logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด
(Professor Dr. Watanalai Panbangred)
รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2548

 

..สภาคณาจารย์ ม.มหิดล ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง โดยในปี พ.ศ. 2548 มีจำนวน 5 ท่าน ได้แก่ ศ.นภาธร บานชื่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผศ.นาฏยา วงษ์ปาน คณะทันตแพทยศาสตร์ รศ. พรพิมล พัวประดิษฐ์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ศ.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด คณะวิทยาศาสตร์ และ ผศ.อรุณ นุรักษ์เข คณะพยาบาลศาสตร์ จะเข้ารับรางวัลในงาน 37 ปี แห่งวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” 2 มีนาคม 2549 ณ สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ศาลายา

 

ศ.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด อายุ 52 ปี สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยา) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยา) จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาเอก D.Eng (Fermentation Technology) จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และ Post Doctoral fellow ทางด้าน Plant Molecular Biology จาก The Salk Institue เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2527 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 10 สังกัดภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ประสานงานหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล - มหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU : CRC ) บรรณาธิการจัดทำคู่มือปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ (เทคนิคทางอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรม) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ต้องการอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็น Editorial Board ของวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Science Asia) เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์อาคันตุกะแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญสูงในด้านพันธุวิศวกรรมศาสตร์ เคยได้รับรางวัลทะกุจิ และรางวัล IRRI จากประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับทุนวิจัยและมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้มีผลงานการประดิษฐ์ชุด PCR Kit สำหรับตรวจหา Salmonella และ B. cereus ในอาหาร เคยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จัดทำ Diary ชุด Mushroom ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในด้านเห็ดรา ในด้านบริการวิชาการ ได้เปิดให้บริการ DNA Sequencing แก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่มุ่งทั้งงานวิจัยและงานสอน และมุ่งมั่นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้มีมาตรฐานสูง ซึ่งใน 3 ปีที่ผ่านมา วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่อยู่ในความดูแลของ ศ.วัฒนาลัย สามารถคว้ารางวัลและการเชิดชูเกียรติถึง 3 เรื่อง

 

ข้อมูลจาก : สารมหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 31 วันที่ 31 มกราคม 2549