logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. วิชัย บุญแสง
(Professor Dr. Vichai Boonsaeng)

นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2543 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช


เกียรติคุณประกาศ
คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ วิชัย บุญแสง แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลามากกว่า 25 ปี มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยได้ทำวิจัยเน้นหนักเกี่ยวกับ การพัฒนา DNA probe และเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) เพื่อนำมาใช้ในการตรวจหา เชื้อมาลาเรียในคน และยุงพาหะ การสร้างลายพิมพ์ ดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์บุคคล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย อย่างกว้างขวางในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคหัวเหลือง โรคตัวแดงดวงขาว และโรคกุ้งแคระในกุ้งกุลาดำ อันเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม การส่งออกกุ้งของประเทศไทย ศาสตราจารย์ วิชัย บุญแสง เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรม และคุณธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ จึงมีมติประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ วิชัย บุญแสง เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2543 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช

 

1. ประวัติส่วนตัว
ชื่อ ศาสตราจารย์ วิชัย บุญแสง
ที่ทำงาน ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร 246-0063 ต่อ 4308, 4310 โทรสาร 248-0375
ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยเชิงวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โทร 642-5186-9
โทรสาร 642-5190 E-mail: trfbasic@trf.or.th

 

2. ประวัติการศึกษา
2518 ปริญญาเอก (ชีวเคมี) University of Otago, New Zealand
2509 ปริญญาโท (ชีวเคมี) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)
2507 ปริญญาตรี (เคมี) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)

 

3. ประวัติการทำงาน
3.1 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
- ศาสตราจารย์ระดับ 10 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัยเชิงวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล
- ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฏร
- ที่ปรึกษาด้านวิชาการของสมาคมกุ้งทะเลไทย
- ที่ปรึกษานิตยสารสัตว์น้ำ
- คณะทำงานกำกับดูแลส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สัตว์ เพื่องานวิทยาศาสตร์
ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณการใช้สัตว์ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- อนุกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
- อนุกรรมการบริหารหน่วยปฎิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล
ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

3.2 ตำแหน่งการทำงานอดีต-ปัจจุบัน

- กรรมการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทคณาจารย์ประจำ
- หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รองคณบดีฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- รักษาราชการหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ที่ปรึกษาโครงการแยกเพศตัวอสุจิของสัตว์ ของกองอำนวยการกลาง สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- ที่ปรึกษาทางวิชาการ ของสถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจ ทางด้านตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอของคน
- ที่ปรึกษาด้านพันธุกรรมศาสตร์ ในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของสถาบันนิติเวชวิทยา
 
เพื่อพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุเครื่องบินของบริษัทการบินไทยจำกัด ตกที่ จ.สุราษฏร์ธานี
- กรรมการพิจารณารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
- กรรมการสรรหานายกสภา อธิการบดี คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์
 
และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ของมหาวิทยาลัยมหิดล
- กรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ เพื่อขอแต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์
 
ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และตำแหน่งศาสตราจารย์ จากทบวงมหาวิทยาลัย
- กรรมการในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฏีบัณฑิต
 
สาขาชีวเคมีทางการแพทย์ และชีววิทยาระดับโมเลกุล (หลักสูตรใหม่ 2541) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต และปรัชญาดุษฏีบัณฑิต
 
สาขาชีวเวชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- แสดงนิทรรศการในงานตลาดนัดเทคโนโลยี เรื่อง "การใช้ดีเอ็นเอในการพิสูจน์ทายาทและสายพันธุ์"
 
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
 
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดนิทรรศการ ในวันที่ 21 เมษายน 2538
- Key Note Lecture เรื่อง Health Research in Thailand in the 21st Century
 
จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาลัยพยาธิวิทยานานาชาติ สาขาประเทศไทย
 
ณ โรงแรม เจบี หาดใหญ่ วันที่ 17 มีนาคม 2542
- วิทยากรบรรยายในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "นักวิจัยในยุค 2000" ที่คณะวิทยาศาสตร์
 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541

 

3.3 รางวัลที่เคยได้รับ
- รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2538 สาขาการวิจัย
- ร่วมรับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประเภททั่วไป รางวัลที่ 1
 
เรื่องชุดตรวจสอบหาเชื้อมาลาเรีย ด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2539
- รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2539 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
 
