logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
ศาสตราจารย์ ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม
(Professor Dr. Sakol Panyim)

รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. ปี พ.ศ. 2542
รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุด
(ประเภททุนสนับสนุนทั่วไป)

 

ประวัติส่วนตัว

 

เกิดวันที่ 31 มีนาคม 2486 ที่จังหวัดอ่างทอง จบการศึกษามัธยมต้น จากโรงเรียนป่าโมกวิทยาภูมิ มัธยมปลายจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลังจากเข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์อยู่ 2 ปี ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาตรี สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในปี พ.ศ. 2510 และปริญญาเอก สาขาชีวเคมี ในปี พ.ศ. 2514 จากมหาวิทยาลัยไอโอวา สมรสกับนางพูนพันธ์ (อัตตะนันทน์) พันธุ์ยิ้ม มีบุตร 3 คน คือ นายธีรธร นายก่อพร และ ด.ช. ธัชทร

 

ประวัติการทำงานและการวิจัย

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2514 ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่สอนชีวเคมี แก่นักศึกษาแพทยศาสตร์ และนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย และปฏิบัติงานวิจัย ศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ ของโปรตีนฮิสโตนส์ (histones) ซึ่งพบในนิวเคลียส จนปี พ.ศ. 2520 ได้ปฏิบัติงานวิจัยที่ Friedrich Miescher Institute ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยศึกษาการสร้าง mRNA จากเซลล์ตับไก่ เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน estradiol ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2518 และรองศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2521 ได้รับเลือกให้เป็น หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2531 ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2528 ในสาขาชีวเคมี และรางวัลที่ 1 ผลงานประดิษฐ์คิดค้น "ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ" ประจำปี พ.ศ. 2539 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์สาขาชีวเคมี ในปี พ.ศ. 2535 และศาสตราจารย์ ระดับ 11 ในปี 2538 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันอณูชีววิทยา และพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ศาสตราจารย์ ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม ได้ใช้ความรอบรู้ด้านอณูพันธูศาสตร์อย่างลึกซึ้ง มาใช้ในการศึกษาวิจัยหลายด้าน อาทิ การจำแนกความหลากหลายของยุงก้นปล่อง โดยใช้ DNA probe, การค้นพบวิธีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียจากเลือด โดยการตรวจสอบ DNA อย่างง่าย, การศึกษายีนฆ่าลูกน้ำยุง จากแบคทีเรียบาซิลลัส ทัวริงจินซิส, การแยกและเพิ่มปริมาณของยีนสร้าง Growth Hormone ของปลาบึก, การสร้างลายพิมพ์ DNA ในคน และจำแนกบุคคลจากลายพิมพ์นี้, การศึกษา RNA และ DNA virus ซึ่งก่อให้เกิดโรคในกุ้งกุลาดำ

 

ผลงานวิจัยโดยสรุป

 

ศาสตราจารย์ ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม ได้ทำการวิจัยด้านอณูพันธุศาสตร์ โดยผลงาน การศึกษาชนิดของโปรตีน histones และการหาวิธีจำแนกโปรตีนเหล่านี้ ออกเป็น 5 ชนิด ได้ด้วยการแยกโดยกระแสไฟฟ้า เป็นผลงานเด่นที่มีผู้นำไปใช้อ้างอิงถึง 2,558 ครั้ง ได้ศึกษาหาวิธีการจำแนกความหลากหลายของยุงก้นปล่อง โดย DNA probe โดยการใช้วิธีการทางพันธุวิศวกรรม ค้นหา DNA จำเพาะของยุงก้นปล่อง จนได้ DNA จำเพาะต่อยุงก้นปล่อง สปีชีส์ A, B, C, D และ DNA จำเพาะดังกล่าว ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น DNA probe สำหรับตรวจหาและจำแนกสปีชีส์ ของยุงก้นปล่อง โดยสามารถตรวจหาได้ จากชิ้นส่วนของยุงหรือลูกน้ำ ได้ศึกษา DNA ซ้ำซ้อน (repetitive DNA) ในเชื้อมาลาเรียขนิดฟาสซิปารุ่ม และไวแวกซ์ เพื่อหาโครงสร้างและหน้าาที่ของ DNA ดังกล่าว การศึกษานี้ ได้แยก DNA ซ้าซ้อน ที่พบเฉพาะในเชื้อฟาลซิปารุ่ม และไวแวกซ์ เมื่อหาโครงสร้างที่ลำดับนิวคลีโอไทด์แล้ว ได้นำข้อมูลการเรียงลำดับเบส มาสังเคราะห์ DNA primer แล้วใช้กระบวนการ polymerase chain reaction (PCR) มาเพิ่มขยาย DNA ซ้ำซ้อนที่จำเพาะดังกล่าว จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็น วิธีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียจากเลือด โดยวิธีง่ายๆ มีความไวในระดับ เชื้อ 1 ตัวต่อเลือด 1 ul และให้ผลการตรวจประมาณ 50 ตัวอย่าง ภายในเวลา 4 ชั่วโมง

