ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ ( ดาวน์โหลดประวัติ )
เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2494 จังหวัดกรุงเทพมหานคร
เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายเติมและนางเรวดี ทับทิมทอง สมรสกับศาสตราจารย์สมฤกษ์ กฤษณามระ
บุตร นายศมกฤต กฤษณามระ สมรสกับนางวิลาสินี กฤษณามระ
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 10 สุขุมวิท 7 คลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
การศึกษา
พ.ศ.2506 ประถมศึกษา โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
พ.ศ.2510 มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
พ.ศ.2514 มัธยมศึกษาตอนปลาย Ashford School, Kent, UK
พ.ศ.2517 B.SC. (First Class Honours) (Biological Sciences) Westfield – QueenMary College,London University, UK
พ.ศ.2520 ปริญญาโท (สรีรวิทยา) มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ.2523 ปริญญาเอก (สรีรวิทยา) มหาวิทยาลัยมหิดล
ประวัติการทำงาน
ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ.2517 อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ.2524 ผู้ช่วยศาสตราจารย์
พ.ศ.2530 รองศาสตราจารย์
พ.ศ.2539 ศาสตราจารย์
พ.ศ.2549 ศาสตราจารย์ระดับ 11
ตำแหน่งทางด้านบริหาร
พ.ศ.2542 – 2545 รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ.2545 – 2550 คณะกรรมการที่ปรึกษาคณบดี คณะวิทยาศาสตร์
พ.ศ.2546 – 2550 ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์
พ.ศ.2542 – ปัจจุบัน อนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ.2546 – ปัจจุบัน ประธานคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอตำแหน่งทางวิชาการ
คณะวิทยาศาสตร์
พ.ศ.2546 – ปัจจุบัน หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์
ด้านบริการวิชาการ
Editorial Board ของวารสาร Physiological Reports, Wiley & Son
ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการของวารสารต่างๆ ในระดับชาติและนานาชาติ
ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินโครงการวิจัยที่เสนอขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
รางวัลและเกียรติยศ
รางวัลระดับปริญญาเอกมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นิลนิธิ
รางวัลอาจารย์ดีเด่นประจำปี พ.ศ.2545 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี พ.ศ.2547 และ 2550
รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
รางวัลนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจากบริษัท ลอรีอัล ร่วมกับ ยูเนสโก ประเทศไทย พ.ศ.2552
ผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ
ด้านการวิจัย
ศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เป็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพพื้นฐาน (Fundamental Life Science Researcher) ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาสรีรวิทยา (Physiology) ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยกระบวนการทำงานของมนุษย์และสัตว์ ตั้งแต่ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ จนถึงสิ่งมีชีวิตทั้งตัว เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อาทิ แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่างๆ
ผลงานวิจัยกว่า 3 ทศวรรษ เน้นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านแคลเซียมและกระดูก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังมีงานวิจัยในสาขานี้อยู่น้อยมาก สาเหตส่วนหนึ่งก็คือโรคเกี่ยวกับกระดูกมักมีการดำเนินของโรคช้า เป็นอาการเรื้อรังที่ในขั้นต้นจะวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก เป็นโรคของผู้สูงอายุ และไม่ใช่โรครุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน แต่ทว่าอุบัติการณ์ของโรคกระดูกในคนไทยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีความเจริญทางการแพทย์และสาธารณสุข คนไทยจึงอายุยืนมากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเกี่ยวกับกระดูกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น ศ.