logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร. เทียนทอง ทองพันชั่ง
(Dr. Tienthong Thongpanchang)

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2547

ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ที่จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่สองของนายทองคำ และนางประมวลศรี ทองพันชั่ง เริ่มการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเดียวกัน ด้วย ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และได้รับทุนดังกล่าวเพื่อศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรีสาขาเคมี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ. 2537 ระดับปริญญาโท-เอกสาขาเคมีอินทรีย์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2542 และเริ่มปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

งานวิจัยหลักของ ดร.เทียนทอง เป็นการศึกษาและพัฒนาปฎิกิริยาทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อใช้สร้างโมเลกุลเป้าหมายที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ได้แก่ การประยุกต์ใช้ปฎิกิริยาทอโทเมอไรเซชัน (tautomerization) ของสารในกลุ่มฟีนอลเพื่อสังเคราะห์สารประเภทเอริลซัลไฟด์ สารประเภทเอริลไดออกซิน และแอริลไดไธอิน หรือสารประเภทเฮเทอโรเฮลิซีน ซึ่งเป็นสารประกอบอะโรเมติกที่มีโครงสร้างเป็นรูปเกลียว ซึ่งสารดังกล่าวข้างต้นมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นวัสดุทางเคมีชนิดใหม่ๆ กล่าวคือ สามารถใช้เป็นองค์ประกอบในการออกแบบและสร้างระบบโมเลกุลเคมีเชิงซ้อน เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุอินทรีย์นำไฟฟ้าหรือสารผลึกเหลว ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์พอลิเมอร์แบบเกลียว หรือเป็นตัวเร่งปฎิกิริยาแบบอสมมาตร เป็นต้น

งานวิจัยอีกด้านหนึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพันธะเคมี และผลทางอิเล็คโทรนิคของพันธะเคมี ที่มีต่อโครงสร้างสามมิติของโมเลกุล อันมีผลโดยตรงต่อสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของสสาร ผลจากการศึกษาดังกล่าว ทำให้เข้าใจคุณสมบัติของพันธะเคมีได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการแยกสารไอโซเมอร์ ที่มีการจัดเรียงอะตอมในสามมิติที่ต่างกัน ช่วยในการทำนายโครงสร้างสามมิติได้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการควบคุมหรือการออกแบบปฎิกิริยาอสมมาตรแบบใหม่ ทำให้การสังเคราะห์สารที่มีโครงสร้างสามมิติเฉพาะตามต้องการ ทำได้อย่างจำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียสารตั้งต้นในการปฎิกิริยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

นอกจากในด้านงานวิจัยแล้ว ดร.เทียนทอง ยังมีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนได้เข้าใจและมองเห็นความเกี่ยวข้องของวิทยาศาสตร์ กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเป็นวิทยากรร่วมในการบรรยายสาธิตเรื่อง "มาสนุกกับเคมีกันเถอะ (Chemistry is Fun)" ซึ่งเป็นกิจกรรมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

 


จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๗.
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547. ISBN 974-13-3040-5