logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ
(Professor Dr. Nateetip Krishnamra)
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี พ.ศ. 2547 สาขาต่อมไร้ท่อ
ประวัติส่วนตัว

 

เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ที่กรุงเทพมหานคร เริ่มการศึกษาระดับประถมและมัธยมตอนต้น จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย พ.ศ. 2510 ศึกษาต่อระดับมัธยมตอนปลายที่ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับ Advanced Levels จากโรงเรียน Ashford School ใน Kent สอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาใน Westfield-Queen Mary College London University จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิชา Biological Sciences ในปี พ.ศ. 2517 เดินทางกลับประเทศไทย และศึกษาต่อในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. 2520 และปริญญาเอกเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยได้รับรางวัลการศึกษาระดับปริญญาเอก มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ สมรสกับศาสตราจารย์สมฤกษ์ กฤษณามระ มี บุตร 1 คน คือ นายศมกฤต

ประวัติการทำงาน

 

เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2517 และได้ลาราชการเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่ภาควิชาฯ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หลังจากจบการศึกษาได้กลับเข้ารับราชการ ทำหน้าที่สอนวิชาสรีรวิทยาแก่นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย และปฏิบัติงานวิจัยด้านระบบต่อมไร้ท่อและการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2524 รองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2530 และ ศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2539 ระหว่างนั้นได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทุนวิจัยสำหรับทำวิจัยรุ่นกลางของคณะวิทยาศาสตร์ ทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทุนองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตามลำดับ นอกจากนี้ได้ทำงานบริหารในตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2545 รองประธานสภาวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน และอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-ปัจจุบัน ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2545

 

ในปี พ.ศ. 2546 ได้ก่อตั้งเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (Consortum for Calcium and Bone Research หรือ COCAB) ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยเพื่อองค์ความรู้ด้านการควบคุมแคลเซียมเมตาบอลิสม กระบวนการสร้างและสลายกระดูก (bone remodeling) และกลไกการเกิดความผิดปกติในระดับเซลล์กระดูกใน metabolic bone diseases ต่างๆ โดยวิจัยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ. 2547-2550 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 10 ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