ดร.นทีทิพย์ จึงให้ความสำคัญและส่งเสริมการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่กลไกการควบคุมแคลเซียมและกระดูกในภาวะปกติ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะเกิดพยาธิสภาพ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การป้องกันการเกิดโรค และการวินิจฉัยที่สามารถพบความผิดปกติตั้งแต่แรก ไปจนถึงวิธีการรักษา และค้นคว้าหาสูตรและวิธีใช้แคลเซียมเสริมประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โรคกระดูกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ จากความผิดปกติจากเซลล์กระดูกเอง จากความผิดปกติของการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ หรือจากการที่ร่างกายได้รับแคลเซียมที่ลำไส้ หรือจากการที่ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอด้วยสาเหตุต่างๆ ไปจนถึงความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมแคลเซียมและกระดูก การศึกษาวิจัยเพื่อตอบโจทย์ ในเรื่องดังกล่าวต้องเป็นไปในลักษณะสหสาขา (multidisciplinary research approach) และ ใช้เทคนิคหลากหลาย เช่น Electrophysiology , Bone histomorphometry เทคนิคทางชีวเคมีและชีวโมเลกุล เทคนิค immunohistochemistry ตลอดจน Bioinformatics เพื่อตอบโจทย์วิจัยได้ในทุกระดับการควบคุมแคลเซียม ตั้งแต่ระดับร่างกาย อวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ จนถึงระดับสารพันธุกรรมและโมเลกุล นอกจากนี้ ศ.ดร.นทีทิพย์ ยังศึกษาพยาธิสรีรวิทยาและสร้างองค์ความรู้ในการวางแผนการรักษาโรคกระดูกพรุนจากภาวะต่างๆ เช่น กระดูกพรุนหลังหมดประจำเดือนหรือขาดฮอร์โมนเพศหญิง และกระดูกพรุนจากโรคเบาหวาน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ (โดยเฉพาะโรคเบาหวาน) คือความซับซ้อนมาก ซึ่งต้องอาศัยเทคนิควิจัยและเทคโนโลยีระดับสูงตลอดจนสัตว์ทดลองสายพันธุ์พิเศษมาช่วยตอบโจทย์วิจัย เพื่อให้สามารถบูรณาการงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร ศ.ดร.นทีทิพย์ จึงได้ผลักดันให้เกิดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (Center of Calcium and Bone Research หรือ COCAB) ขึ้นในรูปของหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศของคณะวิทยาสษสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสมาชิกเครือข่ายจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการดุดซึมแคลเซียมระดับเซลล์ การถ่ายเทแลกเปลี่ยนแคลเซียมระหว่างลำไส้ ไต และกระดูก และกลไกการควบคุมวัฏจักรการสลาย – สร้างกระดูก (bone turnover/bone remodeling) ในภาวะปกติและพยาธิสภาพต่างๆ
อนึ่ง ศ.ดร.นทีทิพย์และคณะเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกที่ค้นพบว่า ฮอร์โมนโพรแลคติน (prolactin) ซึ่งหลั่งจากต่อมใต้สมองและเป็นที่รั้จักในฐานะฮอร์โมนที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมในแม่หลังคลอดนั้น มีผลควบคุมสมดุลแคลเซียมและเมตาบอลลิซึมของกระดูกด้วย กล่าวคือโพรแลคตินจัยกับตัวรับ (receptor) ที่เซลล์ผนังลำไส้และกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม มีผลให้ร่างกายเก็บสะสมแคลเซียมที่เพิ่มนี้ไว้ในกระดูก เพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำนมภายหลัง ผลของโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูก มีความสลับซับซ้อนมาก เช่น ผลต่อกระดูกมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุ กล่าวคือ โพรแลคตินมีผลเร่งวัฎจักรการสลาย – สร้างกระดูก ซึ่งทำให้กระดูกของลูกหนูมีมวลสูงขึ้น แต่ผลของการเร่งอัตราการสลาย – สร้างกระดูกในแม่หนูหรือหนูแก่กลับมีผลให้กระดูกสูญเสียแคลเซียม ผลต่อกระดูกนี้พบว่า เป็นผลโดยตรงของโพรแลคตินที่ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับบนเซลล์กระดูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกของต่อมใต้สมองที่หลั่งโพรแลคตินมากเกินไป (prolactinomas)
