logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
(Professor Dr. M.R. Jisnuson Svasti)
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี พ.ศ. 2547 สาขาวิทยาการโปรตีน
ประวัติส่วนตัว

 

ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี และ หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ เกิดที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2490 ศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุหกขวบ โดยสำเร็จการศึกษาระดับประถมที่ Cheam School และระดับมัธยมที่ Rugby School จากนั้นได้รับปริญญาตรีและปริญญาโท สาชาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษปี พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2515 และได้รับปริญญาเอกสาขาอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2515 โดยทำงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล Dr. Cesar Milstein ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ สมรสกับ ม.ร.ว. พร้อมฉัตร มีบุตรสาวสองคนคือ ม.ล. ศศิภา และ ม.ล. จันทราภา

ประวัติการทำงาน

 

ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2518 รองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2521 และศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2525 เคยปฏิบัติงานวิจัยที่ University of Texas Medical Branch, Galveston, Texas, USA ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2520 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี ในปี พ.ศ. 2523-2527 รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2540 และรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2542 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวเคมี สภาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2533)

ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์ และเน้นทางด้านนี้มาตลอดทั้งในการสอนและในการวิจัย นอกจากนี้ยังมีความสนใจเกี่ยวกับการวิจัยทางด้านชีวเคมีศึกษาด้วย โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 106 เรื่อง ผลงานวิชาการด้านชีวเคมีศึกษาและด้านอื่นในวารสารนานาชาติ 20 เรื่อง ผลงานวิชาการภาษาไทย 13 เรื่อง ตำราและคู่มือ 4 เล่ม จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้ ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นสาขาวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2525 และรางวัลนักวิจัยดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2540 รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2545 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2546 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชวิทยา ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ. 2546 ของสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2547 สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท) นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ในปี พ.ศ. 2536 และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) ในปี พ.ศ. 2541

 

นอกจากงานวิจัยและงานสอนแล้ว ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ยังได้ร่วมกิจกรรมของสมาคมและองค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ ของประเทศไทย ได้แก่ เป็นประธานสาขาชีวเคมี สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2528-2530) บรรณาธิการวารสารของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2528-2530) บรรณาธิการวารสาร ScienceAsia ( พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน) สมาชิกบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2540) กรรมการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสาขาเกษตรและชีววิทยา (พ.ศ. 2534-2541) และสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชวิทยา (พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน) รวมทั้งเป็นกรรมการและผู้บริหารขององค์กรนานาชาติต่างๆ ได้แก่ Member, Coordinating Committee, Asian Netwerk for Biological Science (พ.ศ. 2522-2525);Treasurer (พ.ศ. 2523-2529) และ President (พ.ศ. 2533-2535), Federation Asian and Oceanian Biochemists; Member, Committee on Symposia, International Union of Biochemistry and Molecular Biology (พ.ศ. 2539-2545); Member, Governing Council Asia-Pacific International Molecular Biology Network (พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน); Membership Committee for Biochemistry and Biophysics, Third World Academy of Science (พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน); และ Council Member. Asian and Oceanic Human Proteome Organization (พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน) จนได้รับเกียรติเชิญให้เป็น Honorary Member ของ Federation of Asia and Oceanian Biochemists and Molecular Biologists และ Philippine Society for Biochemistry and Molecular Biology.

