logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์
(Professor Dr. Pramuan Tangboriboonrat)
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี พ.ศ. 2551 สาขาเคมีพอลิเมอร์

ประวัติส่วนตัว

 

ศ. ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2505 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ศึกษาขั้นต้นที่ โรงเรียนผดุงศิษย์พิทยาประจันตคาม โรงเรียนประจันตราษฎร์บำรุง และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อ พ.ศ. 2522 ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเคมี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลเรียนดีและประพฤติดีเป็นเยี่ยม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2524 และรางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ใน พ.ศ. 2526

จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาฟิสิคัลเคมี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิคัลเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ  นีละนิธิ ใน พ.ศ. 2529 และได้ทุนของรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก โดยได้รับ DiplÔme Elémentaire de Ia Langue Française (DELF) ที่ CAVILAM เมือง Vichy ใน พ.ศ. 2530 ได้รับ DiplÔme D’Etude Applofondie (DEA; Chimie Physique) ใน พ.ศ. 2531 และปริญญาเอก (Docteur; Chimie Macromoléculaire) จาก Université de Haute Alsace, Ecole Nationale Supérieure de Chimie de Mulhouse ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2534

ประวัติการทำงาน

ศ. ดร.ประมวลเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใน พ.ศ. 2537 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์เมื่อ พ.ศ. 2540 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2547 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ประถมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2549

ศ. ดร.ประมวล ศึกษาวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติ เพื่อให้ได้ความรู้พื้นฐานที่ผิวของอนุภาคยางในน้ำยางธรรมชาติ และสามารถนำยางธรรมชาติไปใช้ในรูปแบบใหม่ๆ โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทุนโครงการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม สาขาอุตสาหกรรมยาง จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทุนจาก Eno Science Foundation (Japan) ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.) พ.ศ. 2538-2543 และทุนองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา (วุฒิเมธีวิจัย สกว.) พ.ศ. 2544-2550 จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2539 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับคัดเลือกให้ได้ทุนเผยแพร่ผลงานวิจัยในต่างประเทศสำหรับนักวิจัยที่มีผลงานดีเยี่ยม จาก สกว. ใน พ.ศ. 2540 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2542 ผลงานวิจัยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 15 ผลงานวิจัยดีเด่นของ สกว. ใน พ.ศ. 2550 ได้รับทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ลอริอัลประเทศไทย สาขาวัสดุศาสตร์ (L’OREAL-UNESCO Fellowship for Women in Science) และได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) ประจำปี 2551 จาก สกว. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

 

นอกจากนั้น ใน พ.ศ. 2545-2547 ได้ทำหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการเจียระไนเพชร ฝ่ายวิชาการ สกว. พ.ศ. 2546-2549 เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) พ.ศ. 2548 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากำลังคน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) ต่อมาใน พ.ศ. 2549-2551 ดำรงตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการ ศจ. และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ปัจจุบันทำหน้าที่กรรมการกลั่นกรองวิชาการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครและวิทยาลัยนอร์ท กรุงเทพ กองบรรณาธิการวารสารของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการบริหาร บวท.

ผลงานวิจัยโดยสรุป

งานวิจัยของ ศ. ดร.ประมวลเป็นการศึกษาน้ำยางธรรมชาติหรือพอลิเมอร์ลาเทกซ์ที่ได้มาจากต้นยางพารา โดยนำเทคนิคเฟสทรานสเฟอร์ /การพอลิเมอร์ไรซ์แบบบัลค์หรือซัสเพนชัน /กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน มาใช้ตรวจสอบชนิดของประจุที่ผิวของอนุภาคยางที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ และศึกษาโครงสร้างสัณฐานของอนุภาคยางที่มีการเชื่อมโยงสายโซ่พอลิเมอร์หรือพรีวัลคาไนซ์ องค์ความรู้ที่ค้นพบสามารถนำไปใช้ในการควบคุมสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตจากน้ำยางข้น เช่น ถุงมือ และนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมในการเตรียมพอลิสไตรีนเหนียวทนแรงกระแทกจากน้ำยางธรรมชาติชนิดพรีวัลคาไนซ์