เรื่องการสร้างและประยุกต์ใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอในคน จากสภาวิจัยแห่งชาติ
- รางวัลกุ้งกุลาทองเกียติยศ จากการเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาการตรวจหาเชื้อไวรัส
 
ในกุ้งกุลาดำโดยวิธี PCR
- อาจารย์ตัวอย่างประจำปี พ.ศ. 2542 ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
จากสภาอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์

 

4. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ
2535 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
2538 มหาประถมาภรณ์มงกุฏไทย
2541 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

 

5. ผลงานวิจัยโดยสรุป
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 25 ปี ศาสตราจารย์ วิชัย บุญแสง ได้ทำการศึกษาวิจัย อย่างต่อเนื่องมาตลอดดังนี้

 

พ.ศ. 2518 ได้เริ่มวิจัยเกี่ยวกับ เรื่อง ชีวเคมี ของน้ำอสุจิของคน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้ผลวิจัยนำมาประยุกต์ เกี่ยวกับการคุมกำเนิดแผนใหม่ในเพศชาย

 

พ.ศ. 2521 เริ่มวิจัยเกี่ยวกับ เรื่อง การพัฒนา DNA probe และการใช้เทคนิค PCR เพื่อสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ผลงานวิจัยที่ได้จนถึงปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ เพื่อตรวจสอบความแตกต่าง ของแต่ละบุคคล ความเกี่ยวข้องทางสายเลือด สามารถพิสูจน์ความเป็น พ่อ-แม่-ลูกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยเป็นห้องปฎิบัติการแรกของประเทศไทย ที่ได้พัฒนาเทคนิคนี้ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ได้อย่างกว้างขวาง เทคนิคนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้ ในการติดตามการทำ bone marrow transplantation ของคนไข้ได้เป็นผลสำเร็จ

 

ทีมงานวิจัย "ชุดตรวจหามาลาเรียด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ"
ในงานรับรางวัล "ผลงานประดิษฐ์คิดค้น
ประจำปี 2538 จากสภาวิจัยแห่งชาติ

 

พ.ศ. 2530 เริ่มวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง การพัฒนา DNA probe และการใช้เทคนิค PCR เพื่อตรวจเชื้อมาลาเรีย ในคน ยุงพาหะ และเชื้อ Babesia ในสัตว์ เนื่องจากมาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อ โดยยุงเป็นพาหะ การตรวจเชื้อมาลาเรียแต่เดิม ใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งมีความไวต่ำ และตรวจได้จำนวนน้อยต่อวัน อีกทั้งยังไม่สามารถจำแนกเชื้อมาลาเรีย ที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมได้ จึงพัฒนาจนได้ DNA Probe และใช้เทคนิค PCR ในการตรวจหาเชื้อมาลาเรียในคนไข้ ผลการวิจัยที่ได้ สามารถนำมาใช้ตรวจหา เชื้อมาลาเรียได้ โดยมีความไวสูง แม้ว่าจะมีเชื้อมาลาเรียอยู่เพียง 1 ตัว ในเลือด 20 ul ซึ่งวิธีนี้ ยังสามารถจำแนกชนิดของเชื้อมาลาเรีย ในยุงที่เป็นพาหะได้ด้วย
นอกจากนี้ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคนิค PCR เพื่อตรวจหาเชื้อ Babesia ซึ่งพบในวัว ควาย ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเชื้อ Babesia นี้สามารถทำให้สัตว์เหล่านี้ตายได้

 


ทีมงานวิจัยการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ
ในงานรับรางวัล "ผลงานวิจัยดีเยี่ยม"
ประจำปี 2539 จากสภาวิจัยแห่งชาติ

วิเคราะห์ผลการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ
ของนักร้องลูกทุ่งในรายการโทรทัศน์ช่อง 7

 

พ.ศ. 2536 เริ่มวิจัยเกี่ยวกับ เรื่อง การพัฒนา DNA probe และใช้เทคนิค PCR ในการตรวจ ไวรัสหัวเหลือง ไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกุ้งแคระ ในกุ้งกุลาดำ แรงจูงใจที่ได้ทำการวิจัยในโครงการนี้ เป็นเพราะว่าอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างรายได้ นำเงินตราเข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีส่วนในการจ้างแรงงาน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น แต่เป็นที่น่าวิตกว่า ผลผลิตกุ้งในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้น 3 โรค คือ โรคไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคไวรัสหัวเหลือง และโรคกุ้งแคระ

 

