logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
(Professor Dr. M.R. Jisnuson Svasti)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2545

คำประกาศเกียรติคุณ

 

ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่นสาขาวิชาเคมี เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกงานด้านการศึกษาโครงสร้าง ส่วนประกอบ และหน้าที่การทำงานของโปรตีนต่างๆ ในประเทศไทย โดยได้ทำงานวิจัยด้านนี้ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นเทคนิค วิธีวิจัยต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างความรู้ และประยุกต์ใช้โปรตีนในด้านต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ เกษตร อุตสาหกรรมและการแพทย์ จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

 

เนื่องจากโปรตีนเป็นสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต โดยเป็นสารที่ แสดงออกของยีนส์ในโครโมโซม เป็นสารที่ทำงานต่างๆ ในเซลล์ และเป็นสารที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเซลล์ต่างๆ ดังนั้นการเข้าใจถึงโครงสร้างคุณสมบัติ และหน้าที่การทำงานของโปรตีน จึงมีความจำเป็นเพื่อที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับ กระบวนการต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต ทั้งในภาวะปกติและภาวะผิดปกติในปริมาณ หรือคุณภาพของโปรตีนอาจทำให้เกิดโรคได้

ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ศึกษาโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีนระบบต่างๆ เช่น โปรตีนในเลือด โปรตีนในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย โปรตีนผิดปกติในโรคต่างๆ และเอนไซม์จากพืช โปรตีนแรกที่ทำการศึกษา ได้แก่ โปรตีนอิมมูโกลบูลิน ซึ่งเป็นโปรตีนในเลือดที่มีความสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนของโมเลกุลที่คงที่ และทำหน้าที่ส่วนรวมได้ กับส่วนที่เปลี่ยนแปลงทำหน้าที่ให้ความจำเพาะ ในการจับสาร นอกจากนี้ได้ศึกษาโครงสร้างของ โปรตีนขนส่งไวตามินดีในเลือด เพื่อเข้าใจถึงสาเหตุที่โปรตีนมีความหลากหลาย รวมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงในโครงรูปของโปรตีน เมื่ออนุพันธุ์ของไวตามินดีเข้าไปจับ ซึ่งน่าจะมีความสำคัญในการทำงานของโปรตีน

 

การศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ ที่มีความจำเพาะต่อระบบสืบพันธุ์ในเพศชาย ช่วยให้เข้าในว่าโปรตีนแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันอย่างไร จากโปรตีนชนิดเดียวกันที่พบในเนื้อเยื่ออื่น ซึ่งเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสืบพันธุ์ในเพศชาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนายาคุมกำเนิด สำหรับเพศชายต่อไป

 

ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ค้นพบฮีโมโกลบินผิดปกติหลายตัว ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งโปรตีนฮีโมโกลบินนี้เป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย โรคของฮีโมโกลบินมี 2 ชนิดคือ ธาลัสซีเมีย เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์สายเปปไทด์ของฮีโมโกลบินน้อย หรือไม่มีเลย และโรคฮีโมโกลบินที่เกิดจากการผ่าเหล่า ทำให้โปรตีนมีโครงสร้างผิดปกติ ห้องปฏิบัติการของ ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ สามารถศึกษาโครงสร้างผิดปกติ ของฮีโมโกลบินได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ทำให้สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของฮีโมโกลบิน ที่ผิดปกติได้ถึง 10 ตัว จาก 25 ตัว ที่เคยพบในประเทศไทย ซึ่งมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค และการนำไปประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษาแนะนำ แก่ผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร เป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคเลือดได้ด้วย

 

