logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Awards)
ประจำปี 2543

 

คณะผู้วิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ
(Research Team on Shrimp)

ศาสตราจารย์ ดร. บุญเสริม วิทยชำนาญกุล
ศาสตราจารย์ ดร. ทิมโมที วิลเลียม เฟลเกล
ศาสตราจารย์ ดร. วิชัย บุญแสง



ศาสตราจารย์ ดร. บุญเสริม วิทยชำนาญกุล

ศาสตราจารย์บุญเสริม วิทยชำนาญกุล เกิดที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ได้รับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ใน พ.ศ. 2512 และปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ใน พ.ศ. 2516 จากมหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากจบแพทย์ฝึกหัดในพ.ศ. 2517 ได้รับราชการ ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2518 ไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัย Rochester สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2521 ทำงานวิจัยเรื่อง การทำงานของต่อมไพเนียล หลังจากนั้น ได้ไปวิจัยระดับหลังปริญญาเอก ที่ศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย Indiana ในเมือง Gary รัฐอินเดียนา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ ระบบต่อมไร้ท่อของหนูอ้วน ในปี พ.ศ. 2523 ได้กลับมาประเทศไทย เพื่อสอนและวิจัยที่ต้นสังกัดเดิม ได้รับรางวัลอนันทมหิดล ระหว่าง พ.ศ. 2532-2535 รางวัลชมเชยนักประดิษฐ์ จากสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2540 ในปี พ.ศ. 2542 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2536 ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษางานวิจัย เกี่ยวกับกุ้ง ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2540 เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย "การเพาะเลี้ยง และคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ" โดยได้รับทุนจาก บริษัทวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้ง สนับสนุนโดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ ดร. ทิมโมที วิลเลียม เฟลเกล

ศาสตราจารย์ ดร. ทิมโมที วิลเลียม เฟลเกล เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่ประเทศแคนาดา สำเร็จปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสัตววิทยาในปี พ.ศ. 2508 ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพฤกษศาสตร์ (เชื้อรา) ในปี พ.ศ. 2511 จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. 2520 หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2521 ศาสตราจารย์ทิม เฟลเกล ได้ร่วมรับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ประจำปี พ.ศ. 2529 เรื่องการผลิตซีอิ๊ว จากสภาวิจัยแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2530 ได้รับการโปรดเกล้าเป็นศาสตราจารย์พิเศษ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฏ ในปี พ.ศ. 2531 ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มทำงานวิจัย เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง ร่วมกับบริษัทอควอสตาร์ จำกัด และได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2537 ระหว่างนั้น ได้เป็นผู้ชักนำ ให้มีการก่อตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนา การเลี้ยงกุ้งจำกัดขึ้น ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ของ BIOTEC นอกจากนี้ ยังเป็นบรรณาธิการ ของวารสารทางวิชาการนานาชาติ ได้แก่ Diseases of Aquatic Organisms และวารสาร Inter-Research Science Publisher แห่งประเทศเยอรมันนี และเป็นสมาชิกสมาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์ทิม เฟลเกล มีผลงานตีพิมพ์ ทั้งในวารสารทางวิชาการนานาชาติ และหนังสือ มากกว่า 90 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเลี้ยงกุ้ง 26 เรื่อง ในงานวิจัยด้านกุ้ง เคยได้รับรางวัล อะยิโนะโมะโต๊ะ จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 และรางวัลกุ้งกุลาทองเกียรติยศ จากชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง สุราษฏร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2542

