logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต สิริสิงห
(Assist Prof. Dr. Chakrit Sirisinha)

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2544

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคริต สิริสิงห เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2512 จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่สองของศาสตราจารย์ ดร. สถิตย์ และแพทย์หญิงวลัยลักษณ์ สิริสิงห จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี เมื่อปี 2534 หลังจากนั้นได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2536 และได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขา Rubber Engineering ณ Loughborough University สหราชอาณาจักร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 2540 จากนั้นเข้ารับราชการ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปัจจุบัน

 

งานวิจัยที่ ดร. ชาคริต สิริสิงห สนใจได้แก่ งานวิจัยด้านวิทยากระแสของพอลิเมอร์ งานวิจัยด้านการผสมและขึ้นรูป ทั้งของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ตลอดจนงานวิจัยด้านยางผสม มีผลงานดีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 15 เรื่อง ได้เข้าร่วมประชุมเสนอผลงานตลอดจนเป็น technical committee ในการประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่นการประชุม International Seminar on Elastomers ครั้งที่ 7 และครั้งที่ 8 การประชุม Polymer Processing Society (PPS) 1999

ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการผสม และขึ้นรูปทั้งของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ซึ่งได้รับทุนวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมขนาดเล็ก จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าการกระจายตัวของเขม่าดำซึ่งเป็นสารตัวเติมที่สำคัญ ในการเสริมแรงของยาง มีผลอย่างมากต่อความสามารถในการผสมและขึ้นรูปของยางคอมพาวด์ การควบคุมให้ยางคอมพาวด์มีการกระจายตัว ของเขม่าดำในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการขึ้นรูปโดยกระบวนการอัดรีด (extrusion) มีการพองตัว (extrudate swell) เหมาะสม และมีผิวเรียบแล้ว ยังสามารถประหยัดเวลาและพลังงานที่ใช้ในการผสมได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าการเติมสารเคมีชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมัน (processing oil) และสารหล่อลื่น (slipping agent) จะส่งผลต่อการพองตัว และความเรียบของผิวผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการอัดรีด

 

ส่วนผลงานวิจัยด้านยางผสมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลัก ในส่วนแรกได้แก่ งานวิจัยที่ศึกษาการกระจายตัวของสารตัวเติมชนิดต่าง ๆ เช่น เขม่าดำ และซิลิกา ในระบบยางผสมระหว่างยางบิวตะไดอีน (Butadiene Rubber, BR) กับยางไนไตรล์ (Nitrile Rubber, NBR) พบว่าสารตัวเติมจะเข้าไปในยางที่มีความหนืดต่ำกว่า หรือมีความเป็นขั้วใกล้เคียงกับสารตัวเติม ในงานวิจัยที่เกี่ยวกับยางผสมส่วนที่สอง ซึ่งได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก จากสำนักงานการกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นการใช้ยางธรรมชาติผสม ลงไปในยางไนไตรล์ เพื่อสามารถใช้ยางธรรมชาติขนาดที่เล็กกระจายตัวอยู่ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ยางไนไตรล์ที่มีอนุภาคยางธรรมชาติ ขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ จะมีความทนน้ำมันสูงกว่ายางไนไตรล์ที่มีอนุภาคยางธรรมชาติขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ โดยขนาดของอนุภาคยางธรรมชาติ สามารถควบคุมได้จากสภาวะของการผสมที่ใช้ ตลอดจนสัดส่วนของความหนืด ระหว่างยางธรรมชาติกับยางไนไตรล์

 

ปัจจุบัน ดร. ชาคริต สิริสิงห ยังคงสนใจงานวิจัยด้านยางผสม โดยเน้นไปที่การใช้ยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากคลอริเนเตทพอลิเอธิลีน (Chlorinated Polyethylene, CPE) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่มีราคาสูง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากการศึกษาในระบบยางผสมแล้ว ยังทำการศึกษาระบบพอลิเมอร์ผสม ระหว่างยางธรรมชาติที่มีต่อสมบัติของพอลิเมอร์ผสม งานวิจัยในปัจจุบันอีกงานหนึ่ง ได้แก่ การศึกษาผลของการผสมสารตัวเติมชนิดต่าง ๆ ลงในยางธรรมชาติที่เตรียมขึ้นโดยวิธีที่ต่างกัน โดยจะเน้นไปที่การควบคุมสมบัติด้านต่าง ๆ ของยางคอมพาวด์

 


จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๔ : รองศาสตราจารย์ ดร. เกตุ กรุดพันธ์.
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544. ISBN 974-8196-96-8