งานวิจัยที่ผ่านมาประกอบด้วย 3 ส่วนคือ (1) การศึกษากลไกการดูดซึมที่ลำไส้ (2) การศึกษาวิจัยผลและกลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนโพรแลคติน ในฐานะฮอร์โมนควบคุมเมตาบอลิสมของแคลเซียมและกระดูก และ (3) การวิจัยสาเหตุของความผิดปกติของแคลเซียมเมตาบอลิสมและกระดูกใน metabolic bone disease ประเภทต่างๆ
กลไกการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ (mechanisms of the intestinal calcium absorption) งานวิจัยส่วนนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากงานวิจัยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก ซึ่งเป็นการศึกษาผลและกลไกของฮอร์โมนแกสตริน ที่หลั่งจากกระเพาะอาหาร ในการลดระดับของแคลเซียมในเลือด หลังจากจบปริญญาเอกได้ศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียมเมตาบอลิสม และกลไกการดูดซึมแคลเซียมภายในอิทธิพลของแอลกอฮอล์และฮอร์โมนโพรแลคติน ได้องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกลไกการดูดซึมแคลเซียม กล่าวคือ นอกจากจะแบ่งเป็นการดูดซึมตามลาดความเข้มข้น หรือ passive กับ active ดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น ได้พบว่าการดูดซึมแคลเซียมแบบ active ยังสามารถแบ่งเป็นการขนส่ง 3 ประเภทย่อย ได้แก่ transcellular, voltage-dependent และ paracellular solvent drag-induced active transport ซึ่ง ในส่วนที่ 3 นี้มีสัดส่วนสูงถึง 75% ของการดูดซึม active ทั้งหมด การดูดซึมประเภทย่อยที่ 3 นี้เกิดจากการขนส่ง Na+ จากเซลล์เข้าสู่ช่องระหว่างเซลล์โดย Na+ -K+ -ATPase ทำให้เกิดความดันออสโมติก ซึ่งมีผลให้ของเหลวจากโพรงลำไส้ไหลผ่านช่องระหว่างเซลล์เข้าสู่ด้านเลือด นำเอาตัวถูกละลายที่มีขนาดเล็ก รวมทั้งแคลเซียมผ่านเข้าไปด้วย การวิจัยเหล่านี้ใช้เทคนิควิจัยทางสรีรวิทยาต่างๆ เช่น in vivo 45 Ca kinetics, in situ perfused intestinal sac, in vitro Using chamber technique และ electrophysiology
ผลของฮอร์โมนโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมเมตาบอลสมของแคลเซียมและกระดูก (Prolactin : a novel role in the regulation of calcium and bone metabolism) ความสนใจในฮอร์โมนโพรแลคตินเริ่มมาจากรายงานในต่างประเทศว่า การดูดซึมแคลเซียมในหนูทดลองที่ตั้งท้องหรืออยู่ในช่วงให้นมลูก สามารถคงอยู่ในอัตราที่สูงกว่าปรกติ โดยไม่ต้องอาศัยฮอร์โมนจากวิตามินดี และเนื่องจากโพรแลคตินมีระดับในเลือดสูงกว่าปกติถึง 20 เท่า ในระยะตั้งท้องและให้นม ประกอบกับมีรายงานว่าโพรแลคตินมีผลต่อการดูดซึมอิเล็กโทรไลท์บางชนิด จึงทำให้สนใจศึกษาว่าโพรแลคตินมีผลหรือไม่ต่อการดูดซึมแคลเซียม จากการทดลองพบว่าโพรแลคตินมีผลกระตุ้นการดูดซึม ทั้งแบบ passive และ active โดยเฉพาะในหนูทดลองตั้งแต่อายุน้อยไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ นอกจากนั้นยังพบอีกว่าแคลเซียมที่ดูดซึมเพิ่มขึ้น ไม่ได้ถูกขับถ่ายทิ้งในปัสสาวะ แต่ถูกสะสมที่กระดูก ความสนใจจึงเริ่มขยายขอบข่ายจากการดูดซึมที่ลำไส้ ไปสู่การศึกษาผลของโพรแลคตินต่อการสร้างและสลายกระดูก หรือ bone remodeling ผลงานวิจัยจนถึงปัจจุบันพบว่า โพรแลคตินมีส่วนในการควบคุม bone growth ในวัยเจริญเติมโต และมีผลเพิ่มอัตราของ bone remodeling ในวัยเจริญพันธุ์และในช่วงตั้งท้อง จากที่พบว่าโพรแลคตินเพิ่มความเข้มข้นของแคลเซียมในน้ำนมของแม่หนู ทำให้สนใจที่จะศึกษาถึงผลของโพรแลคตินต่อ calcium handling ในเซลล์เต้านม ผลการศึกษาวิจัยเหล่านี้จึงนำไปสู่สมมติฐานว่า โพรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมสมดุลแคลเซียม และ bone remodeling โดยเฉพาะในช่วยเจริญเติบโตและในช่วงตั้งท้องและให้นม โดยออกฤทธิ์ที่เซลล์เป้าหมายต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การประสานงานของระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับภาวะนั้นๆ
ความผิดปกติของแคลเซียมเมตาบอลิสมและกระดูกใน metabolic bone diseases งานวิจัยส่วนนี้เป็นการขยายขอบข่ายจากการวิจัยองค์ความรู้พื้นฐาน (fundamental research) ให้เชื่อมกับการวิจัยทางการแพทย์ (clinical research) เพื่อนำไปสู่การประยุกต์องค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้ร่วมงานวิจัยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตวงพร สุทธิพงษ์ชัย คณะวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ นพ. บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล, ศาสตราจารย์ นพ. สมนึก ดำรงกิจชัยพร ศาสตราจารย์ นพ. วรชัย ศิริกุลชยานนท์ และ พญ. สินี ดิษฐบรรจง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาถึงสาเหตุของความผิดปกติที่พบในกระดูกผู้ป่วยโรคภาวะเลือดเป็นกรดจากไตที่ทำงานผิดปกติ (distal renal tubular acidosis, dRTA) ซึ่งพบมากในประชากรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาวิจัยขนานกันไปในผู้ป่วยกับในหนูทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) หรือภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) และศึกษาในระดับเซลล์โดยใช้ทั้ง cell lines และ primary cells จากคนและจากหนูทดลอง การวิจัยใช้การติดตามดูความหนาแน่นของกระดูก อัตราการสร้างและสลายกระดูกด้วยเทคนิค bone histomorphometry และ biochemical markers ต่างๆ ในเลือด รวมทั้งการศึกษาทางอณูชีววิทยา

 

