logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน
(Professor Dr. Amaret Bhumiratana)

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี พ.ศ. 2540 สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ

ประวัติส่วนตัว

 

เกิดวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับ ประถมศึกษา จากโรงเรียนปวโรฬารวิทยา มัธยมศึกษาจาก โรงเรียนมัธยม แห่งเมืองเชาว์ชิวล่า มลรัฐ แคลิเฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรี ด้านแบคทีเรียวิทยา จากมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเดวิส และปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัย มิชิแกนสเตท ในปี พ.ศ. 2513 และ 2517 ตามลำดับ

 

ประวัติการทำงาน

 

เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ใน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานวิชาการเผยแพร่มากกว่า 50 เรื่อง โดยทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2533) และได้รับเชิญให้เป็นศาสตราจารย์ อาคันตุกะ ณ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 เดือน (พ.ศ. 2540) ได้รับรางวัล ผลงานวิจัยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2530) รางวัลมหิดล สาขาทั่วไป (พ.ศ. 2534) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2535 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทุนสนับสนุนการวิจัยจาก International Foundation for Science, WHO, Carl-Duisberg Gesellschaft, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย นอกจากนั้น ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการจัดตั้ง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการริเริ่มก่อตั้งชมรม ซึ่งต่อมาเป็น สมาคม เทคโนโลยีชีวภาพ แห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานชมรม และนายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งประเทศไทยคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538

 

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

ผลงานวิจัยที่สำคัญโดยสรุป มีอยู่สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็น ด้านการใช้ประโยชน์ จากแบคทีเรียชนิด Bacillus thuringiensis เพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืช และแมลงพาหะนำโรค โดยได้มีการศึกษา ความรู้พื้นฐาน ของแบคทีเรียชนิดนี้ ทั้งทางด้านสรีรวิทยา และพันธุศาสตร์ โดยที่ความรู้พื้นฐาน ทางด้านสรีรวิทยา ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ สภาวะที่เหมาะสม ในการเจริญพันธุ์ ของแบคทีเรีย โดยได้ทำ ระบบการเพาะเลี้ยง ในระบบเซลล์วนกลับ มาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณของเซลล์ และประสิทธิภาพ ในการกำจัดหนอนแมลง ตลอดจนได้ศึกษาถึง สภาวะที่เหมาะสมต่างๆ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ ในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียสายพันธุ์นี้ ในระดับอุตสาหกรรม ในอนาคต ส่วนการศึกษา ทางด้านพันธุกรรมศาสตร์นั้น ได้มีผลงานวิจัย ที่ประสบความสำเร็จ ในการถ่ายทอดยีนสารพิษ ระหว่างแบคทีเรียสายพันธุ์ต่างๆ ตลอดจนได้มีการนำเทคนิค ทางด้านพันธุวิศวกรรมมาใช้ เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ของ B. thuringiensis ทำให้สามารถสร้าง แบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสม ในการใช้กำจัด หนอนแมลง ในสภาวะอากาศ ของประเทศไทย ผลงานวิจัยพื้นฐาน ทั้งทางด้านสรีรวิทยา และ พันธุศาสตร์ของ B. thuringiensis นี้ จะเป็นรากฐานที่สำคัญ ในการก่อให้เกิดการวิจัย และพัฒนาที่ต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรม การผลิตแบคทีเรียชนิดนี้ เพื่อใช้ในการควบคุม แมลงศัตรูพืช และแมลงพาหะนำโรค ในอนาคต

 

ส่วนผลงานวิจัยกลุ่มที่สอง เป็นการศึกษา ความรู้พื้นฐาน ของขบวนการผลิตอาหารหมัก ที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ โดยได้มีการศึกษาบทบาท ของจุลินทรีย์หลายชนิดเช่น เชื้อรา Aspergillus oryzae ยีสต์ชนิดที่ทนเกลือ และแบคทีเรีย ในกลุ่มแลคติก จนกระทั่งสามารถนำเทคนิคในการใช้ สายพันธุ์บริสุทธิ์ ตลอดจน แนวทางใหม่ ในการปรับปรุง ขบวนการผลิตอาหารหมัก ที่ใช้ถั่วเหลือง เป็นวัตถุดิบชนิดต่างๆ เพื่อประยุกต์ใช้ ในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบัน มีโรงงานอุตสาหกรรม หลายแห่ง ที่นำเทคนิคใหม่ๆ ที่เกิดจากผลงานวิจัยนี้ ไปประยุกต์ใช้ในโรงงาน เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต และปรับปรุงคุณภาพ ของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ผลงานวิจัยนี้ได้ก่อให้เกิดความมั่นใจ ในกลุ่มโรงงาน ที่ผลิตอาหารหมักจากถั่วเหลือง จนกระทั่งเกิดการรวมตัว ของกลุ่มโรงงานเหล่านี้ ในลักษณะ "Consortium" เพื่อให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา และส่งผลให้ผลงานวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีความต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จ ในการประยุกต์ใช้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยและพัฒนา ในทั้งสองกลุ่มงานที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้ก่อให้เกิด การพัฒนาบุคลากร ทางด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกด้วย โดยมีนักศึกษาปริญญาเอก และปริญญาโท ร่วมงานวิจัย ดังกล่าวเป็นจำนวน 18 คน

