logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์
(Associate Professor Dr. Somsak Ruchirawat)

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี พ.ศ. 2540 สาขาเคมี

ประวัติส่วนตัว

 

หลังจากจบการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้ว ได้เข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) จากนั้นได้รับทุนโคลัมโบไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัย Liverpool ประเทศอังกฤษ และจบปริญญาตรี สาขาเคมี (เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2509 ต่อจากนั้น เข้าศึกษาต่อ ระดับปริญญาเอก สาขาเคมีอินทรีย์ จนสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2512 จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

 

ประวัติการทำงาน

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้กลับมารับราชการ เป็นอาจารย์ใน ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล 1 ปี ได้รับทุน SEATO Fellowship ไปทำวิจัย หลังปริญญาเอก (Postdoctoral training) ณ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และทุนของ National Cancer Institute ทำวิจัยที่ Boston University สหรัฐอเมริกา หลังจากกลับมา ได้สอนวิชาเคมีอินทรีย์ แก่นักศึกษา ระดับปริญญาตรี และบัณฑิตวิทยาลัย และปฎิบัติงานวิจัย ในด้านเคมีอินทรีย์ ได้รับเลือกเป็น หัวหน้าภาควิชาเคมี (พ.ศ. 2529-2533) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ โครงการวิจัยและพัฒนายาสังเคราะห์ สถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นอกจากนี้ยังปฏิบัติงานในด้านอื่นๆ เช่น เป็นกรรมการด้านวิชาการ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นผู้รักษาการ ประธานอนุกรรมการ สาขาเคมี ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และ Polymer Science ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ของสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (NRCT) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS)

 

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

มีความสนใจ ในสารประกอบพวก Nitrogen Heterocycles โดยเฉพาะ สารประเภทอัลคาลอยด์ เป็นพิเศษ เนื่องจากสารที่เป็นยาจำนวนมาก เป็นสารประเภทนี้ ดังนั้น สารกลุ่มนี้ จึงมีความสำคัญ และมีประโยชน์มาก ในระยะแรกของงานวิจัย ได้ศึกษาปฏิกิริยา และการสังเคราะห์ สารอัลคาลอยด์ต่างๆ ซึ่งใช้ เป็นแบบจำลอง ในห้องปฏิบัติการ ที่ใช้อธิบายกลไก ในการเกิดสารอัลคาลอยด์ บางชนิดในธรรมชาติ งานวิจัยในด้าน การสังเคราะห์ สารอัลคาลอยด์ ได้ขยายออกไปในสารอัลคาลอยด์ หลายกลุ่ม และได้รับเชิญ เขียนบทความหนึ่งบท ในหนังสือ The Alkaloids นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิธีการสังเคราะห์ และประโยชน์ของสาร reissert compounds และทางกลุ่มวิจัย ได้พัฒนาวิธีการใหม่ ที่ใช้ในการสังเคราะห์สาร reissert compounds ซี่งในปัจจุบัน ยังเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการสังเคราะห์สารกลุ่มนี้

 

นอกจากความสนใจ ในด้านการสังเคราะห์ และปฏิกิริยาทางเคมี ของสารดังกล่าวแล้ว ยังได้ทำงานวิจัย ในด้าน ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ทั้งในด้านการสังเคราะห์ การหาสูตรโครงสร้าง และฤทธิ์ทางยาของสาร ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น สารจากลูกใต้ใบ สารจากชะเอมไทย เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมวิจัยในหลายโครงการ กับนักวิจัยในแขนงวิชาอื่น โดยทำหน้าที่แยกสาร หาสูตรโครงสร้าง หรือสังเคราะห์สาร ที่ใช้ประโยชน์ในโครงการต่างๆ เช่น ศึกษาสารประเภท cyanogenic glycosides จากต้นมันสำปะหลัง (ร่วมกับ ศ.ดร. มนตรี จุฬาวัฒนฑล) งานวิจัยนี้ได้ประสบความสำเร็จ ในการแยก และหาสูตรโครงสร้างของ cyanogenic glycosides ตัวใหม่ๆ