ศาสตราจารย์ ดร. วิชัย บุญแสง

ศาสตราจารย์วิชัย บุญแสง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมี) จากมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2507 หลังจากรับราชการมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2513 ได้รับทุนโคลัมโบ จากรัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อศึกษาต่อระดับดุษฏีบัณฑิต ในสาขาวิชาชีวเคมี University of Otago สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (ชีวเคมี) ในปี พ.ศ. 2518 สมรสกับทันตแพทย์หญิงพวงทอง (เปรมประสิทธิ์) บุญแสง มีบุตรสาว 3 คน หลังสำเร็จการศึกษา กลับมารับราชการที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชา ชีวเคมี ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2539 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัยเชิงวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เคยได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2539 สาขาการวิจัย รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2539 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช และรางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2543 ศาสตราจารย์วิชัย บุญแสง มีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 50 เรื่อง เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรมด้านดีเอ็นเอ ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อทั้ง ในมนุษย์ สัตว์ และการตรวจหาเชื้อไวรัส ในกุ้งกุลาดำ ผลงานวิจัยในการตรวจหาเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว ไวรัสหัวเหลือง และไวรัสในกุ้งแคระ ที่ได้พัฒนาขึ้นโดยคณะผู้วิจัย ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ในห้องปฎิบัติการต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ทำให้ได้รับรางวัล กุ้งกุลาทองเกียรติยศ จากชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง สุราษฏร์ธานี ในปี พ.ศ. 2541 นอกจากนั้น ยังเป็นผู้บุกเบิกให้มีการนำเทคโนโลยีลายพิมพ์ดีเอ็นเอ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในวงการแพทย์ไทยอย่างแพร่หลาย

ผลงานของคณะผู้วิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ
Achievements of Research Team on Shrimp

งานวิจัยในเรื่องกุ้งกุลาดำ

การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เป็นอุตสาหกรรมใหญ่อย่างหนึ่ง ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ส่งออกกุ้งกุลาดำ มากที่สุดในโลก เป็นเวลาติดต่อกัน นานกว่า 5 ปี และในปี พ.ศ. 2543 สามารถส่งออกกุ้งกุลาดำ รวมแล้วมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท สาเหตุที่ประเทศไทย สามารถพัฒนา การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ได้ยั่งยืนมากกว่าประเทศอื่นๆ มีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญคือ ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ของประเทศไทย เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้การลงทุนในการเพาะเลี้ยงแต่ละครั้ง มีไม่มากนัก ประกอบกับการขยันหมั่นเพียร และความเป็นผู้สนใจ ใฝ่หาวิชาการ ของเกษตรกรไทย ทำให้การเพาะเลี้ยงแต่ละครั้ง ได้ผลดีมากกว่าผลเสีย อีกสาเหตุหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนต่อกัน คือความร่วมมือของนักวิจัยไทย ทั้งในภาครัฐบาล และเอกชน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การวิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำในประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่น่าชื่นชม คือมีความสามัคคีร่วมใจกัน เปรียบเสมือนการต่อภาพ จากชิ้นส่วนย่อยๆ ให้เป็นภาพใหญ่ที่สวยงาม กลุ่มนักวิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่ง ของงานวิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ กล่าวคือ มีการทำงานวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยมีการทำงานที่ต่างหน้าที่กัน ใช้เทคนิคทางวิจัยที่ต่างกัน แต่นำไปสู่การตอบคำถามเดียวกัน

 

โรคต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อกุ้งเพาะเลี้ยง ได้มีการเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ พร้อมๆ กับการขยายตัว ของฟาร์มขนาดใหญ่ ในระหว่างปี พ.ศ. 2536-2543 โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ได้แก่ โรคหัวเหลือง และโรคตัวแดงดวงขาว ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงที่สุด ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ในประเทศแถบเอเซีย การระบาดของเชื้อโรคเหล่านี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมีการวิจัยระดับลึก ในด้านต่างๆ คือ ชีววิทยาพื้นฐาน ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรคกับตัวสัตว์ และการพัฒนาชุดตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และความสามารถตรวจวินิจฉัย ได้อย่างรวดเร็ว จากความพยายามของกลุ่มผู้วิจัยนี้ กลุ่มวิจัยอื่นๆ ในประเทศไทย และฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ทำให้เกิดผลงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวเหลือง และโรคตัวแดงดวงขาว ซึ่งได้ช่วยให้ปรเทศไทย ไม่ต้องสูญเสียเงินจำนวนหลายพันล้านบาท จากความเสียหายในการเพาะเลี้ยง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ซึ่งในอนาคต โรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน พร้อมกับการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง

 

