logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ โศภน
(Professor Dr. Prasert Sobhon)

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี พ.ศ. 2544 สาขากายวิภาคศาสตร์

ประวัติส่วนตัว

 

เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2486 จังหวัดสกลนคร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี โรงเรียนวัดปทุมคงคา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อ ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) และได้รับทุนการศึกษา ภายใต้แผนการโคลอมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐออสเตรเลียตะวันตก จนได้รับปริญญาตรี ด้านชีววิทยาของมนุษย์ (พ.ศ. 2509) แล้วได้รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก สาขาเซลล์ชีววิทยา และกายวิภาคศาสตร์ (พ.ศ. 2513) สมรสกับนางกรรณิการ์ (กุลพงษ์) โศภน มีบุตร 2 คน คือ น.ส. ขวัญหล้า โศภน และ นายสินธุ โศภน

 

ประวัติการทำงาน

 

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มุ่งมั่นดำเนินงานทั้งในด้าน การสอนและการวิจัย โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากองค์กร ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ เช่น สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย Ford Foundation, Rockefeller Foundation, UNDP/ World Bank/ WHO Special Programme for Research and Training in Tropical Diseases และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2534) จากผลงานวิจัยที่ต่อเนื่อง ทำให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย (พ.ศ. 2528) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ในสาขาเซลล์ชีววิทยา ในด้านการบริหารวิชาการ เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ฝ่ายการศึกษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลฝ่ายวิชาการ และประธานสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ผลงานวิจัยโดยสรุป

ผลงานวิจัยที่ได้ทำและตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องมีอยู่ 3 กลุ่ม

 

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์หาแอนติเจน และการศึกษาลักษณะโครงสร้าง ของเนื้อเยื่อที่ผลิตแอนติเจน ของพยาธิใบไม้เลือดในคน (Schistosoma japonicum, Schistosoma mekongi) และพยาธิใบไม้ตับในคน และสัตว์เลี้ยง (Opisthorchis viverrini และ Fasciola gigantica) ซึ่งทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับ แอนติเจนที่พยาธิปล่อยออกมา การสังเคราะห์แอนติเจนในระดับเซลล์ และโครงสร้าง ละเอียดของชั้นผิวพยาธิและเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่ผลิตแอนติเจนชนิดต่างๆ ตลอดจนความรู้ เกี่ยวกับกลไกการเลี่ยงภูมิคุ้มกันของพยาธิ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการนำไปพัฒนา วิธีตรวจการติดเชื้อและการพัฒนาวัคซีนต่อพยาธิใบไม้เลือดในคน และพยาธิใบไม้ตับ ในสัตว์เลี้ยง

 

กลุ่มที่สอง เป็นการศึกษาการสังเคราะห์ กับการเปลี่ยนแปลงของ เบสิกนิวเคลียร์โปรตีน และลักษณะการขดเรียงตัว ของเส้นใยโครมาตินในนิวเคลียส ของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ ของสัตว์ชั้นสูง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น สัตว์ประเภท mollusc ซึ่งทำให้ได้ความรู้พื้นฐาน ในด้านการสังเคราะห์ และการสับเปลี่ยนชนิด ของเบสิกนิวเคลียร์โปรตีน ได้แก่ โปรตีนฮิสโตน (histones) โปรตามีน (protamines) และโปรตีนคล้ายโปรตามีน ซึ่งเป็นโปรตีนโครงสร้าง ของใยโครมาตินที่เป็นตัวควบคุมขนาด และการขดของใยโครมาติน เพื่อเก็บรักษาและควบคุมการแสดงออก ของสารพันธุกรรม ในเซลล์สืบพันธุ์ ของสัตว์ชนิดต่างๆ องค์ความรู้ดังกล่าว เป็นพื้นฐานสำคัญ ที่อธิบายกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การเก็บรักษาสารพันธุกรรม การแสดงออกของยีนหลังการปฎิสนธิ และการพัฒนาร่างกายของสัตว์

 

กลุ่มที่สาม เป็นการศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์ ของสัตว์ประเภท mollusc ได้แก่ หอยทากยักษ์ (Achatina fulica) และหอยเป๋าฮื้อ (Haliotis asinina) ซึ่งเป็นหอยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยได้ทำการศึกษากายวิภาค ของระบบประสาท ปมประสาท (neural ganglia) และเซลล์ประสาทผลิตฮอร์โมน (neurosecretory cells) ชนิดต่างๆ ตลอดจนบทบาทของเซลล์ประสาทผลิตฮอร์โมนเหล่านี้ ต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ และกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของหอย ซึ่งทำให้ได้ความรู้พื้นฐาน ที่อาจนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ เช่น การเร่งพัฒนาการของเซลล์สืบพันธุ์ และการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ที่นำไปปฎิสนธิโดยวิธี in vitro fertilization เพื่อนำตัวอ่อนที่ได้ มาเก็บรักษา โดยกรรมวิธีต่างๆ และเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

งานวิจัยในอนาคต

 

1. การศึกษาพยาธิชีววิทยา การสังเคราะห์ และวิเคราะห์คุณลักษณะ ของแอนติเจนและยีน ของพยาธิใบไม้ตับ Fasciola gigantica ที่มีศักยภาพในการพัฒนา วิธีตรวจสอบการติดเชื้อและวัคซีน