ผู้วิจัยและคณะได้ทำการพัฒนาเทคนิค PCR มาใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัส ที่ก่อโรคในกุ้งกุลาดำ เทคนิคนี้เป็นการเพิ่มปริมาณ DNA ของเชื้อไวรัส ที่มีอยู่น้อยๆ เพียงไม่กี่โมเลกุล ให้มีปริมาณมากขึ้น เป็นหลายล้านเท่า ในเวลา 2-3 ชั่งโมง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในการตรวจสอบหาเชื้อไวรัส ในกรณีที่มีเชื้อไวรัสปริมาณน้อย ๆ ขณะที่กุ้งยังไม่แสดงอาการของโรค ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว

 

โรคไวรัสตัวแดงดวงขาว เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ไวรัสชนิดนี้ ทำให้กุ้งตายอย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสทำให้เปลือกหุ้มส่วนหัวของกุ้ง มีลักษณะผิดปกติ คือเมื่อดึงเปลือกหุ้มส่วนหัว และขูดเอาเนื้อเยื่อที่ติดออกมาส่องดู จะสังเกตเห็นดวงขาว ได้อย่างชัดเจน ผู้วิจัยและคณะ ได้สร้างดีเอ็นเอตรวจสอบที่มีความจำเพาะ ต่อเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว ด้วยวิธี genomic cloning แล้วนำดีเอ็นเอตรวจสอบที่ได้ ไปตรวจกุ้งกุลาดำ จากแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยวิธี In situ hybridization พบว่าดีเอ็นเอ ตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว ได้ทั้งในกุ้งกุลาดำ และกุ้งชนิดอื่นๆ จากนั้นผู้วิจัยและคณะ ได้หาลำดับนิวคลีโอไทด์ ของไวรัสตัวแดงดวงขาว เพื่อออกแบบไพรเมอร์ที่เหมาะสม ในปฏิกิริยา PCR เพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพลูกกุ้ง พ่อแม่พันธุ์กุ้ง และตรวจหาพาหะของเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว ถ้าตัวอย่างใดมีการติดเชื้อ จะพบว่ามีผลผลิต PCR ขนาด 232 bp เกิดขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ มีความไวในการตรวจหาเชื้อไวรัสสูงมาก เช่น ตัวอย่างลูกกุ้ง 100 ตัว หากมีลูกกุ้งเพียง 1 ตัว ที่ติดเชื้อไวรัส ก็สามารถตรวจสอบได้ การตรวจ PCR ยังได้ถูกพัฒนา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยเทคนิค one-step nested PCR ที่สามารถบ่งบอกถึง ความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวได้ โดยการวิเคราะจากจำนวนแถบ ของผลผลิต PCR กล่าวคือ หากมี 3 แถบ (1,100 bp, 526 bp, 250 bp) แสดงว่ามีการติดเชื้อรุนแรง ถ้ามี 2 แถบ (526 bp, 250 bp) แสดงว่ามีการติดเชื้อปานกลาง และถ้ามีเพียงแถบเดียว คือ 250 bp แสดงว่ามีการติดเชื้อในปริมาณน้อย

 

โรคไวรัสหัวเหลือง เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ไม่แพ้โรคตัวแดงดวงขาว โรคไวรัสหัวเหลือง พบในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2534 โดยเกิดขึ้นที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในแถบจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กุ้งที่ติดเชื้อจะมีลักษณะผิดปกติที่บริเวณหัว ซึ่งจะมีสีเหลืองอ่อน ผิดจากกุ้งปกติอย่างชัดเจน บางครั้งพบว่า บริเวณเหงือกจะมีสีค่อนข้างเหลืองด้วย กุ้งที่ติดเชื้อจะกินอาหารน้อยลง และตายภายใน 2-3 วัน ในระยะแรกมีรายงานว่า เชื้อไวรัสหัวเหลือง มีสารพันธุกรรมเป็น DNA แต่ภายหลังจากการวิจัยอย่างละเอียด ของผู้วิจัยและคณะ ได้พบว่า สารพันธุกรรมของไวรัสหัวเหลือง เป็น RNA คณะผู้วิจัยจึงได้เตรียม clone จาก cDNA ของเชื้อไวรัส และหาลำดับนิวคลีโอไทด์จาก clone ที่มีความจำเพาะ ต่อเชื้อไวรัสหัวเหลือง แล้วออกแบบไพรเมอร์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ RNA ของเชื้อชนิดนี้ ด้วยวิธี RT-PCR นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาเทคนิค one-step nested RT-PCR มาใช้ในการแบ่งระดับ การติดเชื้อไวรัสหัวเหลือง โดยเทคนิคนี้จะประกอบด้วย วิธีเปลี่ยน RNA ให้เป็น cDNA แล้วเพิ่มปริมาณ DNA ด้วยปฏิกิริยา PCR นอกจากนี้จะเพิ่มความไวในการตรวจ ด้วยวิธี nested PCR ซึ่งปฏิกิริยาทั้งหมด จะเกิดขึ้นภายในหลอดเดียว ทำให้เกิดความสะดวก ในการนำไปใช้ ผลผลิตของ one-step nested RT-PCR ที่ได้ จะมีขนาด 135 bp และ 188 bp ถ้ามีการติดเชื้อหัวเหลืองมาก จะพบผลผลิต PCR ทั้ง 2 แถบ แต่ถ้าติดเชื้อน้อยก็จะพบผลผลิต PCR ขนาด 135 bp เท่านั้น