 

นอกจากเพื่อให้ได้ความรู้พื้นฐาน ยังได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาการนำน้ำยางธรรมชาติไปใช้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แก่ การใช้น้ำยางธรรมชาติเตรียมเป็นแคปซูลหุ้มปุ๋ยยูเรียด้วยเทคนิคการตกตะกอนในกรด เพื่อให้ควบคุมอัตราการปลดปล่อยปุ๋ยให้นานขึ้นในปริมาณที่เหมาะสม ด้วยเทคนิคนี้ต่อมาได้นำไปใช้เตรียมเม็ดมาสเตอร์แบทซ์ของเขม่าดำกับน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการแปรให้เป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป อยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการผสม การขึ้นรูป เพิ่มประสิทธิภาพการผสมในเครื่องผสม ลดพลังงานที่ใช้ในการผสมในแบบเดิม และลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่ใช้เติม ต่อมาได้นำอนุภาคยางสังเคราะห์พอลิคลอโรพรีนที่ปรับแต่งผิวแล้ว มายึดเกาะเพื่อหุ้มอนุภาคยางธรรมชาติให้มีโครงสร้างแบบแกน/เปลือก โดยเทคนิคการควบคุมการเกาะรวมกัน ซึ่งทำให้สมบัติการทนน้ำมันของยางธรรมชาติดีขึ้น จากนั้นได้นำมาประยุกต์ใช้กับอนุภาคยางธรรมชาติที่มีขนาดเล็กในน้ำยางสกิม

 

งานวิจัยในปัจจุบัน เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาถุงมือแพทย์ที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติให้มีโครงสร้างสามชั้น ประกอบด้วยชั้นของไมโครและ/หรือนาโนแคปซูลของยาฆ่าเชื้อโรคอยู่ระหว่างฟิล์มยาง เพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับปลายเข็มฉีดยา เมื่อถุงมือที่บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ระหว่างการปฏิบัติงานต้องสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วยเกิดรอยรั่วจากการที่เข็มแทงทะลุผ่าน ทั้งนี้ได้ทำการศึกษาเพื่อติดอนุภาค poly (methyl methacrylate) (PMMA) ลงบนผิวของแผ่นยางธรรมชาติด้วยเทคนิคการเคลือบผิวทีละชั้น เพื่อเป็นต้นแบบของการติดแคปซูลยาฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งเพิ่มความขรุขระและความแข็งที่ผิวของแผ่นยาง ส่งผลให้สัมประสิทธิ์แรงเสียดทานลดลง ซึ่งมีประโยชน์ทำให้การสวมใส่หรือถอดถุงมือออกสะดวกขึ้นโดยไม่ต้องใช้แป้ง และยังเป็นการลดการสัมผัสโดยตรงระหว่างแผ่นยางกับผิวหนังอีกด้วย

 

งานวิจัยอีกด้านหนึ่ง คือ การสังเคราะห์และปรับแต่งอนุภาคพอลิเมอร์ลาเทกซ์เพื่อเตรียมชุดตรวจเชื้อมาลาเรียเพื่อใช้งานในภาคสนาม โดยอาศัยการยึดเกาะของโปรตีนจากแอนติเจนของเชื้อมาลาเรีย (หรือแอนติบอดีต่อเชื้อมาลาเรีย) บนอนุภาคพอลิเมอร์ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งจะเกิดการเกาะกลุ่มกันเมื่อแอนติเจน (หรือแอนติบอดี) จับกับแอนติบอดี (หรือแอนติเจน) ที่อยู่ในเลือดของคนไข้ที่ติดเชื้อ อนุภาคจะรวมตัวกันมีขนาดใหญ่ ทำให้อ่านผลการทดสอบได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า