 

การศึกษาสารประกอบ sulphonamides ในการใช้เป็นยาหมันชาย (ร่วมกับ รศ. ชุมพล ผลประมูล) ในโครงการ ได้ทำการสังเคราะห์ สารประกอบ Sulphonamides เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ทดสอบฤทธิ์ ในการใช้เป็นยาหมันชาย นอกจากนี้ สารเคมีดังกล่าว ยังใช้ประโยชน์ ในการศึกษากลไก ในการเป็นหมัน

 

การหาสารที่เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย (ร่วมกับ รศ.ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์) ได้หาวิธีการใหม่ และประสบความสำเร็จ ในการสังเคราะห์ mefloquine และอนุพันธ์ต่างๆ ผลจากงานวิจัยนี้ ได้พบสารที่ฆ่าเชื้อมาลาเรีย ที่ดีมากตัวหนึ่ง และขณะนี้กำลังดำเนินการ ขอสิทธิบัตร ภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

 

โครงการสังเคราะห์และฤทธิ์ทางยาของ praziquantel และอนุพันธ์ (ร่วมกับ ศ.ดร. สถิตย์ สิริสิงห และ ศ. วิทยา ธรรมวิทย์) ได้ทำการสังเคราะห์ praziquantel และอนุพันธ์ เป็นจำนวนมาก และขณะนี้ ยังมีสารบางตัว ที่รอการทดสอบอยู่

 

โครงการวิจัยอนุพันธ์ colchicine จากต้นดองดึง (ร่วมกับ ผศ. พรรนิภา ชุมศรี) ได้หาสูตรโครงสร้างอนุพันธ์ colchicine หลายตัวพร้อมทั้ง ปรับเปลี่ยนสูตรโครงสร้าง โดยการสังเคราะห์ เพื่อใช้ในการทดสอบมะเร็ง cell line ต่างๆ รวมถึง cell line ของมะเร็งท่อน้ำดี (ร่วมกับ ศ.ดร. สถิตย์ สิริสิงห)

 

โครงการพัฒนาและการผลิตน้ำยาอิมมูโนเคมี เพื่อตรวจสอบสาร แอมเฟตามีน (ยาม้าและยาอี) (ร่วมกับ ศ.ดร. กวี รัตนบรรนางกูร) โดยสังเคราะห์อนุพันธ์ ของแอมเฟตามีนใหม่ๆ เพื่อใช้ในการเตรียมน้ำยา เพื่อตรวจวินิจฉัย ยาม้า และยาอี

 

โครงการวิจัยต่างๆ ที่กล่าวถึง ได้รับเงินทุนสนับสนุน จาก USAID, USAID/ISRAEL, สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

 

 

งานวิจัยในอนาคต

 

โครงการวิจัย ที่จะทำต่อไปในอนาคต เป็นงานวิจัยทางด้าน เคมีอินทรีย์พื้นฐาน และประยุกต์ โดยที่จะเน้นถึง การสงเคราะห์ปฏิกิริยา ของสารอัลคาลอยด์ และ oxygen heterocycle ต่างๆ เนื่องจากการสร้างพันธะ ระหว่างคาร์บอน กับคาร์บอน เป็นปฏิกริยาหลัก ในทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ซึ่งทำได้หลายวิธี และได้ผลแตกต่างกันออกไป ในงานวิจัย จะเน้นการใช้สาร organo palladium และการใช้ปฏิกิริยา free radical ในการสร้างพันธะ ระหว่างคาร์บอนกับคาร์บอน โดยนำมาประยุกต์ใช้ ในการใช้สังเคราะห์ สารอัลคาลอยด์ ประเภทต่างๆ เช่น อัลคาลอยด์ ประเภท Protoberberine, Pavine และ Erythrina นอกจากนี้ ได้มีผู้ค้นพบว่า สารอัลคาลอยด์ในกลุ่ม Benzazepine และ Lamellarin มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารในกลุ่มลาเมลลาริน ซึ่งเป็นกลุ่มของ สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่ได้จากทะเล มีผลต่อการหยุดยั้ง การแบ่งตัวของเซลล์ การเป็นพิษต่อเซลล์ และฤทธิ์ในการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน และเนื่องจาก ทางกลุ่มผู้วิจัย มีความสนใจ ประสบการณ์ และความชำนาญ ในการสังเคราะห์ สารอัลคาลอยด์บางกลุ่ม จึงมีความมั่นใจว่า จะประสบความสำเร็จ ในการสังเคราะห์ สารกลุ่มนี้ และเป็นที่คาดหวังว่า กระบวนการที่เสนอ จะใช้ประยุกต์ ในการสังเคราะห์อนุพันธ์ต่างๆ ของสารกลุ่มนี้ได้