การวิจัยเกี่ยวกับโพรแลคตินนี้เป็นตัวอย่างของงานวิจัยบูรณาการแท้จริง โดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การใช้เทคนิคทาง Electrophysiology ศึกษาคุณสมบัติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้และการยอมให้ผนังแคลเซียมแพร่ผ่านเซลล์และผ่านช่องระหว่างเซลล์ การใช้เทคนิคทางชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลในการศึกษาโปรตีนขนส่งต่างๆ ที่ผนังเซลล์ การแสดงออกของโปรตีนเหล่านั้นและกลไกการส่งสัญญาณ (signal transduction) ภายในเซลล์ และการใช้เทคนิค Immunocytochemistry และ Immunohistochemistry ในการศึกษาการกระจายตัวของตัวรับโพรแลคตินหรือโปรตีนขนส่งในเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ตลอดจนเทคนิคทาง Bioinformatics ซึ่งใช้ผลการวิเคราะห์ Microarray บ่งชี้ยีนหรือโปรตีนที่น่าจะเป็นตัวกลไกหลักที่ทำให้เกิดการตอบสนองของเซลล์ ซึ่งสอดคล้องและนำมาอธิบายผลที่พบในร่างกายได้ เป็นต้น
ศ.ดร.นทีทิพย์ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มี Impact Factor กว่า 100 เรื่อง เกือบทั้งหมดเป็นงานที่ทำที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่อย่างไรก็ตาม ยังได้มีความร่วมมือด้านงานวิจัยกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยงานวิจัยสามารถแบ่งออกเป็นงานวิจัยหลัก 3 เรื่อง ได้แก่
1.ผลและกลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูก โดยเฉพาะในแม่ระหว่างตั้งครรภ์และระยะให้นม และการให้แคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกหลังคลอด
จากการศึกษาทั้งในหนูทดลอง ในเนื้อเยื่อซึ่งนำมาเลี้ยงนอกร่างกายและในเซลล์เพาะเลี้ยง ศ.ดร.นทีทิพย์ ได้พบองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญคือ การดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ส่วนต้น แบบแอคทีฟ (ใช้พลังงาน) ATP โดยตรง) ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่การดูดซึมผ่านเซลล์ (transcellular) แบบอาศัยความต่างศักย์ไฟฟ้า (voltage – induced) และแบบไปตามของเหลวที่แพร่ผ่านช่องระหว่างเซลล์ (Solvent drag – induced paracellular transport)
อนึ่ง โพรแลคตินมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมทั้งแบบ transcellular และ solvent drag – induced
โดยออกฤทธิ์ผ่านกลไกการส่งสัญญาณภายในเซลล์ประเภท phosphoinositide 3 kinase,protein kinase C และ Rho A – associated coiled – coiled forming kinase นอกจากนี้โพรแลคตินมีผลกระตุ้นกระบวนการสลาย – สร้างกระดูก (bone remodeling) ต่อมาได้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติมว่า ระดับของโพรแลคตินในเลือดของแม่ที่พุ่งสูงขึ้นขณะลูกกำลังดูดนม มีผลกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ของแม่ที่มีอัตราดูดซึมสูงอยู่แล้วเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งแสดงว่า โพรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่ช่วย ประสานให้อวัยวะเป้าหมายต่างๆ ทำงานสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพื่อให้แม่มีแคลเซียมเพียงพอในกระแสเลือดสำหรับการผลิตน้ำนมเลี้ยงลูก โดยแคลเซียมที่สูญเสียไปจากกระดูกของแม่ภายใต้อิทธิพลของโพรแลคติน จะได้ทดแทนกลืนมาจากแคลเซียมที่ดูดซึมเพิ่มขึ้น ดังนั้นโพรแลคตินจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลแคลเซียมในร่างกาย การศึกษาผลของโพรแลคตินอย่างละเอียดนี้ ทำให้ได้ภาพรวมของบทบาทใหม่ของโพรแลคติน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีศึกษามาก่อนในปี พ.ศ.2553 จึงได้เขียนบทความปริทัศน์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เรื่อง “Is prolactin the cardinal calciotropic hormone in mather?” ในวารสารวิชาการนานาชาติ Trends in Endocrinology and Metabolism (2010) ซึ่งมี Impact factor สูงถึง 7.119 และมีผลงานวิจัยแบบบูรณาการตีพิมพ์หลายเรื่องในวารสารวิชาการที่ถือว่ามีมาตราฐานสูงในสาขาสรีรวิทยา ได้แก่ American Journal of Physiology และ Pfluger Archive – European Journal of Physiology
2.ผลและกลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนไฟโบรบลาส โกรทแฟคเตอร์-23 (Fibrolast Growth Factor-23 หรือ FGF-23) ที่หลั่งจากเซลล์กระดูก ซึ่งคาดว่าเป็นฮอร์โมนสำคัญใน Negative feedback loop ที่ควบคุมสมดุลแคลเซียมฟอทเฟตในร่างกาย