งานวิจัยในอนาคต

แนวทางงานวิจัยที่สนใจแบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่การวิจัยองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกลไกการดูดซึมแคลเซียมและโพรแลคติน ในฐานะฮอร์โมนควบคุมเมตาบอลิสมของแคลเซียมและกระดูก การวิจัยเกี่ยวกับ metabolic bone diseases ที่พบมากในคนไทย และงานวิจัยเพื่อนำ mathematical model มาใช้อธิบายและคาดการณ์กระบวนการทางสรีรวิทยา

1. ศึกษากลไกการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ โดยเฉพาะการขนส่งแคลเซียมแบบ paracellular solvent drag-induced active calcium transport ซึ่งคาดว่าจะต้องอาศัยโปรตีนชนิดพิเศษที่พบบริเวณ tight junctions ชื่อว่า claudins
ซึ่งเพิ่มมีการค้นพบไม่นานมานี้ จะศึกษาถึงตัวแปรที่มีผลควบคุมการขนส่งแคลเซียมแบบนี้ด้วย
 
2. พิสูจน์สมมติฐานที่ว่า โพรแลคตินนอกเหนือจากจะเป็นฮอร์โมนหลักที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมแล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมเมตาบอลิสมของแคลเซียม โดย synchronize การขนส่งแคลเซียมที่อวัยวะเป้าหมายต่างๆ เช่น ลำไส้ ไต กระดูก และเต้านม ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสามารถเคลื่อนย้ายแคลเซียมไปใช้สร้างกระดูกในวัยเจริญเติบโต สร้างกระดูกของลูกในครรภ์ และขับหลั่งแคลเซียมไปสู่น้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกอ่อน โดยจะศึกษาละเอียดถึง signal transduction pathway ของฮอร์โมน และผลของโพรแลคตินในระดับโมเลกุลในเซลล์เป้าหมายต่างๆ ซึ่งจะเป็นความรู้ใหม่เกี่ยวกับฮอร์โมนตัวนี้
 
3. ศึกษาถึงกลไกการเกิดความผิดปกติของกระดูกในระดับเซลล์และโมเลกุลใน metabolic bone diseases ที่พบมาในคนไทย เช่น dRTA และ osteoporosis เพื่อพัฒนาวิธีวินิจฉัยและรักษาโรคดังกล่าว
 
4. ร่วมวิจัยพัฒนา mathematical model เพื่อนำมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของ calcium metabolism และ bone remodeling ในสภาวะปกติและพยาธิสภาพ และเพื่อใช้คาดการณ์การตอบสนองของระบบแคลเซียมหรือกระดูกต่อตัวแปรต่างๆ ซึงหากพัฒนาได้ถึงขั้นหนึ่งนอกจากจะลดการใช้สัตว์ทดลอง ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพยาธิสรีรวิทยาของโรค ตลอดจนใช้ทดสอบวิธีการรักษาได้

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

 

1. องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับหน้าที่และกลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนโพรแลคติน ในการควบคุมสมดุลแคลเซียมและเมตาบอลิสมของกระดูก จะนำไปสู่ความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับการปรับตัวของร่างกายสนองต่อความต้องการแคลเซียมในปริมาณสูง เช่น ในช่วงเจริญเติบโต ในระยะตั้งครรภ์และให้นมลูก ตลอดจนการสูญเสียกระดูกในวัยสูงอายุ
2. ความรู้ที่ได้จากการศึกษากลไกการดูดซึมแคลเซียมในระดับเซลล์และหน้าที่ของโปรตีน claudins อาจพัฒนาไปสู่วิธีเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม หรือนำไปสู่การตอบคำถามเกี่ยวกับยีนที่ควบคุมการดูดซึมแคลเซียม
3. ความรู้ที่ได้จากการศึกษาความผิดปกติของกระดูกใน metabolic bone diseases ในระดับเซลล์และโมเลกุล จะสามารถพัฒนาไปสู่วิธีวินิจฉัย รักษา และการป้องกันความผิดปกติอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB) มีแผนที่จะพัฒนาห้องปฏิบัติการให้มีความเชี่ยวชาญทางการวิจัยแบบบูรณาการ ครอบคลุมเทคนิคพื้นฐานทางสรีรวิทยา ชีวเคมี อณูชีววิทยา และพันธุ์วิศวกรรม ที่สามารถใช้วิจัยปัญหาทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคหรือสารพิษที่มีผลต่อกระดูกได้อย่างรวดเร็วและครบวงจร

 


จากหนังสือ :
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2547-2548. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.