 

Wrightiadione และ Diospyrol เป็นสารประเภท oxygen heterocycle ที่ทางโครงการ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสารทั้งสอง เป็นสารสกัดได้ จากสมุนไพรไทย โดยที่ Wrightiadione สกัดได้จาก ต้นโมกมัน และ Diospyrol สกัดได้จาก ต้นมะเกลือ Wrightiadione มีฤทธิ์ต่อ เชื้อ HIV-1 RT และ Diospyrol ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ สำหรับ Diospyrol นั้น มีความน่าสนใจมากขึ้น ในปัจจุบัน เนื่องจาก มีผู้พบว่าสาร Michellamine ซึ่งสูตรโครงสร้าง มีอนุพันธ์ของ Diospyrol เป็นส่วนหนึ่งของโมเลกุล จะมีฤทธิ์ในการยับยั้ง เชื้อ HIV จึงเป็นที่คาดหวังว่า กระบวนการสังเคราะห์ใหม่ ที่เสนอ จะมีขั้นตอน ที่สั้นกว่า และประสิทธิภาพที่สูงกว่ากระบวนการอื่นๆ ที่ได้มีผู้วิจัยมา นอกจากการสังเคราะห์สารต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทางกลุ่มวิจัย จะศึกษาปฏิกิริยาต่างๆ ของสารอัลคาลอยด์ เช่น ปฏิกิริยากับสาร Hypervalent lodine และปฏิกิริยาต่างๆ ของอนุพันธ์ Alpha-hydroxyisoquinoline วัตถุประสงค์หลักในงานวิจัยของปฏิกิริยานี้ เพื่อหากลไกของปฏิกิริยา และประยุกต์ผลที่ได้ ในการใช้สังเคราะห์สารต่างๆ ได้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

นอกจากงานวิจัย ในด้านการสังเคราะห์ และปฏิกิริยาของ สารอัลคาลอยด์ และ oxygen heterocycle แล้ว ทางกลุ่มผู้วิจัย จะทำงานวิจัย สมุนไพรไทย บางชนิด เช่น สารภีบ้าน หัวร้อยรู การแสวงหา ความเป็นเลิศทางวิชาการ และต้องการหาตัวยา จากสมุนไพรไทย เพื่อเป็นการทดสอบข้อมูลต่างๆ ที่ใช้กันมา โดยเสริมสร้าง ให้มีผลิตผลจากภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า และเพิ่มความสามารถ ในการพึ่งพาตนเอง ในอนาคต

 

ดังนั้นจึงเป็นที่คาดหวังว่า โครงการวิจัยเหล่านี้จะเป็นกลไก ที่จะสร้างนักวิจัยไทย โดยอาศัยความเป็นเลิศทางวิชาการ ความพร้อม ทางด้านการวิจัย และ "State of the Art" ทางด้านเครื่องมือ จาก คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นเครื่องเสริม ให้ถึงจุดประสงค์ ที่ต้องการ

 


 

จากหนังสือ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. TRF Senior Research Scholar ประจำปี พ.ศ. 2540.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. [ISBN 974-89566-0-1]