โรคติดเชื้อไวรัสในกุ้งกุลาดำ โดยเฉพาะ โรคตัวแดงดวงขาว (White-spot Disease) และ โรคหัวเหลือง (Yellow-head Disease) ก่อให้เกิดความเสียหาย ในการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทย ปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท กลุ่มนักวิจัยนี้ พร้อมกับกลุ่มนักวิจัย ของกรมประมง และของภาคเอกชน ได้ค้นพบสาเหตุของโรค การระบาดของโรค และการป้องกันโรค ทั้งในระดับห้องปฎิบัติการ และในระดับภาคสนาม ภาคเอกชนได้มีส่วนช่วย ในการกระจายผลงานวิจัยเหล่านี้ ออกไปสู่ภาคสนาม ทำให้ผลการวิจัย มีส่วนช่วยอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง

 

จากการเป็นที่ปรึกษา ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด สมาคมกุ้งทะเลไทย และบริษัทเอกชนอื่นๆ ทำให้กลุ่มผู้วิจัย มีโอกาสได้รับรู้ปัญหา ของการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในภาคสนาม และมองเห็นว่า ควรนำวิชาการประเภทใด มาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และจากการคลุกคลีอยู่ในวงการนักวิจัย ของบริษัท เอกชน และของกรมประมง ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวม ของทิศทางการวิจัยได้มากขึ้น การร่วมมือกับนักวิจัยต่างๆ ทำให้มีผลงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ความพยายามในการร่วมมือ ในงานวิจัยกุ้งครั้งแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เพื่อทำการศึกษาเจาะลึก ในด้านชีวโมเลกุล ของเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสหัวเหลือง จนในที่สุด สามารถนำเทคนิค polymerase chain reaction หรือ PCR มาใช้วินิจฉัยโรคทั้งสองได้

 

วิธี PCR ได้กลายเป็นเทคนิคที่สำคัญ ในการตรวจวินิจฉัยโรคไวรัส PCR เป็นเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อใช้เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ (DNA) ให้เป็นล้านๆ เท่า ในเวลาเพียง 2-3 ชั่งโมง เป็นวิธีที่มีความจำเพาะ และมีความไวในการตรวจสูง และจะสามารถเพิ่มความไว ในการตรวจขึ้นได้อีกโดยวิธี nested PCR

 

การพัฒนาเทคนิค PCR ในการตรวจ ไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสหัวเหลือง เริ่มจากการพยายามออกแบบไพรเมอร์ (ตัวเริ่มต้น) ที่จำเพาะต่อไวรัสแต่ละชนิด และการพยายามที่จะวิเคราะห์ และทำให้เชื้อบริสุทธิ์ กลุ่มผู้วิจัยพบว่า สารพันธุกรรมของ WSV เป็น DNA และของ YHV เป็น RNA ดังนั้นวิธี PCR จะสามารถใช้ DNA ของไวรัสตัวแดงดวงขาว ในการเพิ่มปริมาณได้โดยตรง แต่ RNA ของไวรัสหัวเหลือง จะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็น DNA เสียก่อน แล้วจึงจะถูกเพิ่มปริมาณต่อ ด้วยวิธี PCR ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า วิธี RT-PCR (Reverse Transcription-PCR)

 

