logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. ยงค์วิมล เลณบุรี
(Professor Dr. Yongwimon Lenbury)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ี ประจำปีพุทธศักราช 2550

คำประกาศเกียรติคุณ

ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร. ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นผู้มีผลงานดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ โดยเป็นผู้หนึ่งซึ่งบุกเบิก ในการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ศึกษาระบบต่างๆ ทางชีววิทยาการแพทย์ และนิเวศวิทยา โดยมีความเชี่ยวชาญทางการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาระบบไม่เชิงเส้นการวิเคราะห์ และแปลผล ให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับระบบที่ศึกษา ตอบปัญหาอันเป็นที่กังขา ของผู้ดำเนินการในการควบคุม ดูแล หรือรักษาโรค โดยที่งานวิจัยในด้านนี้ ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ เข้าไปประยุกต์ใช้ในทางชีวการแพทย์ เพิ่งมีผู้สนใจเข้ามาดำเนินการในระยะไม่นานมานี้ จนเกิดเป็นการวิจัยทางด้าน Biomathematics และ System Biology ในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล จึงถือว่าเป็นผู้ที่ทำงานวิจัยในหัวข้อที่บุกเบิกล้ำหน้ามาโดยตลอด

ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ได้นำทฤษฎีเกี่ยวกับระบบไม่เชิงเส้นเข้าไปใช้ในการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การหลั่งฮอร์โมนหลากหลายชนิด ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้เกี่ยวโยงกับอาการป่วยเป็นโรคสำคัญต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคทางการผิดปกติของการเจริญเติบโตของร่างกาย โรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน มะเร็ง โรคเส้นเลือดสู่หัวใจอุดตัน เป็นต้น ซึ่งผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองสามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

การที่ต้องนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในด้านชีวการแพทย์จำเป็นต้องใช้เวลามาก เพื่อศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจเป็นอย่างดีเสียก่อน เกี่ยวกับระบบที่จะนำคณิตศาสตร์เข้าไปวิเคราะห์ ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในงานวิจัยมาก ซึ่งในระยะแรก (จนกระทั่งในปัจจุบัน) ยังมีผู้ไม่เชื่อถืออีกมากว่า คณิตศาสตร์จะสามารถช่วยทางด้านชีววิทยาได้อย่างไร ทำให้เป็นการยากที่งานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์ เพราะมักจะต้องการเห็นหลักฐานทางคลินิก และคำอธิบายโต้เถียงอย่างเข้มข้น น่าเชื่อถือ กว่าจะเป็นที่ยอมรับ

เนื่องจากระบบที่สำคัญในการดำรงชีวิตหลายๆ ระบบที่ต้องการศึกษา อาจมีความซับซ้อนมาก หรือมีขนาดเล็กมากๆ (ระดับนาโน) ไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตา จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิค ทางการสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์ เพื่อจำลองระบบนั้นๆ ให้เกิดความเข้าใจการทำงานของระบบนั้นๆ ได้ดีขึ้น และเพิ่มความสามารถในการควบคุม และพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้ล่วงหน้า เช่น การควบคุมระดับกลูโคสในกระแสเลือด โดยอินซูลินของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สามารถช่วยให้แพทย์คาดการณ์ได้ว่า การให้อาหารผู้ป่วย ร่วมกับการฉีดอินซูลิน จะมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้น เปลี่ยนแปลงอย่างสับสน หรือสามารถควบคุมได้โดยวิธีใด นอกจากนั้นการที่มีความหน่วงเวลา ในปฏิกิริยาของอินซูลินต่อระดับน้ำตาล จะเป็นผลอย่างไร ต่อความพยายามของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

งานวิจัยเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนช่วยให้คาดการณ์ได้ว่า การใช้เอสโตรเจนในลักษณะต่างๆ แก่ผู้สูงวัยเพื่อชะลออาการของโรคกระดูกพรุน จะมีประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด ระหว่างการหยุดให้้ฮอร์โมนเป็นช่วงๆ กับการให้ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งได้ ซึ่งในส่วนของการเกิดมะเร็ง อันเกี่ยวกับการผิดปกติบางประการในการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์มีชีวิต ที่ตอบสนองต่อการหลั่งฮอร์โมนซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณนั้น ทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ก็ยังได้ศึกษาวิจัยโดยการสร้างและวิเคราะห์แบบจำลอง ของการส่งสัญญาณของเซลล์ จนมีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเช่นกัน

ทั้งนี้ในระดับนานาชาติ งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ได้รับการอ้างอิงมากจนมีผู้นำงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ไปใช้เป็นบทเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และอ้างอิงในหนังสือเรียน ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมนานาชาติหลายครั้ง ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และยุโรป เป็นต้น เป็นกรรมการวิชาการของการประชุมนานาชาติ เช่น การประชุมด้าน Applicable Harmonic Analysis ณ เมือง Beijing ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี ค.ศ. 2006 และด้าน Molecular Systems Biology ณ เมือง Quezon City ประเทศฟิลิปปินส์ ปี ค.ศ. 2008 และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้อยู่ใน Top 25 hottest articles (ในวารสาร) ที่ได้รับการ download ไปอ่านทาง internet เป็นจำนวนมากที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล ยังเป็นผู้ที่มีลักษณะสมานฉันท์ ให้ความช่วยเหลือผลักดันนักวิจัยรุ่นหลัง โดยไม่กีดกั้นแต่เฉพาะในสถาบันที่งานสังกัด โดยศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เป็นผู้สร้างทีมและหัวข้อวิจัยใหม่ๆ ได้หลายโครงการที่เป็นลักษณะสหวิทยาการ ใช้ความเชี่ยวชาญของบุคคลจากหลายสาขา และหลายสถาบันมาร่วมมือกันทำงานวิจัย จนกระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียง ติดต่อมาขอร่วมงานวิจัยด้วย จึงถือว่า ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล อยู่ในกลุ่มของผู้บุกเบิกให้การใช้เทคนิคทาง dynamical modelling จนเป็นที่ยอมรับว่าสามารถมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในทางชีวการแพทย์

ด้วยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์ ประจำปีพุทธศักราช 2550


จากหนังสือ :

รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2550 : ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ ธรรมพงษา
ศาสตราจารย์ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550. ISBN 978-974-229-268-3

ภาพจากงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร