logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ปาล์มอคาเดมิค ชั้นอัศวิน จากประเทศฝรั่งเศส

 

..เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ณ ทำเนียบอัครราชฑูต – สถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดี รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ปาล์มอคาเดมิค ชั้นกอมมองเดอร์ (ชั้นอัศวิน) จาก ฯพณฯ โลรองต์ โอแบล็ง เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ในฐานะที่ท่านอธิการบดีได้พัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนระดับมหาวิทยาลัย และทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทย กับประเทศฝรั่งเศส อย่างเด่นชัด

..เครื่องอิสริยาภรณ์ปาล์มอคาเดมิคนี้ สมเด็จพระจักพรรดิ์นโปเลียนที่หนึ่ง ทรงมีพระดำริโปรดให้จัดทำขึ้น ในปี ค.ศ. 1808 (พ.ศ. 2351) เพื่อมอบให้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติแก่บุคคลผู้มีคุณูปการในด้านการศึกษา เครื่องอิสริยาภรณ์นี้มี 3 ชั้น ลำดับจากชั้นเชอวาลิเยร์ ออฟฟิซิเยร์ และชั้นกอมมองเดอร์ (ชั้นอัศวิน) เป็นชั้นสูงสุด เหรียญอิสริยาภรณ์ปาล์มอคาเดมิคจัดทำเป็นช่อ ใบปาล์มสีม่วงสองแผ่นประดิษฐ์เป็น รูปมงกุฏ

..สารมหาวิทยาลัย ขอร่วมแสดงความยินดี และขอนำสาระสำคัญของคำประกาศเกียรติคุณมาเผยแพร่ให้ชาวมหาวิทยาลัยได้ชื่นชม ดังนี้

..“…สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยมหิดลกับประเทศฝรั่งเศสนั้น กระชับแน่นมาโดยตลอด จวบจนถึงขณะนี้ก็เป็นระยะเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว ที่เราได้ดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน และได้ร่วมกันทำงานในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นเวชศาสตร์เขตร้อน ชีวสถิติ อิมมูโนวิทยา ศัลยกรรมระบบประสาท หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

..ในปัจจุบัน ความร่วมมือของเราได้ขยายวงกว้างออกไปอีกในสาขาอื่นๆ อันได้แก่ มานุษยวิทยาสังคม เทคโนโลยีการแพทย์ การฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตลอดจนวิทยาการโพลิเมอร์และชีววิทยาโมเลกุลของยางพารา

..กิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กับประเทศฝรั่งเศสนั้น จะจัดให้มีขึ้นในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัยต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่มีผู้แทนจากประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนามเข้าร่วมอยู่เป็นประจำ มิติของความร่วมมือที่ขยายสู่ภูมิภาคต่างๆ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และควรค่าแก่การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง”

..“…ศาสตราจารย์พรชัย เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในวงการวิจัยด้านจุลชีววิทยาและอิมมูโนวิทยา อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการตรวจทางข้อมูลของวารสารทางวิทยาศาสตร์ ทั้งของไทยและต่างประเทศหลายฉบับ อาทิ วารสาร MIRCENS BIOTECHNOLOGY (ของ Oxford University Press) และวารสาร Journal Report Immunology

..นอกจากนี้ ท่านยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของหน่วยงานทั้งระดับชาติ และระดับโลก อาทิ Microbiological Sciences International Cell Research Organization-British Society of Immunology และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเป็นสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นสมาชิก IRCO ของ Panel on Animal Cell Biotechnology และ WHO Advisory Panel on Immunology

..ศาสตราจารย์พรชัย ให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดต่อระบบการศึกษาและการวิจัยของฝรั่งเศส รวมทั้งได้ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับสถาบันการศึกษาในประเทศฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบรรดาข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับประเทศฝรั่งเศสที่ได้ลงนามกันมาแล้วมากมาย คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สถาบันไออาร์ดี กับ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการสาธารณสุขและเทคโนโลยีชีวภาพ

..ประเทศฝรั่งเศสรู้สึกยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มอบอิสริยาภรณ์อันเป็นหนึ่งในเครื่องหมายสูงสุดแก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ในค่ำคืนนี้..”

 

ข้อมูลจาก : สารมหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 30 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2548