แม้จะได้ค้นพบวิธีการตรวจหา เชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว ที่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งแล้ว การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธี PCR ยังได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการตรวจโดยวิธี nested PCR แบบเดิม ซึ่งจะต้องมีการถ่ายตัวอย่างที่ทดสอบ จากหลอดหนึ่ง ไปสู่อีกหลอดหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนในตัวอย่าง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้วิจัยจึงได้ทดลองทำวิธีการ แบบ nested PCR ที่สามารถทำได้ภายในหลอดเดียว เกิดเป็นวิธีใหม่ที่เรียกว่า "one step nested PCR" ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ป้องกันการปนเปื้อนได้ เพราะไม่ต้องมีการเปิดฝาหลอดทดลองเลย วิธีนี้ไม่เพียงแต่บอกว่าบอกว่า ตัวอย่างกุ้งที่ตรวจ ติดเชื้อไวรัสแดงดวงขาวหรือไม่เท่านั้น แต่ยังบอกถึงระดับความรุนแรง ของการติดเชื้อได้อีกด้วย เทคนิค PCR ที่พัฒนาขึ้น ยังได้นำไปตรวจหาพาหะ ของเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว และโรคไวรัสหัวเหลือง ในปูชนิดต่างๆ ที่พบบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งพบว่าปูเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด นอกจากนั้น เพื่อให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำของไทย เป็นอาชีพที่ยั่งยืนสืบต่อไป กลุ่มผู้วิจัยจึงทำการศึกษาต่อ ถึงเรื่อง ความแปรผันทางพันธุกรรม (genetic vanation) ของเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสห้วเหลือง ซึ่งจะสามารถพัฒนาชุดตรวจสอบ ในงานระบาดวิทยาได้ นอกจากนี้ ยังทำการศึกษาโปรตีน และลักษณะของยีน ของเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด โดยการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ ลำดับกรดอะมิโน ซึ่งมุ่งเน้นการสืบหายีน ที่จะนำไปสู่การผลิต โปรตีนโครงสร้าง (structural protein) ซึ่งผลของงานวิจัยนี้ จะนำไปสู่การผลิตวัคซีน ป้องกันการก่อโรคไวรัส ที่มีประสิทธิภาพสูง กว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากโรคหัวเหลือง และโรคตัวแดงดวงขาวแล้ว กลุ่มผู้วิจัยยังได้ศึกษาโรคติดเชื้อ Hepatopancreatic parvovirus (HPV) และ Monodon baculovirus (MBV) ซึ่งแม้ว่าโรคทั้งสองนี้ โดยทั่วไปไม่ได้ทำให้กุ้งตาย แต่พบว่า โรคดังกล่าวทำให้กุ้งโตช้า หรือที่เรียกว่า "โรคกุ้งแคระ" ซึ่งประมาณกันว่า เป็นสาเหตุทำให้มีการสูญเสีย เป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท ในแต่ละปี โดยความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย ออสเตรเลีย สวีเดน และอเมริกา ทำให้กลุ่มผู้วิจัยมีความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านต่างๆ กับการแพร่กระจาย ของเชื้อโรคกุ้งในหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มีระบบการควบคุมโรคที่เหมาะสม

 

เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดความเสียหายต่อกุ้ง น้อยกว่าการติดเชื้อไวรัส ทั้งนี้เพราะ เกษตรกรสามารถควบคุมเชื้อได้ โดยการจัดการบ่อเลี้ยงที่เหมาะสม และถึงแม้ว่าการจัดการล้มเหลว การใช้ยาและสารเคมี ก็พอช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้บ้าง อย่างไรก็ดี เชื้อแบคทีเรียที่พบในประเทศไทย เช่น Vibrio harveyi และ V. parahaemolyticus เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรงที่สุด สำหรับกุ้ง และยังมีความจำเป็นที่ต้องทราบว่า เหตุใดเชื้อบางสายพันธุ์ จึงมีความรุนแรง และบางสายพันธุ์ไม่มีความรุนแรง กลุ่มนักวิจัยนี้พบว่า V. harveyi หลายสายพันธุ์ จะไม่ก่อปัญหากับกุ้ง จนกว่าจะสามารถผลิตสารพิษที่ร้ายแรงจากเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ ไม่ได้เป็นไวรัสของกุ้ง แต่เป็นไวรัสของแบคทีเรีย การค้นพบดังกล่าว ได้เปิดให้มีการวิจัยแนวใหม่ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อันอาจนำไปสู่วิธีการควบคุม โรคติดเชื้อแบคทีเรียวิธีใหม่ โดยการศึกษาแบคทีเรียและไวรัส ที่มีกลไกการทำงาน ร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้กลุ่มผู้วิจัยเข้าใจธรรมชาติ วิถีการผลิต และกลไกการออกฤทธิ์ของสารพิษดังกล่าว กลุ่มผู้วิจัยเชื่อว่า สารสกัดธรรมชาติจากสาหร่ายทะเล และแบคทีเรีย ที่เป็นประโยชน์ในบ่อกุ้ง จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ การควบคุมโรคแบคทีเรีย โดยวิธีธรรมชาติ จะทำให้การใช้ยาและสารเคมี ในฟาร์มกุ้งลดลง และลดผลกระทบเชิงลบ ต่อสภาพแวดล้อม อันเกิดจากการใช้ยาและสารเคมี