FGF – 23 เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากเซลล์กระดูก osteoblasts และ osteocytes มีผลลดระดับของฟอสเฟทในเลือดเมื่อร่างกายมีฟอสเฟทมากเกินไป โดยลดการดูดซึมฟอสเฟทที่ลำไส้และลดการสังเคราะห์ฮอร์โมน 1,25(OH2) D3 จากวิตามินดี ทำให้ร่างกายเก็บสะสมแคลเซียมและฟอสเฟท เนื่องจากมีรายงานว่าพบตัวรับ FGF -23 และ FGF -23 เองในเซลล์บุผนังลำไส้ และกลุ่มวิจัยของ ศ.ดร.นทีทิพย์ ได้รายงานใน พ.ศ.2555 ว่า FGF -23 สามารถยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมที่กระตุ้นโดย 1,25(OH2) D3 ได้ จึงตั้งสมมุติฐานว่า FGF – 23 น่าจะทำหน้าที่เป็น negative feedback ควบคุมการดูดซึมแคลเซียม โดยเฉพาะที่ถูกกระตุ้นโดย 1,25(OH2) D3
อนึ่ง ในระยะที่แม่ให้นม ศ.ดร.นทีทิพย์และคณะได้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ควบคุมสมดุลแคลเซียม โดยที่โพรแลคตินเป็นฮอร์โมนหลักแทน 1,25(OH2) D3 จึงตั้งสมมุติฐานว่า FGF – 23 น่าจะเป็นตัว negative feedback ที่ต้านผลของโพรแลคตินในการกระตุ้นการดูดซ฿มแคลเซียมและในภาพรวม FGF – 23 ช่วยทำให้ระดับแคลเซียมและฟอสเฟทไม่แกว่งจากต่ำไปสู่ระดับที่สูงเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่พยาธิสภาพต่างๆ ดังนั้นงานวิจัยส่วนหนึ่งก็เพื่อศึกษาผลและกลไก การออกฤทธิ์ FGF – 23 ในการยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมและเมื่อพิสูจน์ว่า FGF – 23 เป็น
negative feedback ที่ระบบการควบคุมสมดุลแคลเซียมและฟอสเฟตในร่างกาย
3.สาเหตุของความผิดปกติของกระดูกในพยาธิสภาพต่างๆ เช่น ในโรคเบาหวาน และโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โดยใช้โอเดลสัตว์ทดลองที่ตัดต่อยีน (transgenic animals)
ภาวะชรา การขาดฮอร์โมนเพศและโรคเบาหวาน เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนทั้งในมนุษย์และสัตว์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้ง 3 ภาวะ เช่น สตรีสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ซี่งจะทำให้โรคกระดูกพรุนรุนแรงมากขึ้น การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนที่เกิดจากปัญหาระดับเซลล์และโมเลกุลที่ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องอาศัยการศึกษาในโมเดลสัตว์ทดลอง เช่น หนูทดลองที่ถูกตัดต่อยีนเพื่อเลียนแบบโรคเบาหวาน หรือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพื่อศึกษาผลการให้วิตามินเสริม แคลเซียมเสริมและการออกกำลังกาย ซึ่งทั้งหมดเป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายสูง และปฏิบัติต่อเนื่องได้ ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองก็จะสามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยต่อไป
ส่วนการศึกษาในหนูทดลองที่มีการตัดต่อยีน้พื่อเลียนแบบโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียก็เช่นกัน สามารถทำการศึกษาลงลึกในรายละเอียดระดับเซลล์ และโปรตีนขนส่งแคลเซียมต่างๆ ได้ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของกระดูกทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ ตลอดจนทดสอบวิธีป้องกันเช่นที่ใช้ศึกษาในโรคเบาหวาน องค์ความรู้ที่ได้จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วย เนื่องจากประชากรไทยที่เป็นโรคโลหิตจากธาลัสซีเมียมีสูงถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด
การวิจัยเกี่ยวกับพยาธิสภาพของกระดูกนี้ได้ขยายต่อไปยังการวิจัยประยุกต์ ร่วมกับนักวิจัยฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์เพื่อสังเคราะห์กระดูกเทียม และในเบื้องต้นจะทดสอบการใช้งานในสัตว์ทดลองก่อน แล้วจึงขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยต่อไป
ด้านการพัฒนาบุคลากร
