ศ.ดร.
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี
และหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์
เกิดที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 25 กันยายน
2490 ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่อายุ
6 ขวบ โดยสำเร็จการศึกษาระดับประถม
ที่ Cheam School และระดับมัธยมที่
Rugby School จากนั้นได้รับปริญญาตรี
และปริญญาโท สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัย
เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2511
และ พ.ศ. 2515 และได้รับปริญญาเอก สาขาอณูชีววิทยา
จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
ในปี พ.ศ. 2515 โดยทำงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์
ที่ได้รับรางวัลโนเบล Dr. Cesar Milstein
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ สมรส กับ
ม.ร.ว. พร้อมฉัตร มีบุตรสาวสองคน คือ
ม.ล. ศศิภา และ ม.ล. จันทราภา
ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี
พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์
ในปี พ.ศ. 2518 รองศาสตราจารย์ในปี
พ.ศ. 2521 และศาสตราจารย์ในปี พ.ศ.
2525 เคยปฎิบัติงานวิจัยที่ University
of Texas Medical Branch. Galveston.
Texas. USA. ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2520
และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเคมี ในปี
พ.ศ. 2527-2531 รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์
ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2540 และรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2542
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ระดับ
11 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าห้องปฎิบัติการชีวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
(ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533)
ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ มีความสนใจเป็นพิเศษ เกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์
และเน้นทางด้านนี้มาตลอด ทั้งในการสอน
และในการวิจัย นอกจากนี้ยังมีความสนใจเกี่ยวกับ
การวิจัยทางด้านชีวเคมีศึกษาด้วย โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์
ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 73 เรื่อง
ผลงานด้านชีวเคมีศึกษา ในวารสารนานาชาติ
10 เรื่อง ผลงานวิชาการอื่นๆ 18 เรื่อง
และตำรา 3 เล่ม จากงานวิจัยดังกล่าว
ทำให้ ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นสาขาวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ในปี พ.ศ. 2525 และรางวัลนักวิจัยดีเด่น
ประจำปี พ.ศ. 2540 ของทบวงมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ว.) ในปี พ.ศ. 2536
และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) ในปี
พ.ศ. 2541
นอกจากงานวิจัยและงานสอนแล้ว ศ.ดร.
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ยังได้ร่วมกิจกรรม
ของสมาคมและองค์กร ทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ
ของประเทศไทย ได้แก่ เป็นประธานสาขาชีวเคมี
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(พ.ศ. 2528-2530) บรรณาธิการ วารสาร
ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
(พ.ศ. 2528-2530) บรรณาธิการวารสาร
Science Asia (พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน)
สมาชิกบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2540) และกรรมการ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
สาขาเกษตรและ ชีววิทยา (พ.ศ. 2534-2541)
รวมทั้งเป็นกรรมการและผู้บริหาร ขององค์กรนานาชาติต่างๆ
ศ.ดร.