 

โรคกุ้งแคระ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า กุ้งจิ๊กโก๋ เกิดจากเชื้อ Hepatopancreatic parvovirus (HPV) เชื้อไวรัสชนิดนี้ จะไม่ทำให้กุ้งตาย แต่จะทำให้กุ้งแคระแกร็น คือกุ้งที่ได้มีขนาดเล็ก ขายไม่ได้ราคา ผู้วิจัยและคณะ ได้พัฒนาการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV นี้ด้วยวิธี PCR พบว่ากุ้งที่มีการติดเชื้อ จะพบแถบของผลผลิต PCR ขนาด 156 bp และต่อมาได้พัฒนา ให้มีความไวเพิ่มขึ้น และสามารถแบ่งแยกปริมาณการติดเชื้อ ได้ด้วยวิธี nested PCR ถ้ามีเชื้อมาก จะพบแถบ PCR 2 แถบคือ ขนาด 375 bp และ 262 bp ถ้ามีเชื้อน้อย จะพบแถบของผลผลิต PCR ขนาด 262 bp เท่านั้น

 

ผลงานวิจัยที่ได้นี้ มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เป็นอย่างมาก เพราะเกษตรกรสามารถซื้อลูกกุ้ง ที่ปลอดโรคไวรัสไปเลี้ยง รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโรงเพาะฟัก ที่นำเทคนิค PCR ไปใช้ ในการคัดเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ กุ้งกุลาดำ ที่ปลอดโรคไวรัสมาเลี้ยง และขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพ และปลอดโรค ขณะนี้เทคนิคที่พัฒนาขึ้นได้ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการหลายแห่ง ได้ส่งพนักงานมาฝึกการตรวจโรคไวรัสในกุ้ง กับนักวิจัยในห้องปฏิบัติการ ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทเหล่านั้นได้นำเทคนิค PCR ไปใช้ในการตรวจ เชื้อไวรัสในกุ้งด้วยตนเอง โดยใช้ชุดตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการ ได้พัฒนาขึ้น เช่นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี บริษัทภูเก็ต PCR จำกัด บริษัทโกรเบสท์คอร์โพเรชั่น จำกัด บริษัท Tan Union Trading Co. ประเทศมาเลเซีย และบริษัท Padmanabhana Lab ประเทศอินเดีย เป็นต้น

 

6. งานวิจัยที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
ใช้เทคนิคทางด้านพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนาในการสร้างลายพิมพ์ดีเด็นเอ และการพัฒนาเทคนิค PCR ในการตรวจโรคไวรัสหัวเหลือง ไวรัสตัวแดงดวงขาว และ Hepatopancreatic parvovirus (HPV) ในกุ้งกุลาดำ ได้พร้อมกันในหลอดเดียว และศึกษาสารพันธุกรรมทั้งหมด ของไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสหัวเหลืองในกุ้งกุลาดำ เพื่อจะได้ทราบถึงกลไกการก่อโรค และคุณสมบัติของยีนที่สำคัญ

 

7. ผลงานวิจัยในอนาคต
ศึกษาสารพันธุกรรมทั้งหมดของไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสหัวเหลืองในกุ้งกุลาดำ เพื่อจะได้ทราบถึงกลไกการก่อโรค และคุณสมบัติของยีนที่สำคัญ โดยคาดว่าจะสามารถออกแบบยา เพื่อยับยั้งหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้ หรืออาจจะสามารถผลิตวัคซีน เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

 



จากหนังสือ รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2543.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม.
[ISBN 974-8260-61-5] หน้า 21-32