ศ.ดร.นทีทิพย์ ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาบัณฑิตจนจบปริญญาเอกไปแล้วจำนวน 12 คน ปริญญาโท 19 คน และยังมีนักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังศึกษาศึกษาอยู่ 3 คน ปริญญาโท 2 คนและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมให้นักศึกษามากกว่า 20 คน ลูกศิษย์ที่จบไปหลายคน เป็นนักวิจัย และอาจารย์ที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการจนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.ดร.จงกลณี วัฒนาเพิ่มพูน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาสรัรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้ที่ได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัล เช่น รางวัลนักวิทยาศษสตร์รุ่นใหม่ที่ 2551 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. – สกอ. 2551 และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย 2553) บางคนก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น คุณสุนทรี จรรโลงบุตร เจ้าของบริษัท Techno Medical Co.,Ltd ศ.ดร.นทีทิพย์ เป็นครูที่มีความรักความเมตตาให้แก่ลูกศิษย์ การจัดงานพบปะสังสรรค์ระหว่างลูกศิษย์เก่าและปัจจุบันพรอมครอวครัวมากกว่า 40 คน ที่จัดทุกปีมากว่า 25 ปี ทำให้เกิดเครือข่ายพี่น้องนักสรีรวิทยาที่อบอุ่น เป็นมิตรและเป็นแหลางหางานของนักศึกษาจบใหม่ไปในตัว นอกจากนั้น ศ.ดร.นทีทิพย์ ยังทำหน้าที่เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ และให้คำปรึกษาเรื่องงานงานวิจัยการเรียนการสอน การขอตำแหน่งวิชาการ และได้พยายามเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นอาจารย์นักวิจัยที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ และถ่ายทอดทั้งความรู้และประสบการณ์ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป
กิตติกรรมประกาศ
ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณ มูลนิธโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศสำหรับ “รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร ประเทศไทย” ครั้งที่ 20 ประจำปี 2556 และขอขอบพระคุณคณะกรรมการมูลนิธิโทเรฯ ที่ให้ความสำคัญกับสาขาวิชาสรีรวิทยาซึ่งเป็นวิทยาศษสตร์สุขภาพพื้นฐานวิชาการหนึ่ง โดยเฉพาะที่ท่านได้เห็นความสำคัญของการวิจัยเพื่อองค์ความรู้ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้ผลงานประดิษฐ์ที่ใช้ในประโยชน์ได้เป็นรูปธรรมทันที แต่งานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในร่างกาย และกลไกในระดับเซลล์ ทั้งนี้องค์ความรู้เหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจพยาธิสภาพและการเกิดโรค และในที่สุดจะนำไปสู่วิธีการป้องกัน และการค้นคว้ายาหรือวิธีการรักษาใหม่ๆ
ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ผู้ที่นำพาให้ข้าพเจ้ามาเริ่มชีวิตการทำงานและเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบพระคุณ mentor ของข้าพเจ้า ศ.เกียรติคุณ ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก และยังเป็นผู้ฝึกสอน วิธีคิดวิธีทำงานวิจัย ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ปลูกฝังให้ข้าพเจ้ารักการวิจัยค้นคว้า ขอขอบพระคุณผู้บริหารจากคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดลในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ที่ให้การสนับสนุนทั้งด้านงานวิชาการ และโอกาสเรียนรู้งานบริหาร ขอบคุณคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้ร่วมงานและลูกศิษย์ในภาควิชาสรีวิทยาและหน่วยวิจัยแคลเซียมและกระดูก (COCAB) โดยเฉพาะ ศ.ดร.นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์ ตลอดจนศูนย์ทดลองแห่งชาติและหน่วยสัตว์ทดลองที่คณะวิทยาศาสตร์ ที่เป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของข้าพเจ้า ขอขอบพระคุณแหล่งทุนต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เป็นงันไดหลักให้ข้าพเจ้าได้ไต่มาทีละขั้นๆ และศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ (BIOTEC) ที่สนับสนุนตลอดมา และขอบพระคุณบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) และสำนักงาน UNESCO ประจำประเทศไทย ที่มอบรางวัลสตรีนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้ทำงานต่อไป สุดท้ายขอขอบพระคุณ คุณพ่อ คุณแม่ ที่ล่วงลับไปแล้วที่ได้ให้ความรัก ความอบอุ่น และการศึกษาที่ดีที่สุด พี่และน้องชายที่เป็นกำลังใจเสมอ และครอบครัวที่น่ารักซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นคนโชคดีเหลือเกิน |