logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. ยงค์วิมล เลณบุรี
(Professor Dr.Yongwimon Lenbury)
เมธีอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2545

ประวัติส่วนตัว

 

เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพฯ เรียนระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ.2519 และปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2521 ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ จาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย โดยทุนโคลอมโบ และได้รับรางวัล P. Bok Prize สำหรับนักศึกษาหญิง ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีผลการศึกษาดีที่สุด ประจำปี พ.ศ. 2515 จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในภายหลังได้จบปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Vanderbit แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2528

ประวัติการทำงาน

 

เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ได้มุ่งมั่นดำเนินงานทั้งในด้านการสอนและการวิจัย จนปัจจุบันมีผลงานวิชาการเผยแพร่กว่า 40 เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ไดรับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่องแบบจำลองของระบบการหลั่งฮอร์โมนคอร์ทิซอลในร่างกายมนุษย์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2541 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็น ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ขณะนี้เป็นนักวิจัยคนหนึ่งในหน่วยวิจัย Biomathematics ของ Vanderbilt University แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการร่วมมือทำงานให้เกิดผลงานวิจัย ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์อย่างต่อเนื่อง มีผลให้ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ในที่ประชุมนานาชาติและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายครั้ง

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

งานด้านวิจัยการสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เป็นการนำทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับระบบไม่เชิงเส้นและระบบพลวัต มาประยุกต์เพื่อสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ โดยเน้นไปในทางด้านชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และแพทยศาสตร์วิทยา จนมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่กว่า 40 เรื่อง ซึ่งสามารถแบ่งงานวิจัยได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

 

กลุ่มที่หนึ่ง การจำลองเชิงพลวัตของระบบไม่เชิงเส้นในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ได้มีผลงานในการพิจารณาผลกระทบของแฟคเตอร์สำคัญบางประการ ต่อระบบชีวปฏิกรณ์ต่อเนื่อง (continous bioreactors) เช่นผลกระทบจาก product ของระบบการหมัก ต่ออัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับของเซลล์และสารอาหาร หรือผลกระทบจากการผันแปรของความสามารถในการส่งผ่านสารอาหารผ่านเนื้อเยื่อเซลล์ อันเนื่องมาจากแรงภายนอก เช่น geomagnetic field variation เป็นต้น ผลจากการวิเคราะห์วิจัยด้านการจำลองเชิงพลวัตเหล่านี้ มีประโยชน์สำหรับผู้ดำเนินการ ซึ่งจะสามารถควบคุมและจัดการต่อระบบดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

กลุ่มที่สอง การจำลองเชิงพลวัตของระบบไม่เชิงเส้นในทางการแพทย์ ได้มีผลงานในการสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองของหลายๆ ระบบในด้านสรีรวิทยาและอื่นๆ เช่น แบบจำลองของระบบการหลั่งฮอร์โมนคอร์ทิซอลในร่างกายมนุษย์ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ. 2535 การวิเคราะห์แบบจำลองของกิจกรรมเชิงไฟฟ้า (electrical activity) ของเซลล์บีต้าในตับอ่อน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการหลั่งอินซูลิน ซึ่งควบคุมระดับน้ำตาลในสายเลือด การสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองบทบาทของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ต่อกระบวนการสร้างกระดูก เป็นต้น ผลของการวิจัยดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับระบบเหล่านี้แล้ว ยังเพิ่มสมรรถภาพในการวินิจฉัย ควบคุม และบำบัดโรคได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แบบจำลองที่สร้างเป็นลักษณะแฟคเตอร์อื่นๆ ให้ครอบคลุมแล้ว ก็จะทำให้เราได้ภาพรวมของระบบที่กำลังศึกษา ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ

 

กลุ่มที่สาม การจำลองเชิงพลวัตของระบบไม่เชิงเส้นในด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและมีผลงานวิจัยจำนวนหนึ่ง โดยพิจารณากระบวนการที่มีความสำคัญทางด้านนิเวศวิทยา ซึ่งขยายมาจากระบบผู้ล่า-เหยื่อ ให้คำนึงถึงผลกระทบจากแฟคเตอร์บางประการ เช่น ผละกระทบจากมลพิษหรือสารพิษในสิ่งแวดล้อม การย้ายถิ่นฐานที่อยู่ หรือผลกระทบจากการติดพยาธิ ซึ่งจะกระทบต่อความมีเสถียรของระบบที่กำลังศึกษา อันอาจจะเกิดผลเสียหายอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์และสัตว์โลก ผลจากการศึกษาเหล่านี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูล สำหรับการตัดสินใจในเชิงนโยบายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดระบบ และวางกฏเกณฑ์ในการควบคุมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ

งานวิจัยในอนาคต

 

งานวิจัยในอนาคตจะเป็นการวิจัยในด้าน การจำลองเชิงพลวัตของระบบไม่เชิงเส้น ในทางชีววิทยาการแพทย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิธีการ (methodology) ใหม่ๆ ในเชิงวิเคราะห์ เพื่อใช้พิจารณาแบบจำลองที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งวิธีการที่มีอยู่ยังไม่สามารถใช้ได้ดีเท่าที่ควร โดยจะนำทฤษฎีเกี่ยวกับ singular perturbation และ bifurcation theory รวมทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับ time delay มาขยายและประยุกต์กับระบบในทางการแพทย์ เช่น mechanism ของ bone formation กับผลของฮอร์โมน estrogen ระบบการหลั่งฮอร์โมนแบบชั้นระดับ ปฏิกิริยาระหว่างแบคทีเรียกับยาปฏิชีวนะ แบบจำลองของการใช้เครื่องช่วยหายใจ และการไหลเวียนของเลือดในบริเวณหัวใจ เป็นต้น วิธีการวิเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ควรจะสามารถพิจารณาระบบอื่นๆ ในทางนิเวศวิทยาและฟิสิกส์ได้เช่นกัน ทั้งนี้จะได้มุ่งดำเนินการวิจัยในลักษณะทีมงาน เพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่มีความสามารถสูงทางด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงประยุกต์เข้ากับระบบในธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ในขณะที่มีความต้องการนักวิจัยทางคณิตศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถในลักษณะดังกล่าว เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก การร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยในลักษณะกึ่ง multidisciplinary ที่มีความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน จะเป็นหนทางสำคัญที่จะนำไปสู่การมีทีมงานวิจัยที่เข้มแข็ง และผลงานวิจัยในระดับนานาชาติต่อไป

 


จากหนังสือ :
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ๒๕๔๕ : ผลงานวิจัยเมธีอาวุโส สกว.๒๕๔๒-๒๕๔๔ [กรุงเทพฯ] :
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย : ISBN-974-7206-07-5