ศาสตราจารย์
ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่
๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ที่กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ครุศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขานิวเคลียร์เทคโนโลยี
จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล
และปริญญาเอก Doctor of Science สาขาชีววิทยา
จากมหาวิทยาลัยโอซาก้าซิตี้ ประเทศญี่ปุ่น
เข้ารับราชการตำแหน่งนักวิชาการในภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใน
พ.ศ. ๒๕๑๗ ปัจจุบันเป็น ศาสตราจารย์
ระดับ ๑๐ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
เป็นตัวแทนประเทศไทยดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการใน
International Ornithological Committee
และได้รับเลือกเป็น Honorary Fellow
ของ The American Ornithologist’s Union
ศาสตราจารย์
ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกระยะยาวมาตั้งแต่
พ.ศ. ๒๕๒๑ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ – ปัจจุบัน
ยังเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมจากหลายสถาบันเพื่อศึกษาลักษณะพันธุกรรม
ประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่าและหย่อมป่าในประเทศไทย
และโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือกอีกด้วย
เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
ซึ่งให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกและนิเวศวิทยาทั่วไป
และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่จัดตั้งศูนย์กลางประสานงานทางวิชาการ
งานวิจัย และให้การฝึกอบรม จัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับการวิจัยนกเงือกในระดับชาติและนานาชาติ
ส่งเสริมนักวิจัยหลากหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ
ให้ทำงานวิจัยเชิงบูรณาการโดยใช้นกเงือกเป็นสัตว์เป้าหมายในการวิจัย
ซึ่งรูปแบบและผลวิจัยสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นกเงือก
ซึ่งเป็น Umbrella และ Keystone species
และใกล้สูญพันธุ์อย่างเหมาะสม จนทำให้เป็นโครงการวิจัยด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ
ที่มีศักยภาพในการชี้นำสังคม เป็นที่ยอมรับจากคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
วุฒิสภา ใช้เป็นต้นแบบในการจัดการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมในประเทศ
เป็นผู้ริเริ่มปลุกจิตสำนึกของพรานล่านกเงือกและชาวบ้านในท้องถิ่นให้หันมาเป็นผู้อนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า
โดยใช้นกเงือกเป็นสื่อจนเกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน
โรงเรียน เยาวชน และนักวิจัย ได้รับรางวัลต่างๆ
อาทิเช่น ปี ๒๕๔๙ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ
The Rolex Awards for Enterprise 2006
จาก Rolex SA ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
รางวัล The 52nd Annual Chevron Conservation
Awards จาก Chevron Corporation, USA
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลสาขาการวิจัย
จากมหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลอาจารย์ตัวอย่างคณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล จากสภาอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล ปี ๒๕๔๗ ได้รับโล่เกียรติยศ
ครุศาสตร์ดีเด่นจากสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี ๒๕๔๖ ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ
บทความทางวิชาการในหนังสือ วารสารชั้นนำ
และเป็นภาพยนตร์สารคดีทางโทรทัศน์หลายรายการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: ข่าวสภาคณาจารย์ ฉบับที่ ๗
ประจำเดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ |