logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย
(Assist Prof. Dr. Taweechai Amornsakchai)

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2543

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2509 เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 6 คน ของนายเอกชัย และนางเมียง ธรสาธิตกุล สำำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเคมีอุตสาหกรรม ที่คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อปี พ.ศ. 2532 หลังจากนั้น ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาต่อในสาขาฟิสิกส์พอลิเมอร์ ที่ Department of Physics, University of Leeds สหราชอาณาจักร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อปี 2537 และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน

 

ดร. ทวีชัย เคยได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในชั้นปีที่ 1 กลุ่มนักศึกษาวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. แถบ นีละนิธิ และในระหว่างรับราชการที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาิวิทยาลัยมหิดล ก็ได้รับทุนไปวิจัยต่างประเทศ อาทิ ในปี 2539 ได้รับทุนจาก Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) เพื่อไปทำวิจัยระยะสั้นเกี่ยวกับการปรับสภาพผิวของเส้นใยพอลิเอทิลีนด้วยแสง ที่ Gunma University ประเทศญี่ปุ่น และในปี 2541 ได้รับทุนจาก Engineering and Physical Science Research Council (EPSRC) แห่งสหราชอาณาจักร เพื่อทำวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพอลิเอทิลีน ที่ Department of Physics, University of Reading สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อเนื่องที่ ดร.ทวีชัย กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่

 

งานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย เกี่ยวข้องกับพอลิเอทิลีน ที่มีการจัดเรียงตัวสูง (highly oriented polyethylene) ซึ่งเตรียมได้จากการยืดพอลิเอทิลีน ที่อุณหภูมิสูง ให้มีความยาวเป็นหลายสิบเท่า ของความยาวเริ่มต้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีมอดูลัส และความแข็งแรงเพิ่มขึ้นจากเดิม หลายเท่าตัว โดยได้ศึกษาทั้งในด้านพื้นฐาน และประยุกต์ ได้แก่ การศึกษาอิทธิพลของส่วนที่เป็นอสัณฐาน ต่อการเกิดปฎิกิริยาเคมี ในพอลิเอทิลีนที่มีการจัดเรียงตัวสูง และพบว่าส่วนอสัณฐาน ที่มีการจัดเรียงตัว (oriented amorphous) มีความต้านทานต่อการเกิดปฎิกิริยาเคมีสูง และในการศึกษาเดียวกัน ยังพบด้วยว่า ปฎิกิริยาการกราฟต์ ด้วยไวนิลมอนอเมอร์ สามารถเกิดขึ้นภายในเส้นใยได้ จากมอนอเมอร์ ที่แพร่เข้าไป ในส่วนอสัณฐานของเส้นใย ซึ่งได้มีการประยุกต์ความรู้ที่ได้ ในการปรับปรุงสมบัติด้านความทน ต่อแรงกดของเส้นใยพอลิเอทิลีน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว ได้รับทุนวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 

งานวิจัยที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ มุ่งเน้นถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลง ของโครงสร้างที่เกิดขึ้น ระหว่างการยืดพอลิเอทิลีน จากการศึกษาเบี้องต้นพบว่า พอลิเอทิลีนที่ผ่านการยืด มีโครงสร้างที่สัมพันธ์ กับโครงสร้างเริ่มต้น แม้ว่าจะถูกยืดออกไปหลายเท่าก็ตาม หรืออาจเรียกได้ว่า พอลิเอทิลีนที่ผ่านการยืด สามารถจำโครงสร้างเริ่มต้นได้ และยังพบอีกว่า พอลิเอทิลีนที่ผ่านการยืด อาจเกิดตำหนิ (defect) ที่มีโครงสร้างเฉพาะ นอกจากนี้แล้ว ยังได้ศึกษาการปรับสภาพผิว ของเส้นใยพอลิเอทิลีน เพื่อให้เหมาะสม ต่อการประยุกต์ในงานวัสดุคอมโพสิท

 



จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๓
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544. ISBN 974-7580-62-4