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ โครงสร้างและการทำงานของโปรตีนและเอนไซม์ มาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยได้ศึกษาโปรตีนชนิดต่างๆ
ของร่างกายหลายชนิด ในระยะแรก ได้ศึกษาโปรตีนอิมมูโนโกลบูลิน
ซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน
ทำหน้าที่กำจัดสารแปลกปลอมจากภายนอก
ซึ่งเป็นอันตรายแก่ร่างกาย จึงเป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างพิเศษคือ
มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน ช่วยให้ทำหน้าที่ส่วนรวมได้
และมีส่วนที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดความจำเพาะ
ในการจับสารที่ต่างกันได้
จากนั้นได้ศึกษาโปรตีนและเอนไซม์
ที่มีความจำเพาะ ต่อระบบสืบพันธุ์ในเพศชาย
ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติ และโครงสร้าง
ต่างจากโปรตีนชนิดเดียวกัน ในเนื้อเยื่ออื่น
จึงเป็นที่น่าสนใจว่า จะสามารถยับยั้งโปรตีนเหล่านี้ได้
โดยไม่มีผลต่อโปรตีนของเนื้อเยื่ออื่นๆ
หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางคุมกำเนิดในเพศชาย
โดยได้ศึกษาโปรตีนต่างๆ ดังนี้ sperm
protamine, testis-specific histone,
testis-specific lactate dehydrogenase
isozyme X และ seminal plasma acidic
protease เป็นต้น ทำให้เข้าใจโครงสร้าง
และหน้าที่การทำงานของโปรตีนเหล่านี้
ตลอดจนช่วยให้สามารถเข้าใจ กลไกการสืบพันธุ์เพศผู้
ในระดับโมเลกุล จากนั้นได้ศึกษาโครงสร้างของฮีโมโกลบินผิดปกติ
ที่พบในประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเลือด
รวมทั้งศึกษาการผ่าเหล่า ที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้
และได้ค้นพบฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดใหม่
อีกหลายชนิด ที่ยังไม่เคยมีผู้พบมาก่อนในประเทศไทย
เช่น Hb-Lepore-Washington-Boston,
Hb C, Hb J Buda, Hb G Coushatta และ
Hb Queens เป็นต้น ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน
เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง หน้าที่และโครงสร้างของฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ
และอาการของคนไข้ สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจนขึ้น
และสามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลง
ของโปรตีนและเอนไซม์ ในโรคที่มีความผิดปกติของเมตาบอลิสม
(Inborn errors of metabolism) ซึ่งพบในเด็กไทย
และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะก่อให้เกิดอาการปัญญาอ่อนได้
การศึกษาจึงมุ่งเน้น ที่จะเข้าใจถึงพื้นฐานระดับโมเลกุล
ของโรคทางพันธุกรรม เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้
ในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ป่วย และช่วยในการบำบัดรักษา
ตลอดจนวินิจฉัยโรคให้ดีขึ้น สุดท้ายยังได้ศึกษาโปรตีนและเอนไซม์หลายชนิด
ที่พบความผิดปกติ ในโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
ด้วยเทคนิค proteomics เพื่อหาแนวทางในการพัฒนา
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกด้วย
กลุ่มวิจัยของ ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร
สวัสดิวัตน์ เป็นกลุ่มวิจัยแรกที่ริเริ่มศึกษา
โครงสร้างการทำงานของเอนไซม์ไกลโคซิเดส
และไกลโคไซด์ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เนื่องจากพบว่า สารคาร์โบไฮเดรทและไกลโคไซด์
มีความสำคัญต่อการทำงานต่างๆ ของเซลล์
ได้ค้นพบเอนไซม์ไกลโคซิเดสใหม่หลายตัว
จากเมล็ดพืชพื้นเมืองของไทย เช่น พะยูง
ถ่อน ฉนวน กระเจี๊ยบ มะเขือพวง เป็นต้น
ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ดี ในการสังเคราะห์สาร
จำพวกโอลิโกแซคคาไรด์ และไกลโคไซด์
โดยเฉพาะเอนไซม์เบต้า-กลูโคซิเดส จากเมล็ดพะยูง
เป็นเอนไซม์ใหม่ ที่ยังไม่มีผู้รายงานมาก่อน
และมีสับสเตรทที่จำเพาะที่ค้นพบใหม่
เอนไซม์นี้มีความสามารถสูง ในการสังเคราะห์โอลิโกแซคคาไรด์ชนิดใหม่ๆ
และอัลคิล-กลูโคไซด์ จึงได้ศึกษาหาโครงสร้างปฐมภูมิ
ของเอนไซม์ตัวนี้แล้วด้วย นอกจากนี้
กลุ่มวิจัยยังได้ศึกษา เอนไซม์ไกลโคไซเดสจากเมล็ดพืชอื่นๆ
ที่ค้นพบใหม่อีกหลายชนิดด้วย
ในโลกปัจจุบัน การถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์
สามารถทำได้สำเร็จ การศึกษาที่ต้องมุ่งให้ความสำคัญต่อไป
ได้แก่ การศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ ซึ่งแสดงออกถึงข้อมูลทางพันธุกรรมต่างๆ
โดยทำการวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้าง ส่วนประกอบ
และหน้าที่การทำงานของโปรตีนต่างๆ ทั้งในสภาวะปกติและผิดปกติ
ดังนั้น การวิจัยที่จะดำเนินการต่อไป
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จะพัฒนาการศึกษาวิจัย ความสัมพันธ์ระหว่าง
ความสามารถในการเร่งปฎิกิริยาของเอนไซม์
หรือการทำงานของโปรตีนในระดับโมเลกุล
กับโครงสร้างสามมิติ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยจะศึกษาโปรตีนต่างๆหลายชนิด
กลุ่มวิจัยแรก ของ ศ.ดร.