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากลุ่มผู้วิจัยจะควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้ดีเพียงใด ก็ยังมีความจำเป็น ที่ต้องมีวิธีการตรวจสอบ ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในการเฝ้าระวัง และการตรวจวินิจฉัยโรค ในการนี้กลุ่มผู้วิจัย ได้พัฒนาวิธีการตรวจสอบเชื้อ V. parahaemolyticus โดยเทคนิคทางอณูวิทยา เช่นเดียวกับการพัฒนาชุดตรวจสอบ สำหรับเชื้อไวรัสในกุ้ง ซึ่งวิธีการตรวจสอบดังกล่าว สามารถทำได้กับ ตัวอย่างเลือดเพียงเล็กน้อย โดยไม่เป็นอันตรายต่อตัวกุ้ง และเห็นผลได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่งโมง วิธีการตรวจสอบคล้ายกันนี้ สำหรับเชื้อ V. harveyi กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา และเป้าหมายคือ ให้สามารถตรวจเชื้อ Vibrio ที่สำคัญ 4 ชนิด ที่พบในเมืองไทยได้ ในการตรวจเพียงครั้งเดียว การใช้วิธี การตรวจสอบเหล่านี้เป็นประจำ ในห้องปฎิบัติการ จะทำให้สามารถรู้ล่วงหน้า ก่อนการระบาดของโรค ทำให้มีเวลาในการเตรียมการป้องกัน ความเสียหายอันอาจเกิดขึ้น

 

การควบคุมโรคต่างๆ ของกุ้ง จำเป็นต้องรู้หลายๆ อย่าง ไม่เพียงแต่ตัวเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ตัวกุ้งด้วย ความก้าวหน้าในงานวิจัยเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งในกุ้งประเภท crayfish ซึ่งมีโปรตีนที่มีแบบแผนความจำจำเพาะ ต่อผนังเซลล์ของแบคทีเรีย และเชื้อรา งานวิจัยในทำนองเดียวกันในกุ้งกุลาดำ โดยนักวิทยาศาสตร์ไทยกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นโดยความร่วมมือกับ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้นำในงานวิจัย ใน crayfish ที่ประเทศสวีเดน ในทางตรงข้ามกับแบคทีเรีย ความเข้าใจเกี่ยวกับ การตอบสนองของกุ้งต่อเชื้อไวรัส แทบไม่มีเลย กลุ่มผู้วิจัยได้เริ่มทำงาน ในแนวทางที่น่าสนใจนี้ โดยได้ศึกษาในระดับอณูวิทยา ของทั้งตัวกุ้ง และไวรัส และพบว่าเซลล์กุ้ง มีกระบวนทำลายตัวเอง (apoptosis) หลังจากการติดเชื้อ WSV และ YHV งานวิจัยดังกล่าว ได้ดำเนินไปอย่างประสานสอดคล้อง กับความพยายามที่จะผลิต พ่อแม่พันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ และการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงที่ปลอดภัย

การนำ PCR ไปใช้ในภาคสนาม ต้องอาศัยนักวิจัยจากภาคเอกชน เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งทำให้ได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ของ PCR ที่นำมาใช้ และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการ ในรายละเอียด เพื่อให้สามารถ นำมาใช้ในภาคสนามได้ดีขึ้น การวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานนี้ จำเป็นต้องทดลองในภาคสนาม คือในโรงเพาะฟัก และในฟาร์มทดลอง ซึ่งต้องอาศัยสถานที่ของภาคเอกชน ผลการทดลองทำให้สามารถหาวิธีผลิต ลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อได้ และค้นพบพาหะต่างๆ ของเชื้อ ซึ่งนำไปสู่ระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบปิด ในระบบนี้ จะมีการป้องกันมิให้พาหะของเชื้อไวรัส เข้ามาสู่บ่อกุ้ง และมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำน้อย หรือถ่ายน้ำโดยอาศัยน้ำ จากบ่อพักน้ำ ซึ่งปราศจากเชื้อไวรัสและพาหะ การเลี้ยงด้วยลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อ และการเลี้ยงด้วยระบบที่ปลอดเชื้อ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย และได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการลดอัตราการเสี่ยง ของโรคตัวแดงดวงขาว และหัวเหลือง
ลงอย่างมาก