 

การวิจัยเรื่องนี้ คณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาและวิเคราะห์ ยีนและแอนติเจน ของพยาธิ ที่มีศักยภาพในการเป็นวัคซีนตัวเลือก กับเพื่อใช้ตรวจสภาพการติดเชื้อ แอนติเจนที่จะศึกษา มีอยู่ 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นโปรตีนหรือเอนไซม์ ที่มีหน้าที่ต่างๆ กัน ในพยาธิ ได้แก่ fatty acid binding proteins (MW 14 kD), glutathione s-transferase (MW 28 kD), cathepsin L และ B (MW 26 kD) โปรตีนในเยื่อหุ้มผิว และชั้นผิว ที่มีน้ำหนักโมเลกุล (MW) 66 และ 28.5 kD และโปรตีนของเปลือกไข่ (vitellineB-MW 31 kD) โดยคณะผู้วิจัยจะทำการเสาะหา และสังเคราะห์ยีนและแอนติเจนเป้าหมาย โดยใช้วิธี molecular cloning แล้วผลิตโมโนโคลนัลแอนติบอดี ต่อแอนติเจนเหล่านี้ เพื่อนำไปศึกษาลักษณะการสังเคราะห์ กับการกระจายตัว ของแอนติเจนเป้าหมาย ที่ระดับเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของพยาธิ แล้วทำการทดสอบศักยภาพแอนติบอดี ในการตรวจสอบสภาพติดเชื้อ และทดสอบศักยภาพแอนติเจนเป้าหมาย ในการเป็นวัคซีน ที่สามารถทำลายพยาธิ และป้องกันการติดเชื้อ

 

การวิจัยนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความรู้พื้นฐาน ที่เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ พยาธิสภาพและปฎิกิริยาตอบสนอง ของโฮสท์ต่อการติดเชื้อ การสังเคราะห์และการปล่อยแอนติเจนจากพยาธิใบไม้ ที่สามารถกระตุ้น การสร้างภูมิคุ้มกันในโฮสท์ การปฎิสัมพัทธ์ระหว่างภูมิคุ้มกันของโฮสท์ กับการเลี่ยงภูมิคุ้มกันของพยาธิ องค์ความรู้เหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำคัญ ต่อการพัฒนาวัคซีน ที่สามารถป้องกัน การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับชนิดนี้ ซึ่งเป็นโรคพยาธิ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ของสัตว์เลี้ยงและคน และความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ในประเทศไทย ค่อนข้างสูง

 

2. การควบคุมกระบวนการสร้าง และการหลั่งเซลล์สืบพันธุ์ โดยประสาทฮอร์โมนในหอยเป๋าฮื้อ Haliotis asinina

 

โครงการวิจัยเรื่องนี้ มุ่งเน้นที่การศึกษา ชนิด ตำแหน่ง และการกระจายของเซลล์ ที่ผลิตฮอร์โมนประสาท และฮอร์โมนอื่นๆ ซึ่งควบคุมพัฒนาการ ของอวัยวะสืบพันธุ์ กับกระบวนการสร้าง และการปลดปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ในหอยเป๋าฮื้อ Haliotis asinina ซึ่งเป็นหอยที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ของประเทศไทย ได้แก่ egg-laying hormone (ELH) serotonin (5HT) prostaglandins (PG) และ sex steroids (5Alpha dihydrotestosterone และ 17Beta estradiol) โดยจะทำการเสาะหายีน และสังเคราะห์ ELH ด้วยกรรมวิธี molecular cloning แล้วทำการผลิตโพลีโคลนัล และโมโนโคลนัลแอนติบอดี ต่อ ELH และฮอร์โมนอื่นๆ เพื่อนำไปตรวจหาชนิด และการกระจายของเซลล์ ที่ผลิตฮอร์โมนเหล่านี้ ในเนื้อเยื่อประสาทและเนื้อเยื่อสืบพันธุ์ ของหอยเป๋าฮื้อ หลังจากนั้น ก็จะศึกษาผลกระทบของฮอร์โมนต่างๆ ต่อกระบวนการสร้าง และการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ แล้วทดสอบความสามารถ ของเซล์สืบพันธุ์ ที่เก็บได้จากการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน ในการปฎิสนธิแบบ in vitro fertilization และการพัฒนาเป็นตัวอ่อน เพื่อเปรียบเทียบ กับเซลล์สืบพันธุ์ ที่เก็บโดยสภาพธรรมชาติ ข้อมูลจากการวิจัยนี้ อาจนำไปประยุกต์ใช้เร่งพัฒนาการ ของเซลล์สืบพันธุ์ และเลือกกระตุ้นการปลดปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ จากสัตว์พ่อแม่พันธุ์ ตามกำหนดเวลาที่สะดวก เพื่อนำไปผสมพันธุ์แบบ in vitro fertilization ที่ใช้ในกระบวนการเลี้ยง เชิงพาณิชย์ต่อไป

 


จากหนังสือ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2544. TRF Senior Research Scholar 2001.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. [ISBN 974-8196-94-1] หน้า 8-11