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ จะศึกษาเอนไซม์จำพวกไกลโคซิเดส
เนื่องจากมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีโครงสร้างใกล้เคียงกัน
มีหน้าที่การทำงานที่คล้ายกัน แต่มีความจำเพาะต่อสับสเตรทต่างกัน
จึงเหมาะที่จะใช้เป็นต้นแบบ ในการศึกษาความสัมพันธ์
ระหว่างโครงสร้างและการทำงาน เอนไซม์ไกลโคซิเดสนี้
นอกจากจะเร่งปฎิกิริยาสร้างไกลโคไซด์แล้ว
ยังเร่งปฏิกิริยาสร้างไกลโคไซด์ และการย้ายหมู่ไกลโคไซด์ได้ด้วย
ซึ่งสามารถผลิตสารใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ
ได้
กลุ่มที่สอง จะศึกษาเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์
สารอนุพันธ์ของเพนนิซิลิน เนื่องจากเป็นเอนไซม์
ที่มีความสำคัญในการผลิตสารแอนตี้ไบโอติก
และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากมาย
ทางเทคโนโลยีชีวภาพ และยังเป็นเอนไซม์ที่มีลักษณะที่น่าจะสนใจศึกษา
ในแง่ของโครงสร้างและการทำงานอีกด้วย
จึงเหมาะที่จะใช้เป็นต้นแบบในการศึกษา
กลุ่มที่สาม จะศึกษาเอนไซม์จำพวกออกซิจีเนส
ที่มีส่วนประกอบของเฟลวิน (Flavin-containing
0xygenase enzymes) ซึ่งมีกลไกการทำงานที่น่าสนใจ
และอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในการกำจัดสารพิษ
และเป็นประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายจะศึกษา การจำลองกระบวนการเร่งปฎิกิริยาของเอนไซม์
โดยใช้สารเคมีโมเลกุลขนากเล็ก เพื่อศึกษาลึกลงไปถึง
กลไกการเร่งปฎิกิริยาของเอนไซม์ต่างๆ
นอกจากนี้ งานวิจัยที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
จะเน้นการศึกษาความผิดปกติในฮีโมโกลบิน
โรคความผิดปกติในเมตาบอลิสม และการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในโรคมะเร็ง
ซึ่งช่วยในการพัฒนา เทคนิคในการวินิจฉัยโรค
เข้าใจกลไกการเกิดโรค และชี้แนะการบำบัดรักษาโรค
ทั้งนี้การเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์
ระหว่างความผิดปกติในโปรตีน และโรคที่เกิดขึ้น
ยังเป็นแนวทาง ที่จะเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของโปรตีนด้วย
คาดว่างานวิจัยทั้งหมดนี้ จะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น
ในเรื่องของโครงสร้าง และกลไกการทำงาน
ของโปรตีนและเอนไซม์ต่างๆ ซึ่งจะสามารถประยุกต์ใช้ในอนาคต
ทั้งทางด้านการแพทย์ และทางด้านอุตสาหกรรมต่อไป
จากหนังสือ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
2544. TRF Senior Research Scholar
2001.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
[ISBN 974-8196-94-1] หน้า 12-15
|