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้เริ่มงานวิจัยศึกษาด้านโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนและเอนไซม์ในประเทศไทย มาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยศึกษาโปรตีนต่างๆ หลายชนิด ดังต่อไปนี้
  • การศึกษาโปรตีนอิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นโปรตีนภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในร่างกาย จึงเป็นโปรตีนที่มีลักษณะโครงสร้างที่พิเศษ โดยมีส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานทำหน้าที่ส่วนรวม และส่วนที่มีความจำเพาะเพื่อให้สามารถจับกับสารต่างๆได้
  • การศึกษาโปรตีนและเอนไซม์จำเพาะต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติและโครงสร้างต่างจากโปรตีนชนิดเดียวกันที่พบในอวัยวะอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการหาแนวทางคุมกำเนิดในเพศชาย โปรตีนที่ศึกษาได้แก่ sperm protamine, testis-specific histone, tests-specific lactate dehydrogenase isozyme X และ plasma acidic protease เป็นต้น ทำให้เข้าใจโครงสร้างและกลไกการทำงานของโปรตีนเหล่านั้น
  • การศึกษาโปรตีนผิดปกติในโรคเลือด
    ในปัจจุบัน ยังได้ร่วมทำงานวิจัยกับกลุ่มนักวิจัยทางการแพทย์ ที่สนใจเกี่ยวกับโรคเลือดต่างๆ ที่พบในคนไทย โดยศึกษาโปรตีนผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุของโรค และได้ค้นพบฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดใหม่อีกหลายชนิด และรายงานในวารสารระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก เช่น Hb-Lepor, Hb J Buda, Hb G Coushatta และ Hb Queens เป็นต้น ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง โครงสร้างของฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ และอาการของคนไข้ สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจนขึ้น และ สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
  • การศึกษาโปรตีน และเอนไซม์ในโรคความผิดปกติของ กระบวนการเมตาบอลิซึม (Inborn errors of metabolism) โดยความร่วมมือกับกลุ่มแพทย์ทางพันธุศาสตร์ในสถาบันต่างๆ ได้ศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ ในโรคความผิดปกติของกระบวนการเมตาบอลิซึม (Inborn errors of metabolism) ในเด็กไทย ซึ่งโรคในกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะก่อให้เกิดอาการปัญญาอ่อน และเป็นปัญหาของสังคมต่อไป การศึกษามุ่งเน้นที่จะสร้างองค์ความรู้พื้นฐานระดับโมเลกุล เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคช่วยในการบำบัดรักษา และการถ่ายทอดความรู้แก่ครอบครัวของผู้ป่วยต่อไป
  • การพัฒนาเทคนิคด้านโปรตีนโอมิกส์ในการวิจัยโรคมะเร็ง กลุ่มวิจัยของ ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้เป็นห้องปฏิบัติการแรกในประเทศไทย ที่ได้นำเทคนิคการศึกษาด้านโปรตีนโอมิกส์มาใช้ศึกษาความผิดปกติของโปรตีนในเซลล์ โดยเริ่มการศึกษาโปรตีนผิดปกติที่พบในโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และศึกษาทั้งในตัวอย่างจากผู้ป่วยและเซลล์สายพันธุ์เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อวิเคราะห์หาโปรตีนที่น่าจะมีความสำคัญ หรือมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยหากสามารถค้นพบโปรตีนที่สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ชีวภาพ หรือเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษาโรคมะเร็ง จะทำให้เกิดแนวทางในการพัฒนา การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก และแนวทางการติดตามผลการรักษา ตลอดจนหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีความพยายามใช้เทคนิคโปรตีนโอมิกส์ เพื่อศึกษากลไกการทำงานของสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง
  • การศึกษาโครงสร้างการทำงานของเอนไซม์ไกลโคซิเดสและสารจำพวกไกลโคไซด์ กลุ่มวิจัยของ ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นกลุ่มวิจัยแรกที่ริเริ่มศึกษาโครงสร้างการทำงานของเอนไซม์ไกลโคซิเดสและไกลโคไซด์ ซึ่งในปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายและการสร้างคาร์โบไฮเดรท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารจำพวกโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งพบว่ามีความสำคัญต่อการทำงานต่างๆ ของเซลล์ได้ค้นพบเอนไซม์จำพวกนี้ชนิดใหม่หลายชนิดจากเมล็ดพืชพื้นเมืองของไทย ที่มีประโยชน์ในการสามารถนำมาใช้ในการสังเคราะห์โอลิโกแซคคาไรด์และไกลโคไซด์ได้ ตัวอย่างเช่น เอนไซม์จากพะยูง ถ่อน มะเขือพวง กระเจี๊ยบ ฉนวน ลั่นทม มันสำปะหลัง และ ข้าว เป็นต้น ซึ่งทำให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติในเรื่องนี้หลายเรื่อง

 

