logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. วิชัย บุญแสง
(Professor Dr. Vichai Boonsaeng)
รางวัลมหิดลทยากร จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2548

 

..สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเชิดชูเกียรติศิษย์เก่า ม. มหิดลที่มีความดีเด่นในด้านต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาว ม.มหิดล และสาธารณชนทั่วไป โดยในปี 2548 ได้มีมติมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นจำนวน 9 ท่าน ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ พญ.คุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา, ศ.เกียรติคุณ นพ.สุเอ็ด คชเสนี, ศ.เกียรติคุณ นพ.ดุษฎี ประภาสะวัต, ศ.เกียรติคุณ นพ.แทน จงศุภชัยสิทธิ์, ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ดิเรก จุลชาต, ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย บุญแสง, ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช, นพ.ทรงเกียรติ ปิยะกะ และ คุณศุภลักษณ์ อัมพุช

 

..ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย บุญแสง สำเร็จปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ม.มหิดล) และปริญญาเอกสาขาชีวเคมีจาก Otago University ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2518 เข้ารับราชการที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ตั้งแต่ปี 2509 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์เมื่อปี 2538 และศาสตราจารย์ระดับ 11 เมื่อปี พ.ศ. 2543 ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ รองคณบดี บัณฑิตวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทผู้แทนคณาจารย์ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติมากกว่า 60 เรื่อง บทความภาษาไทยมากกว่า 10 เรื่อง เคยได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม เรื่อง “การสร้างและประยุกต์ใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอในคน” มีผลทำให้มีการใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอพิสูจน์ตัวบุคคล และพิสูจน์หลักฐานทางคดีต่างๆ ในสังคมไทย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมูลนิธิโทเรประเทศไทย ประเภททีมวิจัย และรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น จาก มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย บุญแสง เป็นครู นักวิจัยที่มีผลงานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในด้านต่างๆ และยังเป็นผู้ที่มีความสามารถทางด้านบริหาร มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีคุณธรรม โดยปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมนักวิจัยทั่วประเทศให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและสร้างผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยยุติธรรมและเสมอภาค

 

ข้อมูลจาก : สารมหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 31 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549