logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร. จิรันดร ยูวะนิยม
(Dr. Jirundon Yuvaniyama)

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2546

ดร.จิรันดร ยูวะนิยม เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2511 เป็นบุตรคนแรกในจำนวนสามคน ของนายกรุงศรี และนางภาคินี ยูวะนิยม สมรสแล้วกับนางฉันธนา (ลาภศิริวงศ์) ยูวะนิยม

 

ดร.จิรันดร ยูวะนิยม สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนประถมและมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีสาขาเคมี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาเอกสาขา Biological Chemistry ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (Ann arbor) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับ ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อปี พ.ศ. 2540 ระหว่างการศึกษา ได้รับรางวัลเรียนดีและกิจกรรมดีเด่นต่างๆ มาโดยตลอด ได้รับคัดเลือกไปร่วมกิจกรรม Research Science Institute ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ณ มลรัฐ New York ได้รับรางวัล ศ.ดร. แถบ นีละนิธิ และ Horace H. Rackham Graduate School Predoctoral Fellowship รวมถึง Dominic D. Dziewiatkowski Outstanding Ph.D. Dissertation Award

 

ตั้งแต่ศึกษาระดับปริญญาเอก ดร.จิรันดร มีความสนใจและได้ทำวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างสามมิติของโปรตีนตลอดมา โดยได้ทุนจาก Horace H. Rackham Graduate School ไปศึกษาเทคนิคการหาโครงสร้างสามมิติ โดยอาศัยการหักเหรังสีเอ็กซ์ของผลึกตัวอย่าง (X-ray crystallography) ณ Cold Spring Harbor Laboratory มลรัฐ New York และเป็นผู้หาโครงสร้างสามมิติแรกของเอนไซม์ dual-specificity phosphatase ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ และเป็นผลงานสำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก (Science 272: 1328) หลังจากจบการศึกษา ได้รับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาได้รับทุน WHO/TDR Training Grant จากองค์การอนามัยโลก ไปทำวิจัยที่บริษัทยา F. Hoffmann-La Roche ณ เมือง Basel ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 โดยได้ศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์พลาสเมปซิน (plasmepsins I and II) ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนายารักษาโรคมาเลเรีย และได้รับทุนวิจัย Target Research Unit Network จาก Thailand-Tropical Diseases Research Programme (TARUN/T-2) เพื่อศึกษาเอนไซม์ในกลุ่มพลาสเมปซินนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความร่วมมือกับ ศ. ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ และ Howard Hughes Medical Institute ณ Washington University School of Medicine สหรัฐอเมริกา รวมทั้งบริษัท Actelion Pharmaceuticals จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังร่วมกับทีมนักวิจัย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ในกลุ่มวิจัยของ ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เพื่อศึกษาโครงสร้างสามมิติของ เอนไซม์ไดไฮโฟเลทรีดักเทส-ไธมิดิเลทซินเทส (dihydrofolate reductase-thymidylate synthase) จากเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนายารักษาโรคมาเลเรีย (Nat struct Biol. 10, 357) นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของ ศ.ดร. ศกรณ์ มงคลสุข เพื่อศึกษาโครงสร้างสามมิติของโปรตีน ที่ทำหน้าที่ตรวจจับและควบคุมการตอบสนองต่อสาร organic peroxide ในเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย

นอกจากการหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีนแล้ว ดร.จิรันดร ยังมีความสนใจในการประยุกต์ความรู้ทางโครงสร้างของโปรตีนนี้ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิเช่น ในการทำวิศวกรรมโปรตีน เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีสมบัติตามต้องการ โดยร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของ ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ และ ศ.ดร.วิทยา มีวุฒิสม เพื่อศึกษาการเปลี่ยนความจำเพาะของเอนไซม์ โดยวิธีวิศวกรรมโปรตีน และยังได้ร่วมกับ ผศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ผศ. ดร. พลังพล คงเสรี และ ดร. เปรมวดี วงษ์แสงจันทร์ จัดตั้งกลุ่มวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน ณ คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี ศ.ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร เป็นหัวหน้ากลุ่ม และได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับสากล และเป็นประโยชน์กับประเทศไทยสืบต่อไป

 


จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๖.
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546. ISBN 974-13-2511-8