งานวิจัยในอนาคต

โปรตีนเป็นตัวการแสดงออกของยีนหรือลักษณะพันธุกรรม เป็นสารที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในเซลล์ ความก้าวหน้าทางวิทยาการในเวลาที่ผ่านมามุ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการถอดรหัสพันธุกรรม การวิเคราะห์โครงสร้างของยีน อย่างไรก็ตามเซลล์ต้องแปลรหัสพันธุกรรมออกมาในรูปของโปรตีน และโปรตีนยังต้องมีการดัดแปลงให้อยู่ในโครงรูปสามมิติที่ทำงานได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของรหัสพันธุกรรมแต่อย่างใด ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและความสัมพันธ์ของโครงสร้างกับการทำงานของโปรตีน น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการต่างๆของสิ่งมีชีวิต และอาจช่วยให้ทำนายกลไกการทำงาน ความผิดปกติในการทำงานตลอดจนหาวิธีการไข ปรับปรุงได้
ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ทำการวิจัยศึกษาโครงสร้างของโปรตีนและการทำงานของเอนไซม์ในระดับโมเลกุล ที่ศูนย์วิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และห้องปฏิบัติการชีวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มุ่งสร้างกลุ่มทีมวิจัยโปรตีนและเอนไซม์ที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศไทย โดยมีกลุ่มวิจัยประกอบด้วยนักวิจัยระดับปริญญาเอกทั้งหมด 20 คน งานวิจัยในอนาคตยังคงมุ่งขยายงานวิจัยทางด้านนี้ในประเทศไทยให้กว้างขวางขึ้น โดยเน้นการศึกษาเอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ และโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคในมนุษย์ งานวิจัยทั้งหมดในอนาคตจะครอบคลุมการศึกษาใน 3 หัวข้อใหญ่ๆดังนี้
การศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้างและการทำงาน โปรตีนและเอนไซม์ที่จะศึกษาได้แก่ เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอนุพันธ์ของเพนนิซิลินที่มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นยารักษาโรค เอนไซม์ไกลโคซิเดสที่มีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารจำพวกโอลิโกแซคคาไรด์และไกลโคไซด์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง เอนไซม์ลูซิเฟอเรสใช้วินิจฉัยโรคและใช้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ไลโซไซม์เป็นเอนไซม์สำคัญที่ใช้ทำลายผนังเซลล์แบคทีเรียอะเซทิลโคเอนไซม์เอคาร์บอกซีเลส ที่ใช้ในกระบวนการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ และสารสังเคราะห์จำลองเอนไซม์ย่อยโปรตีน
การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในโรคต่างๆ รวมทั้งการประยุกต์ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ในการรักษาโรคมะเร็งและการหายของแผล โดยมุ่งศึกษาลักษณะการผ่าเหล่าในโรคพันธุกรรม เช่น โรคความผิดปกติของฮีโมโกลบิน การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและเอนไซม์ในโรคความผิดปกติของกระบวนการเมตาบอลิซึม เพื่อเข้าใจการเกิดโรค การดำเนินโรค ตลอดจนหาวิธีการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ การศึกษารูปแบบการแสดงออกของโปรตีนในโรคมะเร็ง ศึกษาทั้งในเนื้อเยื่อจากผู้ป่วยโรคมะเร็งและในเซลล์เพาะเลี้ยง เพื่อหาตัวบ่งชี้ชีวภาพที่จะใช้ในการตรวจวินิจฉัยและติดตามการดำเนินโรคและการรักษา รวมทั้งความพยายามในการหาสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาไปเป็นยารักษาโรคมะเร็งต่อไป นอกจากนี้การศึกษาทางโปรตีโอมิกส์ ยังอาจช่วยให้เข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดธรรมชาติเหล่านั้นอีกด้วย
การประยุกต์ใช้เอนไซม์และโปรตีนทางเทคโนโลยีชีวภาพ โปรตีนที่สนใจศึกษาได้แก่ โปรตีนจากไหมไทยและเอนไซม์ย่อยโปรตีนในไหมไทย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทย การแยกสกัดและศึกษาเอนไซม์นาริจีเนสจากแหล่งในประเทศไทย เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำผลไม้เพื่อกำจัดรสขมในน้ำผลไม้ การใช้เอนไซม์เซลลูเลสเพื่อช่วยในการเตรียมซิลิกาอสัณฐานจากแกลบและฟาง

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

 

คาดว่างานวิจัยทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องของกลไกการทำงานของโปรตีนและความสัมพันธ์กับโครงสร้าง ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต นอกจากนี้น่าจะทำให้งานวิจัยทางด้านโปรตีนเข้มแข็งขึ้นในประเทศไทย เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาปัญญาของประเทศชาติที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

 


จากหนังสือ :
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2547-2548. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.