หลายอย่างที่แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ ได้เริ่มศึกษาการโคลนยีนและการแสดงออกของยีนจากเชื้อ Bacillus อาทิ chitinase, ยีนทีสร้าง crystal toxin ฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืช ซึ่งการศึกษาวิจัยจะเน้นหนักไปทางด้านการควบคุม การแสดงออกของยีนและการทำงานของยีนทุกระดับของการควบคุม รวมทั้งการทำงานของโปรตีน และการสร้างยีนผสม (hybrid gene) เพื่อให้ยีนเปลี่ยนระยะการแสดงออก จากระยะเซลล์กำลังเจริญเติบโต ไปแสดงออกในระยะเซลล์สร้างสปอร์ เป็นต้น ขณะนี้งานด้านการใช้เอนไซม์จากเชื้อที่แยกได้ที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสไปเป็นน้ำตาลพาลาติโนส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ไม่ทำให้ฟันผุ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรของเชื้อและเอนไซม์ รวมทั้งยีนที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาชุด Multiplex PCR เพื่อตรวจหา Salmonella และตรวจหา Enterotoxin genes ใน Bacillus cereus ซึ่งสามารถใช้เป็นวิธีการตรวจการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารได้รวดเร็วขึ้น ทางด้านการเรียนการสอน ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด เป็นอาจารย์ที่เอาใจใส่ดูแลนักศึกษาอย่างดีในทุกด้าน ทั้งด้านวิชาการ การวิจัย ทัศนคติและความรู้ตัวในด้านต่างๆ เนื่องจากในทางส่วนตัวจะเป็นผู้สนใจในศาสตร์หลายสาขา เช่น ประวัติศาสตร์ การเมือง การเกษตร การทำอาหาร และความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ลูกศิษย์ของอาจารย์ที่มาทำวิจัยด้วย จะถืออาจารย์เป็นเอนไซโคลปีเดียที่จะสามารถสอบถามได้ตลอดเวลา สำหรับเทคนิคทางด้านวิจัย อาจารย์จะมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจารย์คิดค้นขึ้นเอง มาแนะนำนักศึกษาเพื่อช่วยให้งานวิจัยที่มีความละเอียดอ่อนของ Genetic engineering ได้ผลดีตามต้องการ ช่วยทำให้งานวิจัยผ่านไปได้ดี จนทำให้มีนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่ได้ทำวิจัยกับอาจารย์มาขอคำปรึกษาหรือขอเทคนิคต่าง ๆ จากห้องปฏิบัติการวิจัยของอาจารย์ไปใช้ อาจารย์มีลูกศิษย์ที่มาทำวิจัยโดยตรงกับอาจารย์ โดยมีอาจารย์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ในระดับปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า 50 คน ระดับปริญญาโทมากกว่า 30 คน และระดับปริญญาเอก 12 คน นอกจากนี้อาจารย์ยังมีส่วนร่วมโดยเป็นคณะกรรมการควบคุมและสอบวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทและเอกทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดลอีกจำนวนมาก ลูกศิษย์ของอาจารย์ได้ยึดอาชีพเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการ และได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยของสถาบันต่าง ๆ ของประเทศ นอกจากนี้อาจารย์ยังได้เป็นบรรณาธิการ หนังสือคู่มือปฏิบัติการด้านเทคนิคทางด้านอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคู่มือปฏิบัติการที่ให้ข้อมูลเทคนิคต่าง ๆ ด้าน Genetic engineering อย่างละเอียดและได้รับความนิยมสูงมาก ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด นอกจากจะทุ่มเททำงานในหน้าที่ทั้งด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ยังเป็นผู้อุทิศการทำงานเพื่อส่วนรวมเสมอมา ในขณะเป็นนักศึกษาก็ได้เป็นนักกีฬาพายเรือแข่งขันของมหาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาทีมวอลเลย์บอลของสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เป็นแข่งสะกา และเคยเข้าร่วมค่ายพัฒนาชาวเขา ไปอยู่ในป่าของอำเภอแม่แจ่มและอมก๋อย เมื่อมาทำงานเป็นอาจารย์ ได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เป็นกรรมการประกันคุณภาพของคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นกรรมการสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานในฐานะสถาบันร่วม ในโครงการการเงินกู้ธนาคารพัฒนาเอเชียในสาขา Agricultural Biotechnology อาจารย์ยังได้มีส่วนช่วยอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ ของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ในการเขียนโครงการวิจัยและแนะนำโจทย์วิจัย นอกจากนี้อาจารย์ยังช่วยเป็นกรรมการประเมินตำแหน่งวิชาการ ประเมินโครงการวิจัยจำนวนมากจากหลายหน่วยงาน ประเมินหลักสูตรระดับตรี,โท เอก ในสาขาจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพของหลายมหาวิทยาลัยและเป็น peer reviewers ประเมินบทความวิชาการของวารสาร ทั้งในและนอกประเทศจำนวนหลายสิบเรื่อง อาจารย์นอกจากจะได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติจาก ปอมท. แล้ว อาจารย์ยังได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ Taguchi Price จากมูลนิธิทะกุชิ และ IRRI Award จากประเทศฟิลิปปินส์ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด เป็นอาจารย์ที่มีความขยันอดทน มีความตั้งใจศึกษาหาความรู้ ความมีระเบียบวินัย ความเอาใจใส่ทุ่มเทการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีงานเข้ามาไม่ขาดสาย การดำรงตนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีความเอาใจใส่ต่อสิ่งรอบตัวไม่เพิกเฉย การอุทิศเวลาทำงานให้ราชการอย่างเต็มที่ รับใช้ชาติบ้านเมืองและสร้างบุคลากรคุณภาพให้แก่สังคม และร่วมสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ นับว่าอาจารย์เป็นตัวอย่างอันดี ของบุคคลที่มาจากครอบครัวชนบทที่เข้ามาสู่แวดวงวิชาการ และพัฒนาตนเองจนเป็นที่ยอมรับของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้ปรากฏเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมสืบไป
|