 

ในการเลี้ยงระบบปิดนั้น การบำบัดน้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ของเสียที่เกิดจากสิ่งที่กุ้งถ่ายออกมา ที่เกิดจากการตายของ แพลงค์ตอนพืชและสัตว์ ที่เกิดจากอาหารกุ้งที่เหลือในบ่อ และอีกหลายอย่าง ทำให้คุณภาพของน้ำเสียไป ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษา เพื่อคืนสภาพน้ำให้สู่ปกติ และโดยไม่อาศัยวิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ จากความร่วมมือกับนักวิจัยของบริษัท และอาจารย์ชาวอิสราเอล จึงได้เกิดวิธีการบำบัดน้ำในบ่อกุ้ง แบบธรรมชาติขึ้น ซึ่งเป็นแบบชีวภาพ (bioremediation) หลักการสำคัญของวิธีการคือ การปรับระดับของปริมาณ คาร์บอน และไนโตรเจนในน้ำ ให้มีอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้จุลินทรีย์บางชนิด ที่สามารถกำจัด มลภาวะในน้ำได้ เจริญเติบโตขึ้นมา

 

ในการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยังต้องพึ่งพาธรรมชาตินั้น ไม่ว่าจะพยายามป้องกันอย่างไร เชื้อโรคก็ยังมีโอกาส สอดแทรกเข้ามาได้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัย ค้นหาจุลินทรีย์กำจัดเชื้อโรค หรือจุลินทรีย์เพิ่มภูมิต้านทาน ให้แก่กุ้ง (probiotics) และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ กลุ่มผู้วิจัย และนักวิจัยของบริษัท จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้า ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และสามารถหาสารชีวภาพดังกล่าว นำมาช่วยเหลือเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง

 

นอกจากด้านโรคแล้ว กลุ่มผู้วิจัย ยังทำงานวิจัยเกี่ยวกับ การผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ จากบ่อเลี้ยง (domestication) ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตออกมาได้ถึงรุ่นที่สี่ และคาดว่าสามารถพัฒนาต่อไป ในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมกันนั้นได้ศึกษาค้นคว้าด้านพันธุกรรม ของกุ้งกุลาดำ การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยอาศัยผลของการเจริญเติบโต ผลของการต้านทานโรค ควบคู่กับการศึกษาด้านชีวโมเลกุลของสายพันธุ์ (molecular genetics) โดยการช่วยเหลือของ ดร. ศิราวุธ กลิ่นบุหงา จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร. อัญชลี ทัศนาขจร จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ผลการศึกษานี้ ทำให้เกิดความเข้าในเป็นรูปธรรมว่า งานวิจัยไม่ว่าในระดับใดๆ ก็ตาม ที่สามารถนำมาใช้ได้ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม คือการวิจัยเชิงพัฒนาที่แท้จริง

 

มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งในประเทศไทย ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาได้ ด้วยการทำงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และทางด้านอณูชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล และ BIOTEC จึงได้ตั้ง หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและอณูวิทยาในกุ้ง ซึ่งอยู่ใน ศูนย์วิจัยใหม่ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกว่า Center of Excellence หน่วยวิจัยนี้จะเริ่มเปิด ในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2001 และกลุ่มผู้วิจัยจะเข้าไปทำงานวิจัยในศูนย์วิจัยนี้ จุดมุ่งหมายของกลุ่ม จะมุ่งไปยังการร่วมมือของงานวิจัย ตลอดจนการฝึกเทคนิคเฉพาะด้าน สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่จะพัฒนาและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนพยายามลดผลกระทบ ที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้วิจัยเชื่อว่า ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ จะมีขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง เพราะไม่มีผู้ใด ที่เชี่ยวชาญไปทุกเรื่อง ผลงานที่เกิดขึ้น เช่น การจดสิทธิบัตร การตีพิมพ์บทความทางวิชาการ และความร่วมมือกัน กับกลุ่มนักวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ ถึงความสำเร็จของความพยายามในครั้งนี้