 

ได้ศึกษายีนฆ่าลูกน้ำยุง จากแบคทีเรียบาซิลลัส ทัวริงจินซิส ซึ่งฆ่าลูกน้ำยุงอย่างจำเพาะ โดยไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ ได้แยกยีนจากแบคทีเรีย มาศึกษาโครงสร้าง โดยพบว่ายีนดังกล่าว มีขนาดประมาณ 3.8 กิโลเบส และสร้างโปรตีนขนาด 1.30 กิโลดาลตัน โดยส่วนที่ออกฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำ อยู่ในชิ้นส่วนขนาด 72 กิโลดาลตัน เมื่อศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียด ที่ลำดับนิวคลีโอไทด์ ทำให้เห็นแนวทาง ที่จะนำยีนฆ่าลูกน้ำยุงดังกล่าว ไปตัด-ต่อ ใส่เข้าในแบคทีเรียอื่น ๆ ที่พบในแหล่งน้ำที่ยุงวางไข่ หรือแบคทีเรียที่พบในกระเพาะลูกน้ำ

 

ได้ศึกษายีนเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ (GH gene) โดยทำการแยกยีน GH จากวัว และจากปลาบึก การแยกยีน GH จากปลาบึก โดยใช้ PCR มาช่วยเพิ่มขยายยีน ทำให้สามารถแยกยีน GH จากปลาบึกได้ และได้ศึกษาจนทราบโครงสร้าง ลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีน และนำยีน GH ไปผลิตฮอร์โมน GH ปริมาณจากในแบคทีเรีย โดยฮอร์โมน GH ที่ผลิตได้ สามารถเร่งการเจริญเติบโต ของปลาได้

 

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยศึกษา วิธีการสร้างลายพิมพ์ DNA ในคน และแบคทีเรีย จนได้วิธีจำแนกบุคคลจากลักษณะลายพิมพ์ DNA การศึกษาและค้นหาไวรัส ซึ่งก่อโรคในกุ้งกุลาดำ จนพบ RNA virus ก่อโรคหัวเหลือง และ DNA virus ก่อโรคหัวแดงจุดขาว

 

ผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงในวารสารนานาชาติสูงสุด

High resolution arylamide gel electrophoresis of histones ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Biochemistry and Biophysics 130: 337-346 (1969) โดย S. Panyim and R. Chalkley ได้รับการอ้างอิงจากวารสารนานาชาติ จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 2,558 ครั้ง (จาก Science Citation Index) เป็นผลงานเรื่อง การศึกษาโครงสร้าง และหน้าที่ของโปรตีน histones ซึ่งในปี 1969 ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า โปรตีน histones ทำหน้าที่อะไร เนื่องจากเป็นโปรตีนซึ่งเกาะติดกับ DNA ในนิวเคลียส จึงมีผู้คาดการณ์ว่า เป็นโปรตีนควบคุมการแสดงออกของยีน และเป็นโปรตีนซึ่งมีความหลากหลายมาก จากการศึกษาชนิดของโปรตีน histones โดยวิธีแยกด้วยกระแสไฟฟ้า พบว่ามี histones ทั้งหมดเพียง 5 ชนิด ไม่พบมีความหลากหลาย จึงไม่เป็นโปรตีนที่ควบคุมการแสดงออกของยีน สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน พบว่ามี histones เพียง 5 ชนิดเท่านั้น และเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการเกิดโครงสร้างนิวคลีโอโซม ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของโครโมโซม ความสำคัญของการตีพิมพ์ฉบับนี้ คือ สามารถหาวิธีจำแนกชนิดของ histones ด้วยอิเล็กโตรฟอริซิส และแสดงว่ามี histones อยู่ 5 ชนิด ซึ่งนับว่าถูกต้อง จึงมีผู้อ้างอิงผลงานมากใน 2 ประเด็นคือ อ้างอิงวิธีการจำแนกชนิดของ histones ด้วยกระแสไฟฟ้า และการแสดงว่า histones ในนิวเคลียสของสิ่งมีชีวิตมี 5 ชนิด ผลงานนี้มีอายุ 30 ปี แต่ยังมีผู้อ้างอิงในปัจจุบัน ประโยชน์ของงานตีพิมพ์นี้ คือ ทำให้ทราบอย่างถูกต้องว่ามี histones อยู่ 5 ชนิด และจำแนกให้เห็นชัดเจนได้ โดยการแยกด้วยกระแสไฟฟ้า

 



จากหนังสือ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2542. TRF Senior Research Scholar 1999.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. [ISBN 974-89566-0-1] หน้า 72-78