ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น เกิดเมื่อวันที่
25 ธันวาคม 2513 ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรสาวคนโตของนายอดุลย์
และนางซุ่ยลู้ ใจเย็น มีน้องสาว 1 คน
คือ แพทย์หญิงนัยเนตร ใจเย็น
ดร. พิมพ์ใจ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมต้นที่
โรงเรียนสตรีภูเก็ต จากนั้นได้รับทุนจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(พสวท.) ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปริญญาเอก
โดยได้เข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จากนั้นในระดับปริญญาตรี
สาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2535 (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทางสาขาชีวเคมีจาก
University of Michigan, Ann Arbor
โดยมี Professor David P. Ballou และ
Professor Vincent Massey (ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว)
เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
เมื่อปี 2540 ตลอดระยะเวลาการเรียน
ดร.พิมพ์ใจ เป็นผู้มีผลการเรียนดีสม่ำสมอ
ได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัลพระราชทานนักเรียนเรียนดีในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลจากมูลนิธิ ดร. แถบ นีละนิธิ
ในระดับปริญญาตรี รางวัล Chrisman Award
จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สำหรับนักศึกษา
Ph.D. candidate ที่มีผลการเรียนผลงานวิจัยดี
และรางวัล Murphy Award จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
หลังจากสำเร็จการศึกษา ดร.พิมพ์ใจ
ได้เข้ารับราชการที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ซึ่งเป็นภาควิชาที่
ดร.พิมพ์ใจ มีความประทับใจตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
ที่มาฝึกงานวิจัยที่ห้องปฏิบัติการของศาสตราจารย์ประพนธ์
วิไลรัตน์) และอยู่ในหน่วยวิจัย Center
for Excellence in Protein Structure
and Function ที่มีศาสตราจารย์
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม
และเป็นนักวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก
ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
(ไบโอเทค) ปี 2544 (ศาสตราจารย์ศกรณ์
มงคลสุข เป็นหัวหน้าโครงการ) ดร.พิมพ์ใจ
ได้รับรางวัล L'oreal-Unesco Fellowship
for Woman in Science เมื่อปี 2546
และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เริ่มทำงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ดร.พิมพ์ใจ สนใจศึกษาความรู้พื้นฐานในด้านกลไกการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์
โดยเฉพาะเอนไซม์ในกลุ่มที่มีสารประกอบประเภทวิตามินบีสอง
(Flavin) เป็นตัวช่วยในการเร่งปฏิกิริยา
นอกจากใช้วิธีการทดลองทางด้านชีวเคมีทั่วไปในการศึกษาแล้ว
ทางกลุ่มวิจัยของ ดร.พิมพ์ใจ จะใช้ข้อมูลทางจุลนศาสตร์และอุณหพลศาสตร์
ซึ่งได้มาจากการทำการทดลองกับเครื่องมือ
stopped-flow spectrometer ควบคู่ไปกับการวัดสมบัติทางด้านสเปคโตรสโกปีชนิดต่างๆ
เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงกลไกการเกิดปฏิกิริยา
นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกับ ดร.จิรันดร
ยูวะนิยม ในการศึกษาโครงสร้างทางสามมิติของเอนไซม์ต่างๆ
ที่ได้ศึกษาอยู่ในห้องปฏิบัติการด้วย
โดยปัจจุบันกลุ่มของ ดร.พิมพ์ใจ มีเอนไซม์หลักที่ศึกษาอยู่
4 กลุ่มด้วยกันคือ
1) เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายสารประกอบอะโรมาติก
2) เอนไซม์ลูซิเฟอเรส (luciferase)
3) เอนไซม์ไพราโนสออกซิเดส (pyranose
oxidase) และ
4) เอนไซม์เซอรีนไฮดรอกซีเมททิลทรานสเฟอเรส
(serine hydroxymethyl transferase,
SHMT)
เอนไซม์กลุ่มแรกที่ทำหน้าที่ย่อยสารประกอบอะโรมาติก
เป็นกลุ่มเอนไซม์ที่ทำให้จุลินทรีย์สามารถบำบัดของเสียในสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการทางชีวภาพได้
กลุ่มของ ดร.พิมพ์ใจ ได้พบการทำงานของเอนไซม์กลุ่มนี้ในรูปแบบใหม่
ซึ่งเป็นการทำงานแบบที่ประกอบด้วยโปรตีนสองส่วน
ซึ่งเป็นประเด็นวิจัยที่กลุ่มวิจัยอีกหลายกลุ่มในโลกกำลังทำการค้นคว้าอยู่เช่นกัน
เอนไซม์กลุ่มที่สองคือเอนไซม์ลูซิเฟอเรส
เป็นเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการเรืองแสงจากสิ่งมีชีวิต
โดยกลุ่มวิจัยของ ดร.พิมพ์ใจ ได้ทำการแยกเอนไซม์ชนิดนี้จากแบคทีเรียเรืองแสงในทะเล
และปัจจุบันได้ทำการศึกษาถึงกลไกการทำงาน
โดยงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องจากเอนไซม์ทั้งสองกลุ่มที่กล่าวมา
ได้มีความร่วมมือกับ Professor David
P. Ballou ผ่านทางโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก
ส่วนการศึกษากลไกการทำงานของเอนไซม์กลุ่มที่สาม
คือเอนไซม์ไพราโนสออกซิเดสนั้น เป็นความร่วมมือกับกลุ่มของ
Professor Dietmar Haltrich ประเทศออสเตรเลีย
ซึ่งได้ทำการศึกษาเอนไซม์ตัวนี้มาก่อนหน้า
ทั้งในเชิงสมบัติทั่วไปและการประยุกต์ใช้งานของเอนไซม์ตัวนี้
ในการสังเคราะห์สารให้ความหวาน โดยในห้องปฏิบัติการของ
ดร.พิมพ์ใจ จะศึกษาถึงข้อมูลเชิงลึกในการเกิดปฏิกิริยา
เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้งานเอนไซม์ตัวนี้ในภาคอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น
ส่วนการศึกษาเอนไซม์ในกลุ่มสุดท้ายคือ
SHMT นั้น เป็นโครงการที่มีความร่วมมือกับ
ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพานิช (นักวิจัยจากไบโอเทค)
โดย ดร.อุบลศรี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการได้ทำการแยกและโคลนเอนไซท์มาลาเรีย
ซึ่งคาดว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาเอนไซม์
SHMT จะสามารถนำไปสู่การพัฒนายาต้านมาลาเรียตัวใหม่ต่อไป
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ดร.
พิมพ์ใจ สามารถปฏิบัติงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น
คือการที่ ดร. พิมพ์ใจ มีนักศึกษาระดับปริญญาโท/เอกที่มีคุณภาพ
มีความขยันขันแข็งและทุ่มเทกับงานวิจัยอย่างเต็มความสามารถ
รวมทั้งมีบุคคลที่เคารพรักคอยให้กำลังใจเสมอมา
จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี
2548 : ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน
ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์,
2548. ISBN 974-9941-09-8 |