กิตติกรรมประกาศของคณะผู้วิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ

 

ความสำเร็จของงานวิจัยครั้งนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดความสนุบสนุนอย่างดีเยี่ยม ของผู้ร่วมโครงการทุกคน ตลอดจนการทำงานอย่างหนัก ของนักศึกษา ซึ่งรางวัลที่ได้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ ในการทำงานอย่างเต็มที่ของทุกคน งานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากการสนับสนุนอย่างดีจาก ดร. ชิงชัย โลหะวัฒนกุล ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด และถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยาก ที่จะกล่าวขอบคุณบุคคลทุกคน ที่มีส่วนช่วยเหลือโครงการนี้ แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอขอบคุณ ศ.ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม ศ.ดร. ประพนธ์ วิไลรัตน์ ศ.ดร. ประเสริฐ โสภน และ Mr. Dan Fegan เป็นพิเศษสำหรับคำแนะนำ และข้อเสนอแนะที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้ว ยังต้องขอขอบคุณ นักวิจัยผู้ร่วมงาน อันได้แก่ อาจารย์ศิริพร ศรีอุไรรัตนา รศ.ดร. วิทยา ธรรมวิทย์ รศ.ดร. อัญชลี ทัศนาขจร ผศ.ดร. ชัยณรงค์ วงศ์ธีรทรัพย์ ผศ.ดร. ธีรศักดิ์ พัชรวิภาส และ Dr. Victoria Alday de Graindorge และขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง สำหรับ คุณพรเทพ ปลอดภัย ในงานด้านการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ตลอดจนนักวิจัยรุ่นใหม่ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ที่ทำงานวิจัยอย่างหนัก ได้แก่ คุณวรรณลิกา เกียรติปฐมชัย คุณนุสรา สิทธิดิลกรัตน์ คุณปานันท์ กาญจนภูมิ ดร. ศราวุฒิ จิตรภักดี ดร. วาสนา สุขุมศิริชาติ ดร. กรณิการ์ ขนบดี คุณศรีวรรณ วงศ์วิศาลศรี คุณรัชนี กลิ่นพุฒซ้อน คุณกานต์ยุพา จิตติวัฒนา คุณศศิมนัส อุณจักร์ คุณกัลยา ศรีธัญญลักษณา คุณประเสริฐ โรจน์หล่อสกุล คุณจุไรรัตน์ พร้อมใจ Mr. Chun Ter Kuo คุณชุมพร สุวรรณยาน คุณภัทธิรา พงศ์ทิพพาธี คุณสุภัทรา โสมาภา คุณกนกพร ฉายะบุระกุล คุณสุภาพร อนปรุ คุณประเทือง ชมสูง คุณพินิจ ทวีธรรมเสวี คุณกนกพรรณ บุปผานิโรจน์ และ คุณอัญชลี พงศาอัศวไพบูลย์ จากภาคเอกชน ขอขอบคุณ นายสัตวแพทย์ภูษิต ประธานพิพัฒน์ Dr. Gary Nash นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ คุณอนุตรา อัครจามร คุณเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร คุณพยันต์ ตันสกุล คุณจันทรา นิธิเมธาโชค คุณปิยะนุช จุรุพันธ์ และคุณสมใจ วงศ์ตรีภพ ขอขอบคุณความช่วยเหลือ จากผู้ร่วมงานจากสถาบันอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. สิทธิ บุญญรัตนผลิน และ ดร. จิราพร เกษรจันทร์ จากกรมประมง รศ.ดร. ชลอ ลิ้มสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศ.ดร. เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สุดท้าย ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำหรับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง

 



จากหนังสือ "TTSF มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย.
Thailand Toray Science Foundation 2000". [ISBN 974-87951-3-6] หน้า 24-39.