งานวิจัยเรื่องสุดท้าย เป็นการค้นพบโปรตีนที่ทำหน้าที่ย่อยสารคาร์โบไฮเดรต ในพืชพื้นเมืองไทย ได้แก่ เอสไซม์ชนิดไกลโคซิเดส เช่น จากต้นพะยูง ปอแก้ว ถ่อน เป็นต้น เอนไซม์เหล่านี้เป็นเอนไซม์ที่สามารถนำมาใช้สังเคราะห์สารคาร์โบไฮเดรต ที่มีลักษณะตามต้องการได้โดยย้อนปฏิกิริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ศึกษาเอนไซม์เบต้ากลูโคซิเดส จากต้นพะยูงอย่างละเอียด ตั้งแต่การแยกให้บริสุทธิ์ ศึกษาคุณสมบัติการเร่งปฏิกิริยา การโคลนดีเอ็นเอและแสดงออก การศึกษาโครงสร้าง และการนำไปใช้สังเคราะห์สารคาร์โบไฮเดรตจำเพาะต่างๆ นอกจากนี้ได้เริ่มศึกษาเอนไซม์กลูโคซิเดสจากพืชอื่น เช่น มันสำปรหลัง และมะเขือพวงด้วย เพื่อให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง และการทำงานของเอนไซม์เบต้ากลูโคซิเดส และเพื่อมองแนวทางที่จะประยุกต์ใช้เอนไซม์เหล่านี้ ในการสังเคราะห์สารคาร์โบไฮเดรต และใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาความแตกต่างของเอนไซม์กลุ่มนี้

งานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนที่ทำทั้งหมด ได้อาศัยเทคนิคหลายชนิด ซึ่งต้องพัฒนาให้สามารถทำได้ในประเทศไทย บางเทคนิคต้องมีการดัดแปลง และประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยได้พัฒนาห้องปฏิบัติการชัวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ในการศึกษาโครงสร้างปฐมภูมิของโปรตีน โดยสามารถวิเคราะห์ปริมาณกรดอะมิโน แยกเปปไทด์หาลำดับของโปรตีน และแยกโปรตีน ด้วยอิเล็กโตรฟอรีซีสในสองมิติ นอกจากนี้ ศ. ดร. ม.ร.ว. วิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ยังได้เคยใช้เทคนิคต่างๆ ในการศึกษาโครงสร้างรูปของโปรตีน เช่น การเรืองแสง และซีดีสเปคโตรสโคปี เป็นต้น และสุดท้ายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะติดตั้งเครื่องศึกษาผลึกของโปรตีนด้วยรังสีเอ็กซ์ เพื่อศึกษาโครงสร้างในสามมิติของโปรตีน ซึ่งจะทำให้สามารถศึกษาโปรตีนต่างๆ ที่มีความสำคัญสำหรับคนไทย และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเข้าใจ กลไกการทำงานของโปรตีนต่างๆ ตลอดจนทำให้สามารถออกแบบตัวต่อต้าน หรือยับยั้งการทำงานของโปรตีนต่างๆ ที่อาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต

 

ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ไม่เพียงแต่ทำงานวิจัยทางด้านโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน มาอย่างต่อเนื่องแต่ยังมีความสนใจทางด้านชีวเคมีศึกษา และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางด้านชีวเคมีศึกษา ลงในวารสารนานาชาติหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจสนับสนุนงานวิจัยในประเทศไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่องมาตลอดชีวิตการทำงานของท่าน โดยร่วมกิจกรรมของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะบรรณาธิการวารสารวิจัยฉบับภาษาอังกฤษ 2 สมัย และประธานสาขาเคมี

 

สุดท้าย ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้ทุ่มเวลากับการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยรับหน้าที่ต่างๆ ในองค์กรนานาชาติ เช่น President of thd Federation of Asian and Oceanian Biochemists, Symposium Commitee of the International Union of Biochemistry and Molecular Biology และ Membership Commitee for Biochemistry and Biophysics, Third World Academy of Science

 

ด้วยผลงานดีเด่นที่เป็นรูปธรรมทั้งด้านงานสอน งานวิชาการ งานวิจัยและประดิษฐ์คิดค้น เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม สมควรเป็นแบบอย่าง คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปี พุทธศักราช 2545

 


จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๕ : ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทัศน์ ฟู่เจริญ
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2545. ISBN 974-229-301-5