 

งานวิจัยในอนาคต

 

งานวิจัยที่จะดำเนินการในระยะ 3 ปีข้างหน้า ภายใต้กรอบของ ทุนเมธีวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การใช้แบคทีเรียชนิด Bacillus thuringiensis ในการควบคุม แมลงศัตรูพืช และแมลงพาหะนำโรค โดยจะเป็นงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสรีรวิทยา (physiology) และพันธุศาสตร์ (genetics) ของ B. thuringiensis

 

การควบคุมแมลงศัตรูพืช และแมลงพาหะนำโรค โดยชีววิธี เป็นวิธีที่เหมาะสม กว่าการควบคุม โดยการใช้สารเคมี หากมีการคำนึงถึง สภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อันเนื่องมาจาก การใช้สารเคมี อย่างไรก็ตาม การควบคุมแมลงโดยชีววิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้แบคทีเรีย ชนิด B. thuringiensis ในประเทศไทย ในปัจจุบัน ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ซึ่งเป็นเหตุเนื่องมาจาก ผลิตภัณฑ์ที่มี B. thuringiensis เป็นส่วนประกอบสำคัญนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งเข้า มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น และเป็นผลทำให้ ราคาของ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ค่อนข้างสูง อีกทั้งประสิทธิภาพ ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร กับสภาวะภูมิอากาศ และวิธีการถือปฏิบัติ ของเกษตรกรไทย อย่างไรก็ดี จากการสนับสนุน ของหน่วยงานของรัฐ หลายหน่วยงาน เป็นที่คาดว่า จะมีการผลิต B. thuringiensis เพื่อใช้ในการ ควบคุมแมลงศัตรูพืช และแมลงพาหะนำโรค ในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้านี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริม ให้อุตสาหกรรมใหม่ ที่จะเกิดขึ้น ในประเทศไทยในเร็วๆนี้ ให้มีรากฐานที่มั่นคง และเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และแข่งขัน กับอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ในต่างประเทศได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมี การวิจัยพื้นฐานทางด้านสรีรวิทยา และพันธุกรรมศาสตร์ ของแบคทีเรียชนิด B. thuringiensis โดยที่ผลงานนี้ ได้จากโครงการวิจัยนี้ จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น สามารถหาแนวทางพัฒนา ขบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ได้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยมีราคาการผลิตที่ต่ำลง และเพื่อเป็นรากฐานให้เกิดงานวิจัย และพัฒนาในอุตสาหกรรมประเภทนี้ในอนาคต

 

ดังที่กล่าวข้างต้น โครงการวิจัยนี้จะมีสองส่วนใหญ่ คือการวิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยา และพันธุศาสตร์ ของแบคทีเรียชนิด B. thuringiesis ในด้านการศึกษา ทางด้านสรีรวิทยา นั้นจะเป็นการศึกษา ประสิทธิภาพการใช้ แหล่งคาร์บอน และไนโตรเจนที่เหมาะสม ของแบคทีเรียชนิดนี้ ตลอดจนการหาวิธีการเพาะเลี้ยง ในรูปแบบใหม่ๆซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า วิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น กรรมวิธีเพาะเลี้ยงเซลล์ ให้มีความเข้มข้นสูง ซึ่งจะเป็นแนวทางใน การลดขั้นตอนการผลิต ในปัจจุบันได้ ผลจากการวิจัยเกี่ยวกับ การใช้แหล่งคาร์บอนและ ไนโตรเจนจะส่งผลให้สามารถ บ่งชี้วัตถุดิบที่ใช้ ในการเพาะเลี้ยงได้ เหมาะสมกว่าที่ใช้อยู่ ในปัจจุบัน ส่วนในการศึกษา ทางด้านพันธุศาสตร์นั้น จะเป็นการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ของ B. thuringiensis ในการทำลายหนอนแมลง โดยการถ่ายทอดยีน นอกจากนี้การศึกษา ทางพันธุศาสตร์ จะช่วยเสริมขบวนการผลิตอีกด้วย เช่นการดัดแปลงสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น วิธีการใช้การผ่าเหล่า หรือวิธีทางพันธุวิศวกรรม เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของ B. thuringiensis ในการใช้แหล่งคาร์บอนที่เหมาะสม หรือให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถเจริญได้ อย่างมีประสิทธิภาพ สูงกว่าสายพันธุ์เดิม

 

งานวิจัยดังกล่าวจะดำเนินการ ในลักษณะกลุ่มวิจัย โดยจะมีผู้ร่วมงานทั้งหมด 5 คนจาก 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่าจะผลิตนักศึกษา ในระดับปริญญาโท (หรือเอก) ได้ประมาณ 7 คน มีผลงานตีพิมพ์ประมาณ 18 เรื่อง โดยคาดว่าโครงการวิจัยนี้ จะช่วยเสริมสร้างและ พัฒนากลุ่มงานวิจัยขึ้น

 



จากหนังสือ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. TRF Senior Research Scholar ประจำปี พ.ศ. 2540.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. [ISBN 974-89566-0-1]