งานวิจัยในอนาคต

แนวทางการวิจัยยังมุ่งปรับแต่งสมบัติที่ผิวของยางธรรมชาติ เพื่อลดข้อด้อยและพัฒนาให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อันจะทำให้ยางธรรมชาติมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการวิจัยในส่วนที่ 1 จะเป็นการศึกษาปัจจัยของขนาดอนุภาคและการกระจายของขนาดอนุภาค PMMA ที่ติดบนผิวของฟิล์มยาง เพื่อพัฒนาให้ถุงมือยางธรรมชาติมีแรงเสียดทานบนผิวต่ำลงแล้วทดสอบความเป็นพิษ รวมทั้งสังเคราะห์โคพอลิเมอร์ประเภท graft หรือ block ของ polylactide (PLA) กับ polysaccharide เพื่อนำมาใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวที่ย่อยสลายได้ในการเตรียมอนุภาคดังกล่าว นอกจากนี้จะพัฒนาการเตรียมถุงมือแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยชั้นของแคปซูลของอนุภาคพอลิเมอร์ ที่บรรจุยาฆ่าเชื้อโรคอยู่ระหว่างฟิล์มยางธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีความหนาลดลง

 

ในส่วนที่ 2 จะทำการวิจัยเพื่อสังเคราะห์พอลิเมอร์ที่มีหมู่ฟังก์ชันที่เหมาะสมและ/หรือมีฤทธิ์ทางชีวภาพ แล้วนำไปติดบนแผ่นยางธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในทางชีวการแพทย์ ตลอดจนเพื่อนำไปยึดติดบนอนุภาคพอลิเมอร์ที่มีสมบัติเป็นแม่เหล็กแล้วจึงนำไปติดกับโปรตีนหรือสารชีวภาพ เพื่อใช้ในการแยกโปรตีนออกจากส่วนผสม และ/หรือใช้ในการตรวจสอบเชื้อโรคโดยอาศัยสมบัติการยึดเกาะกับโปรตีน นอกจากนี้ยังมุ่งจะพัฒนาพอลิเมอร์ที่มีความจำเพาะสูงให้สามารถใช้แทนเอนไซม์เพื่อเพิ่มความไว และความแม่นยำในการตรวจโรคอีกด้วย

 

ในส่วนที่ 3 เป็นการเตรียมพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ เช่น PLA, PLA ผสม poly(ethylene glycol) (PEG) และ block copolymer ของ PLA-b-PEG มาขึ้นรูปเป็นเส้นใยที่มีขนาดเล็กสานกัน โดยเทคนิคอิเล็กโตร-สปินนิ่ง แล้วนำไปใช้บรรจุยาเพื่อให้สามารถควบคุมอัตราการปลดปล่อยยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะศึกษาแนวทางนำเส้นใยขนาดนาโนไปประยุกต์ใช้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ และจะพัฒนาใช้พอลิเมอร์ดังกล่าวในแผ่นปิดชนิดไวต่อแรงกดที่ทำจากยางธรรมชาติ ตลอดจนใช้ในการปรับแต่งสมบัติของยางธรรมชาติ

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

การวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ของวัสดุพอลิเมอร์ทั้งประเภทที่ได้จากธรรมชาติและการสังเคราะห์ จะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรม ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานและทำให้ประยุกต์ใช้ได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อพัฒนายางธรรมชาติที่ประเทศไทยส่งออกมากในรูปวัตถุดิบ เช่น ยางแผ่น และน้ำยางข้น ซึ่งมีมูลค่าทางการค้าไม่สูง การศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนประกอบที่แน่นอนของน้ำยางและอนุภาคยาง รวมทั้งการปรับแต่งและ/หรือใช้ร่วมกับพอลิเมอร์ชนิดอื่น จะนำไปสู่การพัฒนาให้ยางมีสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม กว้างขึ้นกว่าเดิม หรือลดข้อด้อย จะทำให้ยางธรรมชาติมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นำไปใช้ได้มากขึ้นในหลายด้าน รวมทั้งด้านสาธารณสุขและชีวการแพทย์


จากหนังสือ :
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2551.