logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ
(Assist Prof. Dr. Teerakiat Kerdcharoen)

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2544

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2511 เป็นบุตรของ นายนอง และนางทวีวรรณ เกิดเจริญ จบการศึกษาระดับมัธยมตอนต้นจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ฉะเชิงเทรา และได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้รับคัดเลือกให้เป็นนิสิตในโครงการ พ.ส.ว.ท. ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมีในปี พ.ศ. 2533 จึงได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทใน สาขาเคมีเชิงฟิสิกส์ ณ สถานที่เดิม โดยได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงต่างประเทศออสเตรีย หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้รับทุนจากรัฐบาลออสเตรีย เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยอินน์สบรูค ประเทศออสเตรีย เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2538 ได้เข้ารับราชการสังกัดภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปัจจุบัน

 

ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ มีความเชี่ยวชาญพิเศษในสาขา Nanoscale Theory, Modeling and Simulation (บางครั้งถูกอ้างถึงในชื่อของ Computational Nanotechnology) ซึ่งสาขาดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นสาขาวิจัยเชิงกลยุทธ์ ที่เป็นที่สนใจของหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีทางด้านนี้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการก่อกำเนิดของนาโนเทคโนโลยี งานวิจัยครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาระเบียบวิธีเชิงคำนวณ การสร้างโค้ดคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเชิงคำนวณเหล่านี้ กับระบบที่นาโนเทคโนโลยีกำลังให้ความสนใจ งานประยุกต์ดังกล่าวนั้นก็มี จุดนาโนมิติศูนย์ (เช่น บัคกี้บอล) โครงสร้างนาโนหนึ่งมิติ (เช่น ท่อนาโนของคาร์บอน และโพลิเมอร์นำไฟฟ้า) อิเล็กทรอนิกส์เชิงโมเลกุล สสารสภาพควบแน่นแบบอ่อน และโมเดลของโปรตีน ระเบียบวิธีเชิงคำนวณอย่างหนึ่งที่ ดร. ธีรเกียรติ์ ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นเรียกว่า ระเบียบวิธีผสมกลศาสตร์ ควอนตัม / กลศาสตร์โมเลกุล หรือ QM / MM ทั้งนี้ได้พัฒนาเทคนิคนี้ ให้สามารถนำมาใช้กับระบบของสสารสภาพควบแน่นแบบอ่อน อย่างเช่นของเหลว และสารละลายได้เป็นครั้งแรก ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของการใช้งานโดยกลุ่มวิจัยต่าง ๆ ในเวลาต่อมา เทคนิคนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า มีความแม่นยำสูง และได้รับการตอบรับให้เป็นแหล่งอ้างอิงที่เทียบเคียงได้ กับการทดลองโดยใช้รังสีเอ็กซ์และนิวตรอน ที่มีราคาแพงกว่ากันมาก ดร. ธีรเกียรติ์ ยังคงพัฒนาเทคนิคนี้ต่อมา ร่วมกับศาสตราจารย์เคอิจิ โมโรคูมา ทำให้ระเบียบวิธีนี้มีความถูกต้อง และเป็นมาตรฐานมากขึ้นภายใต้ชื่อ ONIOM-XSOL เพื่อที่จะสามารถประยุกต์ใช้กับระบบที่ยุ่งยากกว่าเดิม และเป็นที่สนใจในทางชีววิทยา

 

ผลจากความสำเร็จในงานวิจัยที่ทำนั้นทำให้ ดร. ธีรเกียรติ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิค ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยการสนับสนุนจากสภาวิจัยเยอรมัน ให้ไปปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2543 ในหัวข้อ "การพัฒนาระเบียบวิธี QM / MM เพื่อใช้ศึกษาระบบที่จัดเรียงตัวเองได้ (Self-Organized and Self-Assembly Nanostructures)" โดยขณะนี้เยอรมันและประเทศยุโรปอื่น ๆ กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างสูง กับนาโนเทคโนโลยีของระบบที่จัดตัวเองได้นี้ หลังจากกลับมาจากประเทศเยอรมันแล้ว ดร. ธีรเกียรติ์ ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็น Cherry L. Emerson Visiting Fellow 2000 / 2001 ณ Emory University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้ไปปฏิบัติงานเป็นเวลา 2 เดือน ในหัวข้อการพัฒนาระเบียบวิธี OMIOM-XSOL เพื่อศึกษาระบบสสารควบแน่นแบบอ่อน และงานประยุกต์ไปสู่โปรตีน และในปีนี้ก็ได้รับเชิญให้เป็นนักวิทยาศาสตร์เยี่ยมเยียน ณ University of Leipzig ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อศึกษาความร่วมมือในการวิจัยเรื่องท่อนาโนของคาร์บอน

 

งานวิจัยในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์นาโนมีลักษณะเป็นกลุ่มวิจัย ซึ่งมีการบูรณาการความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยท่านอื่น ๆ ได้แก่ ผศ. ดร. ธนากร โอสถจันทร์ ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ และ ดร. อุดม รอบคอบ ทำให้มีการทำวิจัยครบทุกด้านตั้งแต่ ทฤษฎี การออกแบบ ซิมูเลชัน ไปจนถึงการทดลองและวิศวกรรม งานวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 


จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๔ : รองศาสตราจารย์ ดร. เกตุ กรุดพันธ์.
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544